ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

กรมศิลป์ ตั้ง คกก.หาทางออกปมแนวเขตมรดกโลก "เมืองโบราณศรีเทพ"

สังคม
20 ก.ย. 66
12:52
1,786
Logo Thai PBS
กรมศิลป์ ตั้ง คกก.หาทางออกปมแนวเขตมรดกโลก "เมืองโบราณศรีเทพ"
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
อธิบดีกรมศิลปากร เผยเตรียมตั้งคณะกรรมการหาทางออกปมแนวเขตมรดกโลก "เมืองโบราณศรีเทพ" จ.เพชรบูรณ์ เพื่อเจรจาจ่ายชดเชย-ขอซื้อที่ดินชาวบ้าน ยืนยันไม่มีลิดรอนสิทธิ และผลต้องเป็นที่พอใจทุกฝ่าย คาดเร็วสุด 6 เดือน
ไม่ต้องกังวล ทางออกของเรื่องนี้คือจะไม่ยึด ไม่รอนสิทธิ แต่จะตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเจรจา ท้ายสุดจะซื้อที่ดิน หรือจ่ายค่าตอบแทน ซึ่งเป็นที่พึงพอใจของทุกฝ่าย และทำให้แหล่งมรดกโลกศรีเทพเป็นไปตามเกณฑ์ของยูเนสโก คนกับโบราณสถานจะอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข

นายพนมบุตร จันทรโชติ อธิบดีกรมศิลปากร ให้คำมั่นในการบริหารจัดการมรดกโลก "เมืองโบราณศรีเทพ" โดยจะตั้งคณะกรรมการเพื่อหาทางออกในเรื่องนี้ ด้วยหลักการเจรจาเพื่อชดเชย หรือขอซื้อที่ดินของชาวบ้านในเขต Core Zone หรือพื้นที่อนุรักษ์เข้มข้น เพื่อไม่ให้ชาวบ้านเดือดร้อน

นายพนมบุตร กล่าวว่า หลังจากประกาศขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมแล้ว ภารกิจหรือหน้าที่ไม่ได้สิ้นสุดตรงนี้ กระบวนการต่อไปจะนำไปสู่การเจรจาในเรื่องของพื้นที่ ซึ่งมีกรอบเป้าหมายชัดเจนว่าจะทำให้แล้วเสร็จเร็วที่สุด ประมาณ 6 เดือน-1 ปี เพื่อตั้งงบประมาณในการชดเชยที่ดินตามระเบียบของราชการต่อไป ซึ่งเน้นย้ำว่าความตกลงต้องเป็นที่พอใจของทั้ง 2 ฝ่าย ถูกระเบียบ และเป็นไปตามกฎเกณฑ์

อธิบดีกรมศิลปากร เชื่อว่า ภายหลังการประกาศขึ้นทะเบียนมรดกโลก ชาวบ้านจะมีชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น และมีรายเพิ่มขึ้นจากการเป็นแหล่งท่องเที่ยว โดยจะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาชมความแหล่งประวัติศาสตร์ และเกิดการจับจ่ายใช้สอย เช่นเดียวกับในพื้นที่ จ.สุโขทัย ที่ก่อนมีการประกาศอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยเป็นมรดก พื้นที่ดังกล่าวก็ค่อนข้างเงียบเหงา แต่ขณะนี้กลายเป็นจังหวัดที่มีโรงแรมและรีสอร์ทจำนวนมาก รวมทั้งมีอุตสาหกรรม และงานหัตถกรรมท้องถิ่น สร้างรายได้ชุมชน

ท้ายที่สุดจะเป็นความตกลงกัน เพื่อให้แหล่งมรดกโลกศรีเทพสง่างาม ชาวบ้านไม่ได้รับผลกระทบ

นายพนมบุตร กล่าวว่า พี่น้องชาวศรีเทพเป็นเจ้าของมรดกนี้อย่างแท้จริง มองว่าจะเป็นความเปลี่ยนแปลงในเชิงบวก คงไม่ได้มีการเก็งกำไร หรือซื้อที่ดินเปลี่ยนมือ เพื่อรอให้ที่ดินมีมูลค่าเพิ่มหลังจากประกาศเป็นมรดกโลกแล้ว เพราะจากนี้จะดำเนินการตามแผน หรือตามเกณฑ์ของยูเนสโก โดยมีขั้นตอนว่าจะพัฒนาไปทิศทางใดและสร้างอะไรได้บ้าง แต่เชื่อว่า วิถีชีวิตชาวบ้านและวิถีชุมชนจะยังคงอยู่

สำหรับ "แผนที่" ที่เสนอคณะกรรมการมรดกโลก แบ่งเป็น สีแดง คือ Core Zone หรือพื้นที่อนุรักษ์เข้มข้น, สีฟ้า คือ Buffer Zone ซึ่งมีความยืดหยุ่นมากกว่า เช่น ก่อสร้างอาคารเพิ่มได้ตามแบบที่อนุญาต แต่ต้องไม่ขัดกับแผนอนุรักษ์

คำตัดสินของคณะกรรมการมรดกโลก มีรายละเอียดที่น่าสนใจ คือ ไม่มีผู้ใดเปลี่ยนแปลง "ร่างคำตัดสิน" ที่สภาการโบราณสถานระหว่างประเทศ หรือ ICOMOS เสนอมา

แสดงว่าคณะกรรมการฯ เห็นด้วยกับข้อแนะนำที่ไทยต้องทำแผนพัฒนาพื้นที่อนุรักษ์-เมืองโบราณศรีเทพ ให้สมบูรณ์ ต้องออกแบบแผนและกลยุทธ์ด้านการมีส่วนร่วมของชุมชน ที่ครอบคลุม โปร่งใส และต่อเนื่อง รวมทั้งต้องทำให้แน่ใจได้ว่าชุมชนได้รับคำอธิบายที่ชัดเจนถึง "ขอบเขต" พื้นที่มรดกโลก เพราะการมีส่วนร่วมของชุมชนคือหัวใจสำคัญในการอนุรักษ์ รวมถึงห้ามขุดเจาะบ่อน้ำมันแหล่งศรีเทพ ในพื้นที่ Core Zone และ Buffer Zone

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

เส้นทาง "ศรีเทพ" สู่มรดกโลกทางวัฒนธรรมแห่งที่ 4 ของไทย 

นาทีประวัติศาสตร์ ประกาศขึ้นทะเบียน "เมืองโบราณศรีเทพ" เป็นมรดกโลก 

ชาวบ้านหวั่น “ศรีเทพ” ขึ้นมรดกโลก กระทบใช้ประโยชน์ที่ดิน 

ภาพประวัติศาสตร์ 5 ปี บูรณะ "เขาคลังนอก" ก่อนเป็นมรดกโลก

สารคดี "รากสุวรรณภูมิ ซีซัน 2" ตอน "ศรีเทพ" รัฐแรกเริ่ม หรือ ดินแดนศักดิ์สิทธิ์โบราณ Si Thep : The primary state or the ancient sacred land : www.thaipbs.or.th/program/RakSuvarnabhumi/episodes/95633

ข่าวที่เกี่ยวข้อง