สถานการณ์ปัญหาการสร้างคอนโดมิเนียม ในเขตกลางเมืองกรุงเทพมหานคร เริ่มผลส่งผกระทบต่อชุมชนที่อาศัยอยู่ดั้งเดิม อีกทั้งยังมีประเด็นเรื่องการก่อสร้างโครงการไม่ถูกกฎหมาย มีคดีฟ้องร้องจนศาลส่งเพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้าง ดังเช่นกรณีโครงการแอชตันอโศกบนถนนสุขุมวิท 21 ที่มีประเด็นเรื่องทางเข้า-ออกที่ไม่เป็นไปตามกฎหมาย กระทบต่อความเชื่อมั่นของลูกบ้าน รวมถึงคุณภาพชีวิตของผู้บริโภคที่อยู่อาศัยในโครงการดังกล่าว
น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภค กล่าวว่า ปัญหาการพัฒนาในเมืองใหญ่หลาย ๆ เมืองทั่วโลก รวมถึงกรุงเทพมหานคร กำลังเผชิญกับปัญหาการพัฒนาที่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ชุมชน ซึ่งต้องหาแนวทางที่จะทำให้เมืองเป็นมิตรกับคนทุกกลุ่ม โดยเฉพาะปัญหาการก่อสร้างคอนโดฯ สูง ในซอยแคบ อาจไปรุกล้ำหรือละเมิดสิทธิผู้อยู่อาศัยดั้งเดิม
ข้อมูลจากคณะอนุกรรมการด้านอสังหาริมทรัพย์และที่อยู่อาศัย สภาผู้บริโภค พบว่าการก่อสร้างอาคารสูงในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ส่วนใหญ่เป็นปัญหาการบังคับใช้กฎหมายการพัฒนาเมืองหลวงตามผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2556 ที่รัฐละเลยหรือไม่ปฏิบัติหน้าที่ตั้งแต่ขั้นตอนการอนุญาต รวมถึงการตรวจสอบที่ไม่รัดกุม จนทำให้ผู้ประกอบการสามารถก่อสร้างอาคารขนาดใหญ่ที่ผิดกฎหมาย หรือมีการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ที่เอื้อผู้ประกอบการ แต่กลับสร้างผลกระทบต่อชุมชนและสภาพแวดล้อมในมิติต่าง ๆ ที่ล้วนส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชนหรือผู้บริโภค เช่น อาคารโรงแรมดิเอทัส (The Aetas) ในซอยร่วมฤดี, โครงการแอชตัน อโศก (Ashton Asoke) ถนนสุขุมวิท 21 และโครงการคอนโดรีเจ้นท์ โฮม บางซ่อน (กำแพงบางซ่อน)
อาคารโรงแรมดิเอทัสในซอยร่วมฤดี
อย่างไรก็ตาม ล่าสุดสภาผู้บริโภคได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้แทนชุมชนที่เดือดร้อนจากการสร้างคอนโดของบริษัทด้านอสังหาริมทรัพย์ชื่อดัง ก่อสร้างคอนโดฯ สูงในพื้นที่แคบ ทำให้ผู้ที่อยู่อาศัยในชุมชนใกล้เคียงได้รับความเดือดร้อน ประกอบด้วยชุมชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากโครงการเอส-ประดิพัทธ์ (ประดิพัทธ์ ซอย 23) โครงการเอส–รัชดา (รัชดา ซอย 44) และโครงการเดอะมูฟ (พหลโยธิน 37) ซึ่งทั้ง 3 โครงการเป็นปัญหาการก่อสร้างคอนโดฯ สูง ในซอยที่มีระยะห่างไม่ถึง 6 เมตร อาจเข้าข่ายผิดกฎหมาย พ.ร.บ ควบคุมอาคาร และการทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่มีจุดบกพร่อมไม่ได้ลงสำรวจพื้นที่จริงว่าการก่อสร้างกระทบต่อความเป็นอยู่ของชุมชนเดิม
ชาวบ้านเรียกร้องตรวจสอบโครงการสร้างคอนโดฯ ย่านประดิพัทธ์
ทั้งนี้ มีผู้ได้รับความเดือดร้อนมากกว่า 1,000 ครัวเรือน และกลุ่มผู้เสียหายได้รวบรวมรายชื่อเสนอให้สภาผู้บริโภคลงตรวจสอบพื้นที่และช่วยเหลือต่อไป
นายทิววัฒน์ ภัทรกุลวณิชย์ ตัวแทนผู้เสียหายจากโครงการเอส-ประดิพัทธ์ เล่าถึงผลกระทบที่ได้รับจากการก่อสร้างโครงการดังกล่าวว่า ตัวแทนชุมชนได้ทำหนังสือไปถึงสำนักงานเขตพญาไท เพื่อให้ระงับโครงการและศึกษารายงานผลกระทบใหม่หลายครั้ง เนื่องจากเห็นว่าหลายกระบวนการมีข้อบกพร่อง ไม่โปร่งใส แต่ก็ไม่ได้รับการทบทวนจนรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมผ่านการอนุมัติและอยู่ระหว่างการดำเนินการก่อสร้างแล้ว
ทั้งนี้ ในวันที่ 30 ส.ค.2566 ทีมเจ้าหน้าที่ของสภาผู้บริโภค และเจ้าหน้าที่เขต กทม. จะร่วมกันลงพื้นที่สำรวจความเดือดร้อนของชาวบ้านและรังวัดถนนว่าทั้ง 3 โครงการก่อสร้างถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่