ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เปิด TOR "กู้เรือหลวงสุโขทัย" เจาะจุดสังเกตงบ 200 ล้าน

สังคม
6 ก.ย. 66
20:08
2,114
Logo Thai PBS
เปิด TOR "กู้เรือหลวงสุโขทัย" เจาะจุดสังเกตงบ 200 ล้าน
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ขอบเขต TOR ที่ใช้คัดเลือกบริษัทที่จะมาดำเนินการกู้เรือหลวงสุโขทัย พร้อมเปิดข้อมูลและจุดสังเกตงบประมาณ 200 ล้านบาท ขณะที่ไทม์ไลน์บริษัทประกวดราคา คาดวันที่ 30 ก.ย. ประกาศผลคัดเลือก

กองทัพเรือมอบหมายให้กองเรือยุทธการ เป็นเจ้าของโครงการ ใช้วิธีการคัดเลือกบริษัทที่จะมารับงานนี้ ด้วยการเปิดประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ หรือว่า E-bidding 

วัตถุประสงค์หลักๆ คือ ต้องใช้วิธีหรือเทคนิคอะไรก็แล้วแต่ที่กู้เรือขึ้นมาให้คงสภาพเดิมมากที่สุด และลำเลียงไปส่งที่ท่าเทียบเรือใน อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี โดยที่เรือจะต้องไม่ถูดตัดหรือแยกชิ้นส่วน ดังนั้นในการคัดเลือกบริษัท ต้องเขียน TOR หรือ กำหนดขอบเขตงานก่อนซึ่งกรณีนี้ "กรมอู่ทหารเรือ" เป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบตามขั้นตอน เมื่อร่าง TOR แล้ว หน่วยงานก็จะเชิญบริษัทที่สนใจและมีความรู้ความเชี่ยวชาญเข้ามารับฟังขอบเขตงาน

ขั้นตอนนี้จะพบว่ามีการเชิญเอกชนมาเข้าร่วมราว 12 แห่ง ฟังขอบเขตงานเสร็จบริษัทเหล่านี้ก็จะกลับพิจารณาว่าบริษัทของตัวเอง พอจะมีวิธีการ หรือเทคนิคในการกู้เรือตามวัตถุประสงค์ของกองทัพเรือหรือไม่ พร้อมกลับไปทำแผนงานกลับมานำเสนอ ทั้งนี้วันที่ 15 ส.ค. มีการเปิดให้บริษัทฯ ที่สนใจ ร่วมแก้ไข TOR

ซึ่งเป็นไปตามระเบียบของหน่วยงานราชการ จากนั้นวันที่ 18 ส.ค. มีการนัดตัวแทนบริษัทฯ รับฟังบทสรุป พร้อมซักถามสัญญา ใน TOR

ในการประชุมครั้งนี้ บริษัทได้รับการยืนยันว่า กองทัพเรือยืนยันใช้ TOR เดิมโดยไม่มีการแก้ไขตามข้อเสนอหรือข้อทักท้วง ในส่วนการกำหนดราคากลางพบว่า เป็นการการสืบราคากลางจากบริษัทเอกชน จำนวน 4 ราย เป็นที่มาของราคากลางหรือ งบประมาณที่ใช้ในการกู้เรือ 200 ล้านบาท

จุดสังเกตที่ไทยพีบีเอสได้มาคือ เหตุใดการทักท้วงจึงไม่มีผล?

1. เรื่องการกำหนดคุณสมบัติผู้มีสิทธิยื่นข้อเสนอ ที่มีข้อหนึ่งระบุว่า ต้องเป็นนิติบุคคลโดยชอบด้วยกฎหมายที่ได้รับการแต่งตั้งจากผู้มีอาชีพ Marine salvage หรือ ใบรับรองการกู้เรือ ซึ่งจากข้อมูลพบว่าส่วนใหญ่จะเป็นบริษัทจากประเทศอเมริกา และจีนเท่านั้น ทำให้ "บริษัทกู้เรือในประเทศไทย" ที่มีใบรับรองจากกรมเจ้าท่า อาจจะไม่ผ่านคุณสมบัติข้อนี้

2. คือ กำหนดว่าผู้ยื่นต้องมีผลงานในการกู้เรือที่อับปางทั้งลำ โดยไม่ตัดเป็นชิ้นส่วนที่มีขนาดระวางขับไม่น้อยกว่า 1,000 ตัน ที่ระดับน้ำลึกไม่น้อยกว่า 50 เมตร สำเร็จในระยะเวลา 10 ปี

ตรงนี้ถูกตั้งข้อสังเกตว่า ทำให้ตัวเลือกบริษัทแคบลงไปอีก ทีมข่าวพยายามสอบถามเรื่องนี้ไปยังเจ้ากรมอู่ทหารเรือ ได้รับคำตอบว่า ทั้งหมดเป็นไปตามขอบเขตระเบียบและวัตถุประสงค์ของงาน ซึ่งตอนนี้ก็ยังอยู่ในช่วงเปิดให้เอกชนที่สนใจยื่นประกวดราคา

เบื้องต้น พบว่ามีผู้ยื่นซองแล้วประมาณ 15 บริษัท และตามกำหนดการคือ วันที่ 30 ก.ย. "กองเรือยุทธการ" จะประกาศผลคัดเลือก ซึ่งนั่นจะทำให้เห็นความชัดเจนว่า บริษัทไหนที่จะได้งานนี้ไปและใช้วิธีการกู้เรือรูปแบบไหนเงื่อนไขสำคัญที่ต้องจับตา ก็คือ บริษัทที่ได้งานจะมีกรอบระยะเวลากู้เรือทั้งหมด 90 วัน ตั้งแต่ต้นเดือน ต.ค. ไปจนถึงสิ้น ธ.ค. ซึ่งปกติจะเป็นช่วงเวลาที่ได้รับอิทธิพลจากลมมรสุม

รายงาน : วิลาศิณีย์ ศุภรส ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอส

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : 

เปิดภาพล่าสุด "เรือหลวงสุโขทัย" เผยเหตุผลที่ต้องกู้ซาก

เปิด 4 วิธีกู้ "เรือหลวงสุโขทัย" งบ 200 ล้านบาท

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง