วันนี้ (31 ส.ค.2566) ผศ.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีฝ่ายกิจการพิเศษ คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก "Thon Thamrongnawasawat" ว่า กรณีเพจขยะมรสุม รายงานการพบทากทะเลมังกรฟ้า Blue Dragon Sea Slug ที่ชายฝั่งภูเก็ต ซึ่งนักดำน้ำรู้จักเป็นอย่างดี
แม้มีขนาดเล็กแต่สีสวย ทากทะเลเป็นญาติของหอยฝาเดียว เป็นสัตว์พิสดาร บางชนิดสามารถกินสัตว์ที่มีเข็มพิษแล้วดึงเอาเซลล์เข็มพิษมาไว้ในตัวเพื่อป้องกันตัวเอง
นักดำน้ำบางคนอาจพบทากพวกนี้ กำลังกินไฮดรอยด์ (ขนนกทะเล) โดยมีเข็มพิษอยู่ปลายเนื้อเยื่อที่ยื่นออกมาคล้าย “หนาม” ตามลำตัว และสามารถดึงเข็มพิษจากสัตว์อื่นมาใช้ได้
ผศ.ธรณ์ อธิบายเพิ่มเติมว่า กลุ่มสัตว์กินเข็มพิษมีหลายตัวและหลายชนิด หนึ่งในนั้นคือทากทะเลมังกรฟ้า ลักษณะจะลอยอยู่บนผิวน้ำเพราะกินอากาศเข้าไป และกินอาหารหลักเป็นPortuguese man o' war หรือเรือรบโปรตุเกส ซึ่งมีพิษร้ายแรง
ทากตัวนี้จะลอยไปเกาะบนแมงกะพรุน ค่อย ๆ กินไปเรื่อย ๆ และกระเปาะเข็มพิษก็จะเคลื่อนไปตามเนื้อเยื่อและไปอยู่บริเวณส่วนปลายแหลมบนตัวของทากดังกล่าว ซึ่งจะใช้ป้องกันตัวเท่านั้น ไม่ได้ใช้เพื่อการล่า หรือทำร้าย ตราบใดที่ไม่สัมผัสโดยตรง ก็จะไม่ยิงเข็มพิษออกมา
บอกไม่ได้เมืองไทยมีไหม เพราะลอยอยู่กลางมหาสมุทร แต่ตัวนี้จะเข้ามาไทยตอนลมเข้า ช่วงเดือนมรสุม มิ.ย.-ต.ค.
ผศ.ธรณ์ กล่าวว่า ปกติแล้วทากทะเลมังกรฟ้าอยู่กลางมหาสมุทร แต่อาจพบในช่วงหน้ามรสุม เพราะคลื่นลมแรงพัดมาที่ฝั่งเดียวกับที่ จ.ภูเก็ต
อย่างไรก็ตาม ทากทะเลมังกรฟ้าอยู่บนฝั่งได้ไม่นาน เมื่อถูกคลื่นกระแทกและอากาศออกหมดตัวจะแฟ่บ แต่อาจพบแมงกะพรุนเรือรบโปรตุเกสลอยน้ำด้วย เพราะทั้งคู่สัมพันธ์กัน
ผศ.ธรณ์ เตือนนักท่องเที่ยวว่า หากโดนทากทะเลมังกรฟ้าแล้ว จะใช้หลักการเดียวกับการโดนแมงกะพรุน ซึ่งแพทย์แนะนำให้ใช้ราดน้ำส้มสายชูปริมาณมาก
ทากมีพิษ เพราะเข็มพิษแมงกะพรุนอยู่กับเธอ ไม่ควรจับ แตะ โดน เห็นสีสวย ๆ อย่าคิดจับไปเลี้ยง
ข้อมูลจากกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ระบุว่า แมงกะพรุนเรือรบโปรตุเกส มีรูปร่างสีฟ้าหรือสีม่วง ส่วนที่ลอยน้ำรูปร่างคล้ายหมวกของทหารเรือชาวโปรตุเกส และมีหนวดยาว ปกติจะไม่พบในน่านน้ำไทย โดยจะพบในทะเลเปิดของมหาสมุทรแอตแลนติกเหนือ, ทะเลเมดิเตอเรเนียน, มหาสมุทรแปซิฟิก และมหาสมุทรอินเดีย แต่อาจจะถูกกระแสน้ำพัดมาเกยตื้นหรือเข้าสู่น่านน้ำไทยได้ในบางฤดูกาล
หากสัมผัสโดน แม้แมงกะพรุนชนิดนี้มีความเป็นพิษที่รุนแรงที่สุดในกลุ่มแมงกะพรุนไฟ แต่สำหรับระดับความเป็นพิษสามารถทำให้บาดเจ็บได้ในหลายระดับ ขึ้นอยู่กับความต้านทานของแต่ละบุคคลและปริมาณพิษที่ได้รับ ตั้งแต่อาการแสบคัน จนถึงปวดแสบปวดร้อน รวมถึงกับอาการไข้ ช็อค และเกิดความผิดปกติกับหัวใจและปอด โดยวิธีการปฐมพยาบาลเบื้องต้นจากการถูกพิษของแมงกะพรุนชนิดนี้ คือให้ใช้น้ำส้มสายชูราดบริเวณที่ได้รับพิษอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 30 วินาที และรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาล