วันนี้ (3 ก.ย.2566) รายงานข่าวจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยว่า คณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) จะนำ พระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2565 มาใช้เป็นหลักในการพิจารณาแต่งตั้งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ
โดย มาตรา 77 ระบุว่า การแต่งตั้งข้าราชการตำรวจให้ดำรงตำแหน่ง ให้แต่งตั้งตามหลักเกณฑ์ต่อไปนี้
(1) ตำแหน่ง “ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ” จะได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งจากข้าราชการตำรวจยศพลตำรวจเอก ซึ่งดำรงตำแหน่งจเรตำรวจแห่งชาติ หรือรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ
มาตรา 78 การคัดเลือกแต่งตั้งข้าราชการตำรวจให้ดำรงตำแหน่งตามมาตรา 77 (1) (2) (3) (4) (5) (6) ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้
การแต่งตั้งข้าราชการตำรวจให้ดำรงตำแหน่งตามมาตรา 77 (1) ให้นายกรัฐมนตรีคัดเลือกรายชื่อพนักงานตำรวจผู้มีคุณสมบัติตามมาตรา 77(1) โดยคำนึงถึงอาวุโสและความรู้ความสามารถประกอบกันโดยเฉพาะประสบการณ์ในงานสืบสวนสอบสวนหรืองานป้องกันปราบปราม เสนอ ก.ตร.เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบก่อนแล้วให้นายกรัฐมนตรีนำความกราบบังคมทูลพระกรุณาเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯแต่งตั้ง
รายงานข่าวระบุว่า ตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย ต้องการให้การแต่งตั้งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ คำนึงถึงความอาวุโสและความรู้ความสามารถประกอบกัน หมายความว่า ให้น้ำหนักอาวุโส 50 % ความรู้ความสามารถ 50 %
ดังนั้นคณะกรรมการที่พิจารณา จะต้องนำอาวุโสขึ้นมาเป็นเกณฑ์หลักในการพิจารณาก่อน โดยแบ่งเป็นคะแนนอาวุโสกับความรู้ความสามารถอย่างละ 50 % เท่าๆ กัน เมื่อเรียงอาวุโสแล้ว ใครอาวุโสสูงสุดในระดับพลตำรวจเอก คือตำแหน่ง จเรตำรวจแห่งชาติ รองผู้บัญชาการตำรวจ เมื่อเรียงอาวุโสแล้วผู้ใดมีอาวุโสสูงสุด จะได้คะแนน 50 %
ส่วนคนที่รองลงมาก็เฉลี่ยลงมาว่า จะได้กี่เปอร์เซนต์ โดยผู้ที่อาวุโสสูงเป็น 100 % นับจากคนที่อาวุโสสูงสุด กับอายุราชการด้วย ก็จะได้คะแนนเต็ม 50 % ส่วนคนที่รองลงมาก็เฉลี่ยลงมาว่าจะได้กี่เปอร์เซนต์ โดยเอาคนที่ได้ 50 % เต็ม คิดเป็น 100% โดยนับอาวุโสกับระยะเวลาอายุราชการและคำนวณสัดส่วนเปอร์เซ็นต์ออกมา
ส่วนอีก 50 % ให้พิจารณาตามสายงาน 5 สายงาน ตามที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติใช้พิจารณาแต่ให้คะแนนประสบการณ์ งานสืบสวนสอบสวนและงานปราบปรามเป็นหลัก มากกว่าคะแนนด้านอื่น
เพราะมาตรา 78 (1) ระบุว่า โดยเฉพาะประสบการณ์ในงานสืบสวนสอบสวน หรืองานป้องกันปราบปราม แต่ในสายงานอื่นก็ต้องมีคะแนนด้วย การกำหนดคะแนนต้องกำหนดให้เกิดความเป็นธรรม
สำหรับการกำหนดเกณฑ์มาตรฐานไว้ เช่น งานสืบสวน 12 คะแนน งานสอบสวน 12 คะแนนงานป้องกันปราบปราม 12 คะแนน งานที่เหลืออีก 2 ด้าน ด้านละ 7 คะแนน เป็น 14 คะแนน รวมเป็น 50 คะแนน ให้มีการกำหนดช่วงห่างการให้คะแนน ต้องกำหนดไว้เลยว่า ถ้าใครผ่านงานชนิดใดมามากน้อยเท่าใดแล้ว จะได้คะแนนมากน้อยเท่าใด
แต่ถ้าใครไม่ผ่านงานด้านใดมาเลย ต้องไม่มีคะแนน เป็นการกำหนดกรอบการให้คะแนนไว้ เพื่อป้องกันการใช้ดุลพินิจตามอำเภอใจของคณะกรรมการคัดเลือก เพื่อไม่ให้คะแนนของผู้เข้ารับการคัดเลือกแตกต่างกันมาก ความรู้ความสามารถ 50 % ถ้าให้ 50 คะแนน ควรให้ทุกสายงานเท่ากัน เพราะผู้บริหารควรมีทุกอย่าง ป้องกันปราบปราม สืบสวนสอบสวน บริหารความมั่นคงและกิจการพิเศษกฎหมายและคดี
อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้ ไม่มีการกำหนดกฎเกณฑ์ตั้งแต่แรก หรือกำหนดกฎเกณฑ์แบบไม่เป็นธรรม เพื่อให้การคัดเลือกครั้งนี้เป็นไปโดยเป็นธรรม และให้ได้ผู้ที่มีความอาวุโสและมีความรู้ความสามารถ โดยเฉพาะประสบการณ์ในงานสืบสวนสอบสวนและงานป้องกันปราบปรามตามเจตนารมย์ของมาตรา 78 (1) อย่างแท้จริง
ขอบคุณภาพ : POLICETV