ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

"เศรษฐา" ขอพิสูจน์ 3-6 เดือนหลังสื่อจี้ปมอิสระตระกูล "ชินวัตร"

การเมือง
6 ก.ย. 66
12:59
429
Logo Thai PBS
"เศรษฐา" ขอพิสูจน์ 3-6 เดือนหลังสื่อจี้ปมอิสระตระกูล "ชินวัตร"
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
"เศรษฐา" ลั่นอิสระทำงานขอเวลารัฐบาล 3-6 เดือนพิสูจน์ ยันมีอิสระในการทำงานจากตระกูล "ชินวัตร" พร้อมทำงานเพื่อประชาชน ให้เกียรติข้าราชการ เตรียมแถลงนโยบายรัฐบาลต่อรัฐสภา 11 ก.ย.นี้ ยืนยันบรรจุรถไฟฟ้า 20 บาท

วันนี้ (6 ก.ย.2566) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นัดพิเศษว่า เป็นการพบปะพูดคุยครั้งแรกในครม.นัดพิเศษ เป็นการรับฟังความคิดเห็น ไม่ได้เป็นการสั่งการใดโดยได้ให้แนวทางเฉยๆว่าในการทำงานเป็นรัฐบาลเหมือนที่ตนได้แถลงไปเมื่อวันที่ 5 ก.ย.ที่ผ่านมา

เป็นรัฐบาลของประชาชน ต้องมาทำงานเพื่อประชาชน ลืมความเหน็ดเหนื่อย ตามหลักกฎหมาย และความชอบธรรม ต้องดูให้ดีในเรื่องการจัดสรรงบประมาณให้เหมาะสม และต้องให้เกียรติข้าราชการเวลาสั่งการ

นายกรัฐมนตรี ตอบคำถามสื่อเรื่องโยกย้ายข้าราชการอย่างไรว่า เป็นฤดูกาลของการแต่งตั้งโยกย้ายพอดี เรื่องนี้เกิดขึ้นอยู่ตลอด ไม่ใช่ว่าในช่วงนี้หรือรัฐบาลไหนเน้นย้ำเพราะภาคราชการทุกภาคส่วน มีความสำคัญอย่างยิ่งกับการขับเคลื่อนประเทศ

เขาทำงานมาตลอดชีวิต ก็อยากได้ความก้าวหน้าในหน้าที่ การงาน การปูนบำเหน็จ ขอให้เป็นธรรมด้วยผลงานไม่ใช่ด้วยมาจากการซื้อขายตำแหน่ง

รถไฟฟ้า 20 บาทบรรจุในนโยบายรัฐบาล

ส่วนกรณีที่ถูกถามว่าจะไม่มีนโยบายค่ารถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย อยู่ในร่างนโยบายที่จะแถลง นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เป็นคำแถลงกว้างๆ จะดูเรื่องการขนส่งทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นทางน้ำอากาศบก และราง เรื่องของรถไฟฟ้าต้องมาดูการเชื่อมต่อทุกสายให้เข้ากัน และก็ต้องใช้บัตรใบเดียวเพื่อความสะดวก และต้องดึงเรื่องทั้งหมดกลับมาดูว่า ค่าใช้จ่ายที่เหมาะสมจะเป็นเท่าไหร่ รัฐบาลจะต้องมีการชดเชยเท่าไหร่ ในแง่ของงบทั้งหมด

ยืนยันว่าบรรจุไว้เป็นเรื่องคร่าวๆ อยู่แล้ว

ส่วนคาดว่าจะได้เห็นภายในกี่ปี นายกรัฐมนตรี ตอบว่า ขอไปทำงานก่อน ซึ่งตนยังไม่ได้เข้ากระทรวง และนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคม ก็ยังไม่ได้เข้ากระทรวงเลย ทราบว่าทุกเรื่องเร่งด่วนหมด

เมื่อถามว่าในวันที่ 11 ก.ย.นอกจากการแถลงนโยบายแล้ว ในระหว่างที่อภิปราย จะมอบหมายให้รัฐมนตรีท่านใด พูดชี้แจงต่อข้อสงสัย นายเศรษฐา กล่าวว่า ถ้าเกี่ยวกับกระทรวงไหน หรือถูกพาดพิง เชื่อว่ารัฐมนตรีทุกคน เตรียมความพร้อมในการชี้แจง

นายเศรษฐา กล่าวอีกว่า การรับมือเอลนีโญที่มีผลกระทบต่อภาคเกษตร ยืนยันว่าเรื่องที่รัฐบาลให้ความสำคัญ ตั้งแต่สมัยที่หาเสียงอยู่แล้ว ก็ถือเป็นนโยบายหลักของพรรคเพื่อไทย แต่มาอยู่ในรัฐบาลพรรคร่วมแล้ว ทุกพรรคการเมืองที่ไม่อยู่ในรัฐบาลนี้ ก็เห็นด้วยกับเรื่องที่ให้ความสำคัญกับภาคเกษตร ไม่ว่าจะเป็น การขยายตลาดเพิ่มรายได้ โดยจะมีการนำหารือในครม.นัดแรก 13 ก.ย.นี้

ยันมีอิสระทำงานจากครอบครัว "ชินวัตร" 

ผู้สื่อข่าวถามว่า นายกรัฐมนตรี มีอิสระในการทำงานมากหรือน้อยเพียงไหนเพราะมาจากพรรคเพื่อไทย ที่ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีความใกล้ชิดกับตระกูลชินวัตร นายเศรษฐา กล่าวว่า

ขอเวลาในการบริหารราชการอีกสัก 3-6 เดือน สื่อมวลชนมาถามอีกที ผมมีอิสระในการทำงาน ไม่ใช่แค่ครอบครัวชินวัตร ผมมาวันนี้ รัฐบาลนี้มาทำงานเพื่อประชาชน ใครมีข้อมูล คำแนะนำที่ดีก็รับฟัง

ผู้สื่อข่าวถามว่า รู้สึกกดดันบ้างหรือไม่ในการเข้ามา และประชาชนคาดหวังสูงในรัฐบาลนี้ นายเศรษฐา กล่าวว่า ก็มีความกดดันอยู่แล้ว ปัญหาของประชาชนเป็นเรื่องใหญ่ ทำงานแล้วก็ต้องยอมรับเรื่องพวกนี้ยืนยันว่าตนมีความตั้งใจจริงแต่ขอเวลาทำงานนิดหนึ่ง ก่อนยกมือขึ้นไหว้ และกล่าวขอบคุณ

สำหรับการประชุมครม.นัดพิเศษ เพื่อพิจารณาวาระสำคัญ 6 วาระ ได้แก่

  • การจัดทำคำแถลงนโยบายของ ครม.ต่อรัฐสภา
  • การกำหนดวิธีการประชุม ครม.
  • แนวทางปฏิบัติของหน่วยงานของรัฐในการเสนอเรื่องต่อครม.
  • การจัดวาระเพื่อเสนอเรื่องต่อ ครม.เป็นวาระเพื่อทราบหากไม่มีข้อทักท้วงให้ถือเป็นมติครม.ตามที่เสนอ
  • การมอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นผู้ตรวจพิจารณาร่างมติ ครม. และกลั่นกรองเรื่องก่อนเสนอนายกรัฐมนตรี
  • การมอบหมายให้รัฐมนตรีเป็นผู้รักษาราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงและสุดท้ายการจัดผลัดเวรเฝ้าฯ ของคณะรัฐมนตรี ในงานพระราชพิธี พิธีรัฐ และพิธีสำคัญในโอกาสต่างๆ

อ่านข่าว "เศรษฐา" ถือฤกษ์ 08.00 น. เข้าสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทำเนียบวันแรก

"ไอติม" จวกนโยบายรัฐบาลไม่ตรงปก

นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล กล่าวถึงการแถลงนโยบายของรัฐบาลต่อที่ประชุมรัฐสภาว่า ส่วนตัวยังมีข้อกังวล 2 ส่วนคือกรอบเวลาในการอภิปราย ขณะนี้มีข่าวออกมากว่าอาจจะเหลือการอภิปรายนโยบายเพียง 1 วันโดยยังต้องรอการยืนยัน

โดยมองว่าเป็นเวลาที่สั้นมาก หากย้อนดูในอดีตของการอภิปรายก็มักจะมากกว่า 1 วัน โดยจากรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา มีกรอบอภิปราย 2 วัน ทั้งนี้หากเหลือแค่เพียงวันเดียวจริงก็ถือว่าเป็นวิธีการที่รวบรัดจนเกินไปกับกระบวนการที่มีความสำคัญ

ส่วนข้อกังวลที่สองคือก็คือเนื้อหาสาระของนโยบาย  ต้องรอการยืนยันว่าเอกสารคำแถลงนโยบายที่หลุดออกมากเป็นเอกสารทางการหรือไม่ หากเอกสารที่ออกมาตรงกับเอกสารหลุดออกมาผ่านสื่อ ก็ยอมรับว่ายังขาดรายละเอียดนโยบายที่พรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ได้สื่อสารกับประชาชนก่อนหน้าการเลือกตั้ง

ยังไม่พบนโยบายค่าแรง สภาร่างรัฐธรรมนูญที่ยังมีความคลุมเครือว่าจะจัดตั้งรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ ส.ส.ร.มาจากการเลือกตั้งหรือไม่ รวมถึงนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย 

อ่านข่าว

"อนุทิน" เข้า มท.พรุ่งนี้ ถ่ายโอน รพ.สต.ต้องดูความพร้อมรักษา

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง