วันนี้ (20 ก.ย.2566) นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1 ชี้แจงรายละเอียดงบประมาณ โครงการศึกษาดูงาน ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ รัฐสภาที่ประเทศสิงคโปร์ ในระหว่างวันที่ 21-24 ก.ย.นี้ ว่าการตั้งงบประมาณ กว่า 1,300,000 บาท เป็นการตั้งงบประมาณ ตามสิทธิที่พึงจะได้รับ ที่กำหนดไว้ในระเบียบของกระทรวงการคลัง
อ่านข่าว : “หมออ๋อง” เบิก 1.3 ล้านพา สส.ก้าวไกล เยือนสิงคโปร์ 21-25 ก.ย.
แต่เมื่อมีการจองตั๋วเครื่องบินและที่พัก ในราคาจริง ก็มีการลดราคาลงมา อย่างเช่นค่าตั๋วเครื่องบิน ที่สามารถเบิกได้ถึง 50,000 บาท แต่ที่จ่ายจริง เพียง 28,000 บาท
สำหรับที่พัก เบิกได้ 12,500 บาท ต่อคืน แต่ที่จ่ายจริงคืนละ 9,000 บาท เช่นเดียวกับงบประมาณรับรองที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่ามากจนเกินไป ซึ่งได้พิจารณาแล้ว เช่นหากอาหารบางมื้อ มีเจ้าภาพเลี้ยงรับรอง ก็จะจ่ายเบี้ยเลี้ยง ตามจำนวนที่ใช้เท่านั้น หรือที่มีการนัดหมายจะพบแรงงานไทยในสิงคโปร์ก็จะใช้งบประมาณส่วนนี้ ในการดูแล แรงงานกลุ่มนั้นด้วย
นายปดิพัทธ์ ยืนยันว่าพร้อมแสดงใบเสร็จรับเงินการใช้จ่ายอย่างละเอียด เหลือเท่าไหร่ก็จะส่งคืนคลังทั้งสิ้น ส่วน สส. ที่เดินทางร่วมคณะไปด้วย เดิมทีมีความตั้งใจว่าจะพาคณะกรรมาธิการกิจการสภาผู้แทนราษฎรไปศึกษาดูงานดังกล่าว แต่เมื่อยังไม่มีกรรมาธิการ จึงได้คัดเลือกจากผู้ที่แสดงความจำนง ที่จะขอทำงานด้านกิจการสภา และเมื่อยังไม่มีฝ่ายค้าน จึงได้คัดเลือกจากพรรคการเมือง และมีชื่อตามที่ปรากฏ บางคนมีความเชี่ยวชาญ และมีความสนใจงานด้านสารสนเทศของรัฐสภา
และเหตุที่เดินทางไปวันหยุด เนื่องจากวันปกติ ต้องปฏิบัติราชการ ติดต่อดูงาน ในรัฐสภาสิงคโปร์ จะเข้าไปวันศุกร์ และ วันจันทร์ ส่วนวัน เสาร์-อาทิตย์ ก็จะไปดูมาตรการ หรือ กฎหมาย อื่นๆ เช่น กฎหมายสิ่งแวดล้อม กฎหมายยานยนต์ เป็นต้น ยืนยัน โครงการมีรายละเอียด การดูงานและผลลัพธ์กับงานที่ไป
ส่วนที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ว่าเร่งใช้จ่ายงบประมาณเพื่อเป็นการเคลียร์งบและล้างท่องบประมาณนั้น นายปดิพัทธ์ระบุว่าตอนนี้มีงบประมาณเหลืออีกมากหากใช้จ่ายเพียงเท่านี้คงไม่ใช่ ว่าเป็นการล้างท่อ หากต้องการล้างท่อจริงๆ คงใช้จ่ายมากกว่านี้หรือไปประเทศอื่น ย้ำไม่ได้ไปเที่ยวหรือไปทัวร์ หรือไปดูแสงเหนือ และงานนี้ เตรียมไว้ นานแล้ว
ส่วนกรณี ที่นางอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล ที่ปรึกษารองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่หนึ่ง ถูกร้องเรียนว่า มีพฤติกรรมคุกคาม นายปดิพัทธ์ กล่าวว่าจากการตรวจสอบจากข่าวพบว่าเป็นพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม แต่ นางอมรัตน์ ไม่ได้เป็น สส. สภาจึงตรวจสอบไม่ได้ แต่ในส่วนของพรรคก้าวไกล เชื่อว่ามีกระบวนการทางจริยธรรม ในการตรวจสอบแต่สิ่งที่ต้องทำก่อนคือการพูดคุย ต่อหน้ากันไม่ใช่เพียงแค่โทรศัพท์ ต้องสืบสวนข้อเท็จจริง จากทุกฝ่าย และหากพบว่าผิดจริง พร้อมจะปลดออกจากตำแหน่งที่ปรึกษา ทันที
ส่วนกรณีตำแหน่ง รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 1 กับผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร นายปดิพัทธ์ มองว่าเรื่องนี้ยังมีเวลาพิจารณา ความสำคัญไม่ได้อยู่ที่ว่าตำแหน่งไหน แต่ขึ้นอยู่กับกรรมการบริหารพรรคก้าวไกล ชุดใหม่จะพิจารณา ว่าจะดำเนินการอย่างไร