ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เครือข่ายคนรักษ์นครนายก ร้องรัฐบาลยกเลิกเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์วิจัยฯ

ภูมิภาค
7 ก.ย. 66
18:35
1,087
Logo Thai PBS
เครือข่ายคนรักษ์นครนายก ร้องรัฐบาลยกเลิกเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์วิจัยฯ
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
เครือข่ายคนรักษ์นครนายก มรดกธรรมชาติ แถลงการณ์เรียกร้องรัฐบาลใหม่ยกเลิกโครงการก่อสร้างเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์วิจัยฯ อ.องครักษ์

วันนี้ (7 ก.ย.2566) เครือข่ายคนรักษ์นครนายก มรดกธรรมชาติ แถลงการณ์เรียกร้องรัฐบาลใหม่ยกเลิกโครงการก่อสร้างเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์วิจัยฯ อ.องครักษ์ จ.นครนายก โดยระบุข้อความ

จากความพยายามของรัฐบาลในการทำโครงการก่อสร้างเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์วิจัยขนาด 10 เมกะวัตต์ ที่ อ.องครักษ์ จ.นครนายก เมื่อปี 2533 และ 2553 แต่ก็ต้องยุติไป และการคัดค้านอย่างรุนแรง ต่อมาปี 2560 ได้ฟื้นโครงการขึ้นมาอีกเป็นครั้งที่ 3 โดยเพิ่มเป็นขนาด 20 เมกะวัตต์ ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของประชาชนตลอดมา ทำให้โครงการยืดเยื้อมาเกือบ 6 ปี จนได้กำหนดวันประชาพิจารณ์ครั้งสุดท้ายในวันที่ 10 ก.ย.2566 ที่ อ.องครักษ์

ปัญหาใหญ่ของโครงการฯ นี้คือที่ตั้งของเตาปฏิกรณ์จะอยู่ติดกับฝั่งแม่น้ำนครนายกทำให้สาธารณชนกังวลใจต่อการแพร่ของสารกัมมันตรังสีสู่แหล่งน้ำอุปโภคบริโภคอันได้แก่ แม่น้ำบางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา คลองรังสิต จ.ปทุมธานี และเข้าคลองซอยสู่ใจกลางกรุงเทพมหานคร เชื่อมสู่แม่น้ำเจ้าพระยา อีกทั้งเตาปฏิกรณ์ส่วนที่อยู่ใต้ดินก็จะฝังแช่ในน้ำและเสี่ยงต่อการปนเปื้อนของสู่น้ำบาดาล นอกจากนี้การเลือกพื้นที่ตั้งโครงการเมื่อปี 2533 เป็นข้อมูลที่ล้าสมัยและขาดหลักฐานยืนยันกระบวนการคัดเลือกดังกล่าว อีกทั้งยังขัดกับเกณฑ์ความปลอดภัยที่กำหนดโดยทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ หรือ IAEA อันได้แก่ พื้นที่ตั้งเป็นดินอ่อน น้ำท่วมถึง มีรอยเลื่อนแผ่นดินไหว น้ำใต้ดินอยู่ตื้น อยู่ใกล้ชุมชน และใกล้สนามบินเล็ก

ตลอดเวลากว่า 30 ปีที่รัฐบาลพยายามสร้างโครงการ สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ องค์การมหาชน หรือ สทน. ซึ่งเป็นเจ้าของโครงการไม่สามารถสร้างความไว้วางใจให้กับประชาชนในพื้นที่ได้ อันได้แก่ การแจกเงินและสิ่งของเพื่อจูงใจในการทำประชาพิจารณ์ การปกปิดข้อมูลรายงานความคุ้มค่าในการทำประชาพิจารณ์ที่ผ่านมา และการเก็บกากกัมมันตรังสีในพื้นที่โดยไม่มีการทำประชาพิจารณ์ก่อน เป็นต้น

ปัญหาความปลอดภัยของนิวเคลียร์เป็นเรื่องระดับสากล เห็นได้จากการปล่อยน้ำปนเปื้อนกัมมันตรังสีของประเทศญี่ปุ่นทำให้เกิดกระแสการต่อต้านรุนแรงในระดับโลก ส่วนปัญหาในระดับชาติ ความเชื่อมั่นต่อเรื่องการจัดการกัมมันตรังสีตกต่ำลงจากปัญหาการจัดการสารซีเซียม 137 ที่ไม่สามารถติดตามและควบคุมได้ที่ จ.ปราจีนบุรี จนขณะนี้ยังไม่สามารถหาสถานที่เหมาะสมเก็บกากฝุ่นเหล็กได้ อีกทั้งเป็นที่น่าสังเกตว่ารัฐบาลไม่เคยประชาสัมพันธ์โครงการสร้างเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศโครงการนี้ให้กับคนไทยรับรู้เลย

เครือข่ายคนรักษ์นครนายก มรดกธรรมชาติ จึงขอเสนอให้รัฐบาลใหม่สื่อสารเรื่องเทคโนโลยีนิวเคลียร์อย่างตรงไปตรงมา พร้อมกับการพัฒนาระบบความปลอดภัยทางด้านนิวเคลียร์จนเป็นที่ไว้วางใจของประชาชน และจัดโครงสร้างของสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติให้เป็นอิสระและสามารถสร้างมาตรฐานด้านนิวเคลียร์ได้อย่างแท้จริง

เครือข่ายฯ ขอใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญเพื่อปกป้องชุมชนและลูกหลาน โดยขอให้รัฐบาลใหม่ยกเลิกโครงการก่อสร้างเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์วิจัยฯ องครักษ์ ในทันทีและรักษา จ.นครนายกให้เป็นเมืองน่าอยู่ เป็นอุทยานทางธรรมชาติอันบริสุทธิ์ของคนในจังหวัดและคนในพื้นที่ใกล้เคียงสืบต่อไป

อ่านข่าวอื่นๆ :

พัฒนาการทางวัฒนธรรม "เมืองโบราณศรีเทพ" ก่อนเป็นมรดกโลก

อปท.กังวลหวั่นถูกตัดงบฯ เอาไปใช้ดิจิทัลวอลเล็ต 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง