วันนี้ (13 ก.ย.2566) นายวิษณุ กุมภาว์ หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูวัว รายงานว่าเมื่อเช้าวันที่ 12 ก.ย.2566 เวลา 07.00 น. ได้รับแจ้งจากชาวบ้านเทพมีชัย ว่า มีโขลงช้างป่าออกนอกพื้นที่ป่าอนุรักษ์ และพบลูกช้างป่าพลัดหลงโขลง บริเวณริมป่านาตู้ดำ บ้านเทพมีชัย ต.หนองเดิ่น อ.บุ่งคล้า จ.บึงกาฬ
เจ้าหน้าที่ชุดผลักดันช้างป่า พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่สายตรวจฯ ส่วนกลาง ขสป.ภูวัว จึงเข้าตรวจสอบทันที เมื่อถึงบริเวณที่รับแจ้งพบลูกช้างป่า 1 ตัว ตัวเมีย อายุ 2 เดือน ตรวจสอบโดยรอบไม่พบโขลงช้าง

จนท.ขสป.ภูวัว ทำคอกริมป่านาตู้ดำ รอโขลงแม่ช้างมารับลูก
จนท.ขสป.ภูวัว ทำคอกริมป่านาตู้ดำ รอโขลงแม่ช้างมารับลูก
เบื้องต้น ขสป.ภูวัว ประสานกับเจ้าหน้าที่สัตวแพทย์ ประจำสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 10 (สบอ.10) เพื่อทราบแนวทางปฏิบัติเบื้องต้น โดยทำคอกให้กับลูกช้างในบริเวณที่พบ และเฝ้าสังเกตการณ์ว่าจะมีโขลงแม่ช้างกลับมารับลูกช้างหรือไม่ จนถึงเช้าของวันที่ 13 ก.ย.2566 ยังไม่มีโขลงช้างกลับมายังพื้นที่พลัดหลง จึงประสานเจ้าหน้าที่สัตวแพทย์ สบอ.10 เข้าพื้นที่ตรวจสอบและพิจารณาดำเนินการกับลูกช้างป่าตามแนวทางต่อไป
ช่วยเหลือ "ลูกช้างป่า" เขาตะแบก
ขณะที่นายพิทักษ์ อินทศร ผู้อำนวยการส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 2 (ศรีราชา) รายงานว่า กรณีรับแจ้งการพบลูกช้างป่ามีลักษณะผอม คาดว่ามีปัญหาสุขภาพ ในพื้นที่เขาตะแบก ม.12 ต.โป่งน้ำร้อน อ.โป่งน้ำร้อน จ.จันทบุรี
วันที่ 12 ก.ย.2566 ทีมสัตวแพทย์จากประจำส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า ทีมสัตวแพทย์จากศูนย์ช่วยเหลือสัตว์ป่าที่ 2 (กระบกคู่) และสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าช่องกล่ำบน, เจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองเครือหวายเฉลิมพระเกียรติ เจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาสอยดาว เข้าตรวจสอบพื้นที่และปฏิบัติภารกิจช่วยเหลือลูกช้างป่า

ทีมสัตวแพทย์-เจ้าหน้าที่ยิงยาซึม ช่วยเหลือลูกช้างป่าเขาตะแบก
ทีมสัตวแพทย์-เจ้าหน้าที่ยิงยาซึม ช่วยเหลือลูกช้างป่าเขาตะแบก
เจ้าหน้าที่ได้เตรียมยิงยาซึม แต่ลูกช้างวิ่งหนีเข้าป่า จึงเปลี่ยนแผนเป็นการผูกเปลบนต้นไม้ และซุ่มยิงยาซึม แต่ลูกช้างป่ามีอาการตื่นตกใจและวิ่งหนีเข้าป่าทึบอีกรอบ ไม่สามารถตามตัวได้ทัน กระทั่งเวลา 13.30 เจ้าหน้าที่พบลูกช้างป่า
ทีมสัตวแพทย์เข้าถึงตัวลูกช้างป่า จากนั้นตรวจร่างกายโดยละเอียด พบว่า ลูกช้างป่ามีอาการผอม (Body condition score) อยู่ที่ 2/5 คะแนน มีอาการขาดน้ำจากการที่ลูกตาภายในเป้าตาจมลึก พบแผลในช่องปากและงวงโดยเป็นแผลที่มีการสร้างเนื้อเยื่อขึ้นมาทดแทนแล้ว ไม่พบบาดแผลตามร่างกาย การขับถ่ายเป็นก้อนปกติ

ทีมเจ้าหน้าที่และสัตวแพทย์ช่วยเหลือลูกช้างป่า
ทีมเจ้าหน้าที่และสัตวแพทย์ช่วยเหลือลูกช้างป่า
ลูกช้างปลอดภัย-กลับเข้าป่า
การจากตรวจลักษณะภายนอกร่างกาย ทีมสัตวแพทย์ลงความคิดเห็นว่าลูกช้างป่าตัวดังกล่าวนี้มีความผิดปกติทางด้านสุขภาพจากการที่เป็นแผลในช่องปากและงวง ทำให้กินอาหารลดลง ร่างกายขาดสารอาหาร และขณะนี้เป็นช่วงการฟื้นฟูร่างกายให้ลูกช้างป่าเริ่มกลับมาแข็งแรงมากขึ้น

แผลในช่องปากและงวง
แผลในช่องปากและงวง
รักษาเบื้องต้นด้วยการให้ยาฆ่าเชื้อ ยาบำรุงร่างกาย ยาบำรุงกล้ามเนื้อ ให้สารน้ำทางเส้นเลือดดำพร้อมกับวิตามิน ทำความสะอาดบาดแผลในช่องปากและงวง และดำเนินการเก็บตัวอย่างเลือด ตัวอย่างสวอปในช่องปาก สวอปทางทวารหนัก และขี้ลูกช้างป่า ส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการในวันนี้ (13 ก.ย.) เพื่อตรวจหาโรคแทรกซ้อนในร่างกายของลูกช้างป่า ประกอบการรักษาในครั้งถัดไป

ต่อมาเวลา 14.35 น. สัตวแพทย์ได้ให้ยาฟื้นจากยาซึม และพบว่าลูกช้างฟื้นจากยาสลบได้เป็นอย่างดี และเดินเข้าป่า
ทีมสัตวแพทย์ลงความคิดเห็นว่า ลูกช้างป่าแข็งแรงเพียงพอ สามารถดำเนินชีวิตอยู่ในป่าได้ จึงไม่ได้เคลื่อนย้ายออกมาจากป่า แต่จะติดตามอาการของลูกช้างป่าอย่างต่อเนื่องแทน โดยทีมเจ้าหน้าที่ทำบ่อน้ำสำหรับลูกช้างป่าในพื้นที่ เพื่อชดเชยการขาดน้ำของลูกช้างป่า ส่วนทีมสัตวแพทย์ได้เตรียมยากินเพื่อถ่ายพยาธิอย่างต่อเนื่อง 3 วัน และยาบำรุงร่างกายกินต่อเนื่อง 10 วัน โดยให้ซ่อนยาในกล้วยสุกและนำไปวางในจุดที่ลูกช้างป่าอาศัยอยู่

ทีมเจ้าหน้าที่ทำบ่อน้ำให้ลูกช้าง
ทีมเจ้าหน้าที่ทำบ่อน้ำให้ลูกช้าง