ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

"สารทจีน - เช็งเม้ง - ตรุษจีน" มีความหมายและสำคัญอย่างไร

ไลฟ์สไตล์
27 ส.ค. 66
07:00
27,747
Logo Thai PBS
 "สารทจีน - เช็งเม้ง - ตรุษจีน"  มีความหมายและสำคัญอย่างไร
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
รู้หรือไม่ "สารทจีน - เช็งเม้ง -ตรุษจีน" ต่างกันอย่างไร และทั้ง 3 เทศกาลสำคัญต่อลูกหลานเชื้อสายจีนอย่างไร

"วันสารทจีน"

วันสารทจีน คำว่า สารท เป็นคำมาจากภาษาบาลี พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 ให้ความหมายว่า เทศกาลทำบุญในวันสิ้นเดือนสิบ โดยนำพืชพันธุ์ธัญญาหารแรกเก็บเกี่ยวมาปรุงเป็นข้าวทิพย์และข้าวมธุปายาสถวายพระสงฆ์

ในภาษาจีนเรียกวัน สารทจีน ว่า "จงหยวนเจี๋ย" หรือเรียกว่า "กุ่ยเจี๋ย" ซึ่งมีความหมายตรงตัวว่า "วันผี" ในความเชื่อของชาวจีน สารทจีนเป็นเทศกาลที่ลูกหลานแสดงความกตัญญูต่อบรรพบุรุษ โดยกำหนดวันสารทจีนจะยึดตามปฏิทินจันทรคติ ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 7 ของทุกปี

บางตำนานว่าเป็นวันที่ส่งวิญญาณดีขึ้นสวรรค์ และส่งวิญญาณร้ายลงนรก ชาวจีนทั้งหลายสงสารวิญญาณร้าย จึงทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปให้ เนื่องจากเดือน 7 นี้ถือเป็นเดือนผี ซึ่งประตูนรกจะเปิดให้ผีทั้งหลายมารับส่วนบุญ

ชาวจีนและผู้ที่มีเชื้อสายชาวจีนจึงจัดพิธีไหว้เจ้าที่ในตอนเช้า ตอนสายจะไหว้บรรพบุรุษ และตอนบ่ายจะไหว้ผี หรือวิญญาณพเนจร ซึ่งไม่มีลูกหลานกราบไหว้ สำหรับของไหว้ มีทั้ง อาหารคาวหวาน ของไหว้ที่ขาดไม่ได้คือขนมเข่ง ขนมเทียน นอกนั้นเป็นผลไม้ น้ำชาหรือเหล้า และมีการเผากระดาษเงินกระดาษทองด้วย

"เช็งเม้ง" วันไหว้บรรพบุรุษที่สุสาน

เช็งเม้ง หรือ เทศกาลเช็งเม้ง เป็นวันสำคัญอีกหนึ่งวันสำหรับชาวไทยเชื้อสายจีน โดยลูกหลานที่แยกย้ายไปทำงานหรือแยกไปมีครอบครัวจะเดินทางกลับมารวมตัว เพื่อไหว้ “สุสาน” หรือ “ฮวงซุ้ย” ของบรรพบุรุษอย่างพร้อมหน้าพร้อมตา

วันเช็งเม้งตรงกับวันที่ 5 เม.ย.ของทุกปี ส่วนเทศกาลเช็งเม้งเริ่มตั้งแต่วันที่ 2 - 8 เม.ย. รวม 7 วัน ปัจจุบันเนื่องจากมีปัญหาการจราจร สุสานต่าง ๆ จึงขยายช่วงเวลาของเทศกาลเช็งเม้งให้ยาวขึ้น คือ ประมาณ 15 มี.ค. - 8 เม.ย.

คำว่า "เช็งเม้ง" ตามสำเนียงแต้จิ๋ว ในภาษาจีนแยกเป็น "เช็ง" หมายถึง สะอาด บริสุทธิ์ และ "เม้ง" หมายถึง สว่าง เมื่อนำมารวมกันแล้วหมายถึง ช่วงเวลาแห่งความแจ่มใส รื่นรมย์ เนื่องจากเป็นช่วงเวลาในฤดูใบไม้ผลิของจีน ต้นไม้ใบหญ้าเขียวชอุ่มสวยงาม จึงเป็นช่วงเวลาที่เหมาะกับการไปไหว้บรรพบุรุษ ณ ที่ฝังศพ แทนการไหว้ป้ายวิญญาณในบ้าน

ในวันเช็งเม้ง ธรรมเนียมปฏิบัติที่ลูกหลานชาวไทยเชื้อสายจีนทำนั้น คือ ทำความสะอาดสุสานบรรพบุรุษ ตกแต่งสุสานให้ดูใหม่ กราบไหว้ดวงวิญญาณของบรรพบุรุษ มีการเผากระดาษเงิน กระดาษทอง ล้อมวงกินอาหารไหว้ร่วมกันเป็นขั้นตอนสุดท้ายหลังจากลาของไหว้ จุดประทัดเพื่อความเป็นสิริมงคล

เหตุผลที่ต้องมีวันเช็งเม้งนั้น เพราะชาวจีนแต่ก่อนจะไม่เผาร่างของผู้เสียชีวิตแต่จะฝังแทน นอกจากนี้ยังมีความเชื่อว่าแม้จะตายแต่วิญญาณยังอยู่ ดังนั้นจึงมีการไหว้อาหารและข้าวของเครื่องใช้จำเป็น เสมือนให้พวกท่านได้ไปใช้ในอีกภพภูมิ

การไหว้บรรพบุรุษของชาวจีนในวันเช็งเม้งถือเป็นการแสดงความกตัญญูต่อบรรพบุรุษ เพื่อรำลึกถึงคุณความดี ที่บรรพบุรุษของเราได้กระทำไว้ เป็นแบบอย่างการดำเนินชีวิต เป็นการสร้างความสามัคคี

"วันตรุษจีน" 

"วันตรุษจีน" วันสำคัญมากวันหนึ่งของชาวจีน และชาวไทยเชื้อสายจีน ที่อยู่ในประเทศไทย นั้นเพราะวันตรุษจีนเปรียบเหมือนเป็นวันขึ้นศักราชใหม่ หรือปีใหม่ของชาวจีน โดยในปี 2566 วันตรุษจีนตรงกับวันที่ 20-22 ม.ค.2566 เป็น "วันจ่าย - วันไหว้ - วันเที่ยว" ตามธรรมเนียม

  • วันจ่าย ตรงกับ วันที่ 20 ม.ค.

 เป็นวันที่ชาวไทยเชื้อสายจีนเตรียมตัวซื้อของ อาหาร คาว หวาน ผลไม้ ให้ครบก่อนถึงวันจริง

  • วันไหว้ ตรงกับ วันที่ 21 ม.ค.

ไหว้เจ้า ไหว้บรรพบุรุษ ทำทานให้สัมภเวสี ไหว้เทพเจ้าไฉ่ซิงเอี๊ยตอนกลางคืนเพื่อขอโชคลาภ ซึ่งเชื่อว่า ไหว้ขอพรขอโชคลาภในคืนนี้ก่อนเข้าสู่วันปีใหม่จีน จะเป็นการนำพาสิ่งที่ดีมาให้

  • วันเที่ยว ตรงกับ วันที่ 22 ม.ค. (วันตรุษจีน)

เป็นวันที่ครอบครัวพากันไปท่องเที่ยว วันนี้การแต่งกายเสื้อผ้าจะเป็นสีสดใสสวยงาม รวมถึงไปไหว้ขอพรญาติผู้ใหญ่ นอกจากนี้ยังมีการถือเคล็ดว่า ไม่ทะเลาะกัน พูดจาไม่ดี ไม่ให้ใครยืมเงิน ไม่ซักผ้า ไม่ใส่เสื้อผ้าสีขาวดำ เพื่อความเป็นสิริมงคล

นอกจากนี้เพื่อเพิ่มความเป็นสิริมงคลให้แก่ครอบครัวเชื้อสายจีน จะมีการจัดเตรียมโต๊ะไหว้ตรุษจีนทั้งอาหารคาว หวาน ผลไม้มงคลต่าง ๆ ชุดเครื่องไหว้ นอกจากนี้ ยังถือเป็นการรวมตัวของเครือญาติและคนในครอบครัวได้พบปะสังสรรค์ไหว้ตรุษจีนพร้อมหน้ากันด้วย

"ตรุษจีน" ความสำคัญและความเชื่อ 

ในวันขึ้นปีใหม่ของชาวจีน ตรงกับปฏิทินตามจันทรคติจีน ในวันที่ 1 เดือน 1 และชาวจีนเริ่มนิยมสักการะเทพเจ้า และบรรพบุรุษ เพื่อขอพรจากฟ้าดิน มีกิน มีใช้ ตลอดทั้งปี

เทศกาลปีใหม่จีนจึงไม่ตรงกันในแต่ละปี และไม่ตรงกับปฏิทินสากล โดย “วันตรุษจีน” จะอยู่ในช่วงปลายเดือน ม.ค. - กลางเดือน ก.พ.ของทุกปี ซึ่งเป็นช่วงสิ้นสุดของฤดูหนาว และเริ่มต้นฤดูใบไม้ผลิ ที่แสงอาทิตย์มีอิทธิพลสร้างความอบอุ่น บรรเทาความหนาวจนสิ้นสุดลง

นอกจากนี้สิ่งที่นิยมปฏิบัติกันในเทศกาลตรุษจีน คือการเตรียมทำความสะอาดบ้าน ทาสีบ้านใหม่ ตัดผม หาเสื้อผ้าใหม่สีสันสดใส ประดับโคมไฟสีแดง และตุ้ยเหลียน (ป้ายคำอวยพรความหมายมงคล) ไว้หน้าบ้าน รวมถึงเตรียมซองอั่งเปาสำหรับมอบให้กับเด็ก ๆ ที่มาอวยพรให้ผู้ใหญ่สุขภาพแข็งแรง อีกด้วย

อ่านข่าว : "ตุ้ยเหลียน" ป้ายอักษรจีนมงคล ช่วยเสริมโชคลาภ-ค้าขายร่ำรวย

ในประเทศจีน ธรรมเนียมและประเพณีท้องถิ่นเกี่ยวกับการเฉลิมฉลองตรุษจีน ยังมีการประดับหน้าต่างและประตูด้วยกระดาษตัดสีแดงและคู่กับธีม โชคดี ความสุข ความมั่งคั่ง และ ชีวิตยืนยาว

"ตรุษจีน - เช็งเม้ง - สารทจีน" แตกต่างอย่างไร 

จากข้อมูลสรุปได้ว่า "วันตรุษจีน" นั้นจะเป็นเป็นวันขึ้นปีใหม่ของชาวจีน ที่มีการรวมตัวของครอบครัวเพื่อเฉลิมฉลอง มีกิจกรรมการไหว้เจ้า ซึ่งเป็นการสักการะบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และเทพเจ้าของชาวจีน เพื่อขอบคุณสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และผู้คุ้มครองบ้านเรือน ที่มาปกปักดูแลให้เจ้าบ้านอยู่อย่างร่มเย็นเป็นสุข 

ขณะที่ "วันเช็งเม้ง" จะเป็นวันที่ลูกหลานเดินทางกลับมารวมตัว เพื่อไหว้ "สุสาน" หรือ "ฮวงซุ้ย" ของบรรพบุรุษอย่างพร้อมหน้าพร้อมตา  โดยไหว้อาหารและข้าวของเครื่องใช้จำเป็นเสมือนให้พวกท่านได้ไปใช้ในอีกภพภูมิ ถือเป็นการแสดงความกตัญญู รำลึกถึงคุณความดี ที่บรรพบุรุษของเราได้กระทำไว้ 

สุดท้าย คือ "วันสารทจีน" เป็นการไหว้บรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว ระลึกถึงคุณงามความดี และขอพร ขอโชค ส่วนอาหารไหว้นั้นจะเน้นเป็นอาหารที่บรรพบุรุษชื่นชอบเสียส่วนใหญ่ มีการเผากระดาษเงิน กระดาษทองที่เชื่อว่าสามารถส่งไปให้ถึงบรรพบุรุษได้ 

ตรุษจีน-เช็งเม้ง-สารทจีน แตกต่างกันอย่างไร

ตรุษจีน-เช็งเม้ง-สารทจีน แตกต่างกันอย่างไร

ตรุษจีน-เช็งเม้ง-สารทจีน แตกต่างกันอย่างไร

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :

วันสารทจีน 2566 ความสำคัญ และ ข้อห้ามปฏิบัติ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง