วันนี้ (1 ก.ย.2566) นายอัษฎาวุธ ศรีปิตา ผู้ช่วยโฆษกกรมสอบสวนคดีพิเศษ และ ร.ต.อ.ทินวุฒิ สีละพัฒน์ ผู้อำนวยการกองกิจการต่างประเทศและคดีอาชญากรรมระหว่างประเทศ เปิดเผยถึงคดีพิเศษขบวนการลักลอบจัดหาหญิงไทยเพื่อรับจ้างตั้งครรภ์แทน หรืออุ้มบุญ ให้กับผู้ว่าจ้างชาวต่างประเทศที่มีลักษณะเป็นองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติใน จ.หนองคาย กรณีอุ้มบุญเด็กชายแทนไท (นามสมมุติ)
หลังการสืบสวนขยายผลพบสถานพยาบาลต้องสงสัยมีความเกี่ยวข้องในการกระทำผิด 3 แห่ง ประกอบด้วย สถานพยาบาลย่านถนนงามวงศ์วาน เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร จากการสืบสวนสอบสวนพบว่า มีนายแพทย์ผู้ให้บริการเทคโนโลยีการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์มีส่วนเกี่ยวข้องในคดีนี้ และเป็นแพทย์ประจำศูนย์รักษาผู้มีบุตรยากในสถานพยาบาลดังกล่าว โดยได้ทำการตรวจร่างกายก่อนตั้งครรภ์และรับฝากครรภ์ รวมทั้งเป็นสถานที่คลอดบุตรแก่หญิงอุ้มบุญผิดกฎหมาย ในช่วงระหว่างปี 2561-2563 ผลการตรวจค้นพบประวัติหญิงอุ้มบุญผิดกฎหมายจำนวนหลายคน
แห่งที่ 2 เป็นสถานพยาบาลย่านถนนเพชรบุรีตัดใหม่ จากการสืบสวนสอบสวนพบว่า สถานพยาบาลแห่งนี้มีแพทย์ผู้ให้บริการเทคโนโลยีการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้องในคดีนี้เข้าไปทำงาน Part time ในสถานพยาบาลดังกล่าว ผลการตรวจค้นพบเอกสารข้อมูลไข่และตัวอ่อนในการดูแลของแพทย์ผู้ให้บริการในคดี
แห่งที่ 3 เป็นสถานพยาบาลย่านถนนเพลินจิต จากการตรวจสอบเส้นทางการเงินพบความเชื่อมโยงกับนายแพทย์ที่เกี่ยวข้องในคดี และมีหญิงอุ้มบุญมาตรวจร่างกายก่อนไปฉีดตัวอ่อนที่ต่างประเทศ ผลการตรวจค้นพบหนังสือเดินทางของหญิงอุ้มบุญและเด็กที่ถูกอุ้มบุญ อีกทั้งยังไม่ได้รับอนุญาตรับรองมาตรฐานให้บริการด้านเทคโนโลยีการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์
นอกจากนี้ ทางการสืบสวนสอบสวนยังพบผู้เกี่ยวข้องในลักษณะเป็นผู้จัดหาหญิงมาตั้งครรภ์ จึงได้สนธิกำลังกับตำรวจ สภ.หนองคาย เข้าจับกุมนายสุเนตร จอมศรี ผู้ต้องหาตามหมายจับของศาลอาญาที่ 2643/2566 ในข้อหามีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ และร่วมกันดำเนินการให้มีการตั้งครรภ์แทนเพื่อประโยชน์ทางการค้า
ขณะที่การเข้าตรวจค้นบ้านพัก พบบัญชีรายชื่อหญิงที่รับจ้างอุ้มบุญผิดกฎหมายและบัญชีรายได้จากการเป็นนายหน้าจัดหาหญิงมาทำหน้าที่อุ้มบุญ รวมทั้งพบว่านายสุเนตร มีทรัพย์สินเป็นที่ดินกว่า 100 ไร่ คาดว่าซื้อหาจากเงินที่กระทำความผิด
สำหรับการอุ้มบุญสามารถทำได้หากได้รับการอนุญาตตามขั้นตอนของกฎหมาย ซึ่งมีเงื่อนไขเพื่อคนที่มีบุตรยากตามพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ พ.ศ.2558 แต่ห้ามดำเนินการให้มีการตั้งครรภ์แทนเพื่อประโยชน์ทางการค้า หากฝ่าฝืนทั้งคนสั่งจ้าง นายหน้า นายแพทย์ นักวิทยาศาสตร์ หญิงอุ้มบุญ และผู้เกี่ยวข้องในขบวนการ จะมีความผิดทางอาญาและต้องรับผิดตามกฎหมาย