การสืบสวนสอบสวนในคดีของนายประวีณ จันทร์คล้าย หรือกำนันนก มีการขยายผลตรวจสอบการประกอบธุรกิจรับเหมาก่อสร้างในพื้นที่ โดยอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ มีคำสั่งให้ทำการสืบสวนตามกฎหมาย และให้กองคดีความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ (กคร.) เป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบ
วันนี้ (13 ก.ย.2566) ร.ต.อ.สุรวุฒิ รังไสย์ ผอ.กองคดีความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) กล่าวว่า กำนันนก มีธุรกิจในเครือข่ายหลายธุรกิจที่เข้าเสนอและรับงานจากหน่วยงานของรัฐหลายกระทรวงในพื้นที่หลายจังหวัด โดยประกอบธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง ผลิต และจำหน่ายยางแอสฟัลท์ติกคอนกรีต ก่อสร้างอาคารที่ไม่ใช่ที่พักอาศัย มีมูลค่าหลายพันล้านบาท
จากตรวจสอบ พบว่า เครือข่ายกำนันนก มีเครือข่ายธุรกิจที่เข้าไปรับงานจัดซื้อจัดจ้าง จากหน่วยงานภาครัฐตั้งแต่ปี พ.ศ.2554 ถึงปัจจุบันรวม 1,544 โครงการ ในวงเงินงบประมาณ 7,579,402,078 บาท และวงเงินทำสัญญารวม 6,964,815,249 บาท แบ่งเป็น 2 บริษัท คือ บริษัท ป.พัฒนารุ่งโรจน์ ก่อสร้าง จำกัด เข้ารับงาน 923 โครงการ ในจำนวนนี้มีโครงการที่มีมูลค่าโครงการเกิน 30 ล้านบาท จำนวน 18 โครงการ
ขณะที่บริษัท ป.รวีกนก ก่อสร้าง จำกัด เข้ารับงาน 621 โครงการ ในจำนวนนี้ มีมูลค่าโครงการที่เกิน 30 ล้านบาท จำนวน 2 โครงการ รวมเป็น 20 โครงการด้วยกัน
จะทำทั้งหมด 20 โครงการ นำร่อง 2 โครงการแรกก่อน สัปดาห์หน้าจะรับเป็นคดีพิเศษได้
ร.ต.อ.สุรวุฒิ ระบุว่า ในจำนวน 20 โครงการนี้ พบข้อมูลที่มีเหตุอันควรสงสงสัยจะมีการได้เข้าทำสัญญากับภาครัฐโดยไม่โปร่งใส มีลักษณะเข้าข่ายตกลงร่วมกันในการเสนอราคาเพื่อมีวัตถุประสงค์เข้าทำสัญญากับรัฐโดยหลีกเลี่ยงการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม หรือโดยกีดกันไม่ให้มีการเสนอราคาอันมิใช่เป็นการประกอบธุรกิจปกติ ประกอบไปด้วย
- โครงการประกวดราคาจ้างเหมาทำการก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 375 สาย อ.ดอนตูม - ต.ลำลูกบัว โดยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) (เลขที่โครงการ : 59086265559) งบประมาณ 300,000,000 บาท
- โครงการประกวดราคาจ้างก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 375 สาย ต.ลำลูกบัว - บรรจบทางหลวงหมายเลข 346 ด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) งบประมาณ 350,000,000 บาท
ทั้ง 2 โครงการใกล้เคียงกัน คนได้งานเป็นกลุ่มเดียวกัน คนที่มาซื้อซองจำนวนมากก็เป็นกลุ่มใกล้เคียงกัน หนึ่งในผู้ซื้อซองอาจจะได้รับผลประโยชน์
ร.ต.อ.สุรวุฒิ กล่าวว่า วิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) เป็นวิธีการที่มีรูปแบบประกวดราคาที่ปลอดภัยที่สุด แต่ยอมรับว่ายังมีช่องว่าง เนื่องจากพบว่ามีข้อมูลของกลุ่มบริษัทยื่นซองรั่วไหลออกไปสู่บุคคลภายนอก เบื้องต้นสันนิษฐานว่า อาจจะเป็นบุคคลภายในที่นำข้อมูลออกไปเผยแพร่ให้กับบริษัทรับเหมา
อ่านรายงานพิเศษ
- ปมกังขา บริษัท “กำนันนก” ประมูล 2 โครงการสร้างถนนนครปฐม
- สืบขุมทรัพย์ “บริษัทกำนันนก” 7 องค์กรรัฐ ใช้บริการ
- ผ่าขบวนการ “ฮั้วประมูล” บ้านไหนใหญ่ ใครเบื้องหลัง
นอกจากนี้ ได้ตั้งข้อสังเกตถึงการเข้าถึงโครงการรับเหมาก่อสร้างของภาครัฐจำนวนมาก ด้วยว่าอาจจะมีนักการเมืองท้องถิ่น หรือผู้มีอิทธิพลอื่น ที่อยู่เบื้องหลังคอยให้การสนับสนุนเสนองานให้โดยเฉพาะเจาะจง ซึ่งจะพยายามสืบสวนขยายผลให้ครอบคลุมไปให้ลึกที่สุด เพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริง
ขณะที่การสอบสวนพยาน กำหนดเรียกเข้าให้ข้อมูลในสัปดาห์หน้าช่วงวันจันทร์-พุธ โดยเป็นกลุ่มบริษัทรับเหมาก่อสร้างที่เคยยื่นซองแข่งขันประกวดราคา เพื่อรับงานในโครงการของรัฐตั้งแต่ปี 2554 จนถึงปัจจุบัน พบว่า มี 65 บริษัท และยังได้รับเบาะแสจากบางบริษัท แจ้งข้อมูลด้วยว่า เคยถูกข่มขู่เพื่อกีดกันไม่ให้เข้าร่วมยื่นซองประมูลรับงานด้วย หากการสอบสวนพบว่าความจริงก็เป็นการกระทำที่เข้าข่ายมีความผิดด้วย
ส่วนตัวผู้ถือหุ้น, กรรมการใน 2 บริษัท ยังไม่จำเป็นต้องเรียกมาสอบสวน ซึ่งภายหลังสอบสวนพยานครบถ้วนแล้วพบว่า มีความผิดชัดเจน ก็จะเป็นการออกหมายเรียกให้เข้ารับทราบข้อกล่าวหาตามขั้นตอน
สำหรับโทษของเจ้าหน้าที่รัฐที่กระทำผิดในคดีฮั้วประมูล โทษสูงสุดคือ จำคุกตลอดชีวิต ส่วนประชาชนทั่วไป อยู่ที่พฤติกรรมอย่างกรณีข่มขู่บริษัทอื่น เพื่อกีดกันไม่ให้ร่วมแข่งประมูล มีโทษจำสูงสุด 10 ปี
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
“ดีเอสไอ” จ่อสอบ 2 โครงการสร้างถนนบริษัท “กำนันนก” จับตาฮั้วประมูลหรือไม่