วันสารทจีน ปี 2566 ตรงกับวันพุธที่ 30 สิงหาคม ซึ่งตรงกับวันที่ 15 เดือน 7 ตามปฏิทินทางจันทรคติของจีน เทศกาลสารทจีน เป็นเทศกาลใหญ่ 1 ใน 8 เทศกาลสำคัญประจำปีของจีน ส่วนในไทยสารทจีนถือเป็นเทศกาลจีนสำคัญอันดับ 2 รองจากตรุษจีน
เทศกาลสารทจีนมีชื่ออย่างเป็นทางการว่า “จงหยวนเจี๋ย” ชาวจีนแต้จิ๋วเรียก “ตงหง่วงโจ๊ย” ชาวจีนไหหน่ำเรียก “เซ็ดเว้ยโต้ย” ซึ่งวันนี้ถ้าไปถามคนจีนแถบภาคเหนือจะไม่รู้จักเลย เพราะนิยมทำกันเฉพาะคนจีนภาคใต้ ฮ่องกง และไต้หวันเท่านั้น
สำหรับเทศกาลสารทจีนจะมีเทพเจ้าประจำเทศกาล นามว่า “เทพจงหยวน” หรือชื่อเต็มว่า “จงหยวนต้าตี้” มีหน้าที่ควบคุมดูแลเทพแห่งมหาบรรพตทั้งห้า (ของจีน) ภูเขาและแม่น้ำ เจ้าที่ประจำเมืองทุกเมือง เทพในเมืองที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์ ตรวจดูโชคเคราะห์ของสรรพสัตว์ ตรวจบัญชีความดีความชั่วของมนุษย์ และหน้าที่สำคัญคือให้อภัยโทษแก่ผู้รู้ผิดกระทำพลีบูชาท่าน 15 ค่ำ วัน เดือน 7 ท่านจะลงมาตรวจบัญชีชั่วดีของมนุษย์แล้วประทานอภัยให้ และท่านยังเป็นประธานดูแลการไหว้ผีไม่มีญาติด้วย
ความหมาย "สารทจีน"
คำว่า สารท เป็นคำมาจากภาษาบาลี พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 ให้ความหมายว่า เทศกาลทำบุญในวันสิ้นเดือนสิบ โดยนำพืชพันธุ์ธัญญาหารแรกเก็บเกี่ยวมาปรุงเป็นข้าวทิพย์และข้าวมธุปายาสถวายพระสงฆ์
ในทางความเชื่อของชาวจีน สารทจีน เป็นเทศกาลที่ลูกหลานแสดงความกตัญญูต่อบรรพบุรุษ วันสารทจีนตรงกับวันที่ 15 เดือน 7 ของจีน บางตำนานว่าเป็นวันที่ส่งวิญญาณดีขึ้นสวรรค์ และส่งวิญญาณร้ายลงนรก ชาวจีนทั้งหลายสงสารวิญญาณร้าย จึงทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปให้
เนื่องจากเดือน 7 นี้ถือเป็นเดือนผี ซึ่งประตูนรกจะเปิดให้ผีทั้งหลายมารับส่วนบุญ ชาวจีนจึงจัดพิธีไหว้เจ้าที่ในตอนเช้า ตอนสายจะไหว้บรรพบุรุษ และตอนบ่ายจะไหว้ผี หรือวิญญาณพเนจร ซึ่งไม่มีลูกหลานกราบไหว้ ของไหว้จะประกอบด้วยอาหารคาวหวาน ของไหว้ที่ขาดไม่ได้คือขนมเข่ง ขนมเทียน นอกนั้นเป็นผลไม้ น้ำชาหรือเหล้า และมีการเผากระดาษเงินกระดาษทองด้วย
ตำนานวันสารทจีน
ตำนานที่ 1
ตำนานนี้กล่าวไว้ว่าวันสารทจีนเป็นวันที่เงี่ยมล้อเทียนจือ (ยมบาล) จะตรวจดูบัญชีวิญญาณคนตาย ส่งวิญญาณดีขึ้นสวรรค์และส่งวิญญาณร้ายลงนรก ชาวจีนทั้งหลายรู้สึกสงสารวิญญาณร้ายจึงทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้ ดังนั้นเพื่อให้วิญญาณร้ายออกมารับกุศลผลบุญนี้จึงต้องมีการเปิดประตูนรกนั่นเอง
ตำนานที่ 2
มีชายหนุ่มผู้หนึ่งมีนามว่า “มู่เหลียน” (พระมหาโมคคัลลานะ) เป็นคนเคร่งครัดในพุทธศาสนามาก ผิดกับมารดาที่เป็นคนใจบาปหยาบช้าไม่เคยเชื่อเรื่องนรก-สวรรค์มีจริง ปีหนึ่งในช่วงเทศกาลกินเจนางเกิดความหมั่นไส้คนที่นุ่งขาวห่มขาวถือศีลกินเจ นางจึงให้มู่เหลียนไปเชิญผู้ถือศีลกินเจเหล่านั้นมากินอาหารที่บ้านโดยนางจะทำอาหารเลี้ยงหนึ่งมื้อ
ผู้ถือศีลกินเจต่างพลอยยินดีที่ทราบข่าวว่ามารดาของมู่เหลียนเกิดศรัทธาในบุญกุศลครั้งนี้ จึงพากันมากินอาหารที่บ้านของมู่เหลียนแต่หาทราบไม่ว่าในน้ำแกงเจนั้นมีน้ำมันหมูเจือปนอยู่ด้วย การกระทำของมารดามู่เหลียนนั้นถือว่าเป็นกรรมหนัก เมื่อตายไปจึงตกนรกอเวจีมหานรกขุมที่ 8 เป็นนรกขุมลึกที่สุดได้รับความทุกข์ทรมานแสนสาหัส
เมื่อมู่เหลียนคิดถึงมารดาก็ได้ถอดกายทิพย์ลงไปในนรกภูมิ จึงได้รู้ว่ามารดาของตนกำลังอดอยากจึงป้อนอาหารแก่มารดา แต่ได้ถูกบรรดาภูตผีที่อดอยากรุมแย่งไปกินหมดและเม็ดข้าวสุกที่ป้อนนั้นกลับเป็นไฟเผาไหม้ริมฝีปากของมารดาจนพอง แต่ด้วยความกตัญญูและสงสารมารดาที่ได้รับความทุกข์ทรมานอย่างสาหัสมู่เหลียนได้เข้าไปขอพญาเหงี่ยมล่ออ๊อง (ยมบาล) ว่าตนขอรับโทษแทนมารดา
แต่ก่อนที่มู่เหลียนจะถูกลงโทษด้วยการนำร่างลงไปต้มในกระทะทองแดง พระพุทธเจ้าได้เสด็จลงมาโปรดไว้ได้ทัน โดยกล่าวว่ากรรมใดใครก่อก็ย่อมจะเป็นกรรมของผู้นั้นและพระพุทธเจ้าได้มอบคัมภีร์อิ๋ว หลันเผิน ให้มู่เหลียนท่องเพื่อเรียกเซียนทุกทิศทุกทางมาช่วยผู้มีพระคุณให้หลุดพ้นจากการอดอยากและทุกข์ทรมานต่าง ๆ ได้ โดยที่มู่เหลียนจะต้องสวดคัมภีร์อิ๋ว หลันเผินและถวายอาหารทุกปีในเดือนที่ประตูนรกเปิดจึงจะสามารถช่วยมารดาของเขาให้พ้นโทษได้
นับแต่นั้นเป็นต้นมา ชาวจีนจึงได้ถือเป็นประเพณีปฏิบัติสืบต่อมากันโดยตลอดด้วยการเซ่นไหว้ โดยจะนำอาหารทั้งคาวหวาน และกระดาษเงินกระดาษทองไปวางไว้ที่หน้าบ้านหรือตามทางแยกที่ไม่ไกลนัก มีนัยว่าเป็นการเบี่ยงเบนความสนใจของบรรดาวิญญาณเร่ร่อนที่กำลังจะผ่านมาใกล้ที่พักของตน
สารทจีน 2566
วันจ่าย-วันไหว้เทศกาลสารทจีน 2566 ตรงกับวันไหน
วันจ่ายสารทจีน คือ วันที่ 29 สิงหาคม หรือก่อนหน้านั้น
วันสารทจีน ตรงกับช่วงก่อนวันที่ 30 สิงหาคม
ความสำคัญเทศกาลสารทจีน
เทศกาลสารทจีนถือเป็นวันสำคัญที่ลูกหลานชาวจีนจะแสดงความกตัญญูต่อบรรพบุรุษ โดยพิธีเซ่นไหว้ และยังถือเป็นเดือนที่ประตูนรกเปิดให้วิญญาณทั้งหลายมารับกุศลผลบุญได้
นอกจากจะเป็นประเพณีที่ลูกหลานจะแสดงความกตัญญูต่อบรรพบุรุษซึ่งล่วงลับไปแล้ว ยังเป็นประเพณีที่มีกุศโลบายในการสนับสนุนให้ทุกคนในครอบครัวทำกิจกรรมร่วมกันอย่างพร้อมหน้าและมีความสุข
ส่วนวิธีการปลูกฝังและสืบทอดประเพณีและเทศกาลสำคัญ กระทำในหลายรูปแบบทั้งทางตรงและทางอ้อม อาทิ เล่า อธิบาย พูดถึงความสำคัญของเทศกาล สาเหตุการจัดไหว้ การแนะนำเครื่องเซ่นไหว้ จำนวนของไหว้ การให้ลูกหลานเป็นผู้ปฏิบัติโดยตรง การทำให้ดูเป็นตัวอย่าง การฝากฝังให้สืบทอดอย่างเป็นทางการในรุ่นต่อไปเป็นต้น
กิจกรรมเทศกาลสารทจีน
- เซ่นไหว้บรรพบุรุษ
- ทำบุญอุทิศ
- เผากระดาษเซ่นไหว้
- แจกข้าวสาร อาหารแห้งให้กับผู้ที่ยากไร้ ผู้ด้อยโอกาส
ข้อห้ามปฏิบัติเทศกาลสารทจีน
1. ห้ามแต่งงาน
ชาวไทยเชื้อสายจีนถือเป็นเดือนปล่อยผี เดือนที่ไม่เป็นมงคล
2. ห้ามเดินทางไกล
ความเชื่อของชาวจีนเชื่อว่าวันสารทจีนเป็นวันประตูนรกเปิด การออกเดินทางไกลอาจจะทำให้มีโอกาสประสบอุบัติเหตุได้มากกว่าช่วงอื่น ๆ
3. ห้ามออกจากบ้านช่วงกลางคืน
ความเชื่อเรื่องประตูนรกเปิดในวันสารทจีน ว่าวิญญาณของคนตายจะออกมาเดินตามถนนในตอนกลางคืน โดยเฉพาะช่วงเวลาหลังเที่ยงคืน ในยามวิกาลจึงไม่ควรออกจากบ้านโดยไม่จำเป็น เพราะอาจพบเจอวิญญาณ
4. ห้ามซื้อบ้าน-ย้ายบ้าน
เพราะเชื่อว่าวิญญาณอาจไปสิงอยู่ในที่เหล่านั้นในขณะที่มันว่างอยู่
5. ห้ามเริ่มงานก่อสร้างใดๆ
เพราะเชื่อว่าอาจรบกวนวิญญาณของบรรพบุรุษที่อยู่ที่บ้านได้
6. ห้ามดำเนินการเริ่มธุรกิจใดๆ
เพราะมีความเชื่อว่าเป็นเดือนที่มีวันประตูผีเปิด จะทำให้ธุรกิจ กิจการต่างๆ ไม่ราบรื่น
7. ห้ามว่ายน้ำตอนกลางคืน
เพราะเชื่อกันว่าวิญญาณที่จมน้ำตาย มักจะออกมาเสาะหาตัวตายตัวแทนกันในช่วงวันสารทจีน
อย่างไรก็ดีความเชื่อและข้อห้ามในวันสารทจีนเป็นความเชื่อส่วนบุคคลเท่านั้น
ข้อห้ามปฏิบัติวันสารทจีน
ที่มา : https://th.wikipedia.org / ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม
อ่านข่าวอื่น ๆ :
เปิดความหมายมงคล ของไหว้วันสารทจีน 2566 พร้อมวิธีการไหว้
วันหยุดเดือนสิงหาคม 2566 เช็กวันหยุดยาว วันหยุดธนาคาร วันพระ