ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เปิดคู่มือ! "ผู้ต้องขังป่วย" ออกไปรักษาตัวนอกเรือนจำ

สังคม
23 ส.ค. 66
13:18
4,882
Logo Thai PBS
เปิดคู่มือ! "ผู้ต้องขังป่วย" ออกไปรักษาตัวนอกเรือนจำ
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
เมื่อผู้ต้องขังมีอาการเจ็บป่วยในเรือนจํา จนท.ราชทัณฑ์จะเป็นผู้ดูแลเบื้องต้น หากอาการป่วยเกินขีดความสามารถจะต้องพิจารณาส่งตัวออกไปรักษาที่โรงพยาบาลภายนอก เพื่อให้ได้รับบริการที่มีคุณภาพและปลอดภัย

คำจำกัดความ "ผู้ต้องขังป่วย"

ผู้ต้องขังป่วย คือ ผู้ต้องขังโดยทั่วไปที่มีอาการเจ็บป่วย ทั้งร่างกาย และ จิตใจ ตลอดจนผู้ต้องขังที่ติดฝิ่น กัญชา สิ่งเสพติดฝิ่น ซึ่งมีอาการร้ายแรง หรือ หญิงมีครรภ์ หรือ มีลูกอ่อน ซึ่งจัดเป็นผู้เจ็บป่วยโดยอนุโลม ได้แก่

  1. ผู้ต้องขังที่เจ็บป่วยทางร่างกาย
  2. ผู้ต้องขังที่เจ็บป่วยทางจิตใจ
  3. ผู้ต้องขังหญิงมีครรภ์หรือมีลูกอ่อน
  4. ผู้ต้องขังติดยาเสพติดให้โทษ

อ่าน : รพ.ตำรวจ แจงส่งตัวฉุกเฉิน "ทักษิณ" เหตุขาดผู้เชี่ยวชาญ-อุปกรณ์

แนวทางการส่งต่อ "ผู้ต้องขังป่วย" รักษา รพ.นอกเรือนจำ

  • ผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบในเรือนจํา พิจารณาตามความจําเป็นจริงๆ เท่านั้น ว่าต้องส่งผู้ต้องขังป่วยออกไปรับการรักษานอกเรือนจำ โดยโรงพยาบาลของรัฐจะเป็นอันดับแรก เว้นแต่แพทย์ ตรวจวินิจฉัยและมีความเห็นให้ส่งไปรักษาโรงพยาบาลเอกชน เพราะโรงพยาบาลรัฐขาดเครื่องมือและอุปกรณ์ที่จะรักษาผู้ป่วย หรือ โรงพยาบาลรัฐอยู่ห่างไกลกว่า แต่เมื่อพ้นขีดอันตรายแล้ว ให้รีบส่งตัวไปรักษาที่โรงพยาบาลของรัฐต่อโดยเร็ว 

    โดยที่แพทย์ หรือเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ต้องแจ้งต่อพัศดีและทำรายงานยื่นต่อผู้บัญชาการเรือนจำ โดยรายงานให้ปรากฏข้อต่อไปนี้
    • ชื่อ-สกุล ผู้ต้องขัง
    • อายุและแดนที่ผู้ต้องขังถูกควบคุม
    • วันเดือนปีที่ตรวจอาการเจ็บป่วย
    • อาการหรืออาการแสดงของการเจ็บป่วยที่ตรวจพบ
    • ชื่อโรคหรืออาการเจ็บป่วย
    • ความเห็นในเรื่องโรคหรือชนิดของการเจ็บป่วย
    • อุปกรณ์ในการรักษาพยาบาลที่มีอยู่ ณ เรือนจำแห่งที่ผู้ต้องขังอยู่นั้นจะทำการรักษาพยาบาลต่อไปในเรือนจำจะทุเลาดีขึ้นหรือไม่
    • ควรจะออกไปรักษาตัวนอกเรือนจำที่ใดดี

  • อธิบดีกรมราชทัณฑ์สามารถให้อำนาจตัวแทน พิจารณาให้ผู้ต้องขังป่วยออกไปตรวจรักษา และ/หรืออยู่พักรักษาตัวยังโรงพยาบาลภายนอกเรือนจําและทัณฑสถาน ตามความเหมาะสมและความจําเป็นแห่งโรค โดยที่พัศดีเป็นผู้ตรวจสอบข้อมูลและรายงานไแยังผู้บัญชาการเรือนจำ
    • ชื่อ-สกุล ผู้ต้องขัง
    • อายุและแดนที่ผู้ต้องขังถูกควบคุม
    • วันที่รับตัวผู้ต้องขังเข้าเรือนจำ
    • ผู้ต้องขังอยู่ในประเภทใด
    • เลขคดีและฐานความผิดที่ต้องหา
    • กำหนดโทษ
    • ได้รับโทษมาแล้วเท่าใด และยังเหลืออีกเท่าใด
    • ปรากฏว่าป่วยมานานเท่าใดแล้ว และได้ให้พักการงานรักษาพยาบาลในเรือนจำจำนวนเท่าใด
    • เห็นควรอนุญาตให้ออกไปรักษาตัวภายนอกเรือนจำหรือไม่ โดยเหตุผลอย่างไร

  • การขออนุญาตย้ายผู้ต้องขังป่วยไปคุมขังยัง เรือนจําทัณฑสถาน ที่มีโรงพยาบาลและแพทย์เฉพาะโรค เพื่อการบําบัดรักษา อธิบดีกรมราชทัณฑ์ได้มอบอํานาจให้ผู้อํานวยการกองบริการทางการแพทย์ในการพิจารณาอนุญาต

  • การย้ายผู้ต้องขังเด็ดขาดที่ป่วยทางจิตให้ดําเนินการเหมือนผู้ต้องขังที่ป่วยด้วยโรคทางกาย

อ่าน : กรมราชทัณฑ์ ยัน "ทักษิณ" แน่นหน้าอกส่งรพ.ตำรวจกลางดึก

2 ระบบส่งต่อผู้ต้องขังป่วย

  1. ผู้ต้องขังป่วยออกไปรักษาตัวภายนอกเรือนจํา (ไป-กลับในวันเดียว) ต้องขออนุญาตผู้บัญชาการเรือนจํา ในการนําตัวผู้ต้องขังออกไปโรงพยาบาล (ทั้งกรณีปกติหรือกรณีฉุกเฉินตามแต่เหตุการณ์) โดยเจ้าหน้าที่ผู้ควบคุมจะต้องขอหลักฐานใบรับรองแพทย์ซึ่งต้องระบุ ชื่อผู้ต้องขัง ชื่อโรค อาการเจ็บป่วย วันที่ และสถานที่ที่รักษาให้ชัดเจน แล้วรายงานผู้บัญชาการเรือนจําทราบ

  2. ผู้ต้องขังต้องพักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาล
    • เมื่อแพทย์มีความเห็นว่าต้องนอนพักรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล เจ้าหน้าที่จะต้องขอใบแสดงความเห็นแพทย์ผู้รักษา ระบุชื่อผู้ต้องขัง ชื่อโรควันที่แพทย์รับตัว ระยะเวลาในการรักษา นําเสนอต่อผู้บัญชาการเรือนจํา หรือ ผู้อํานวยการทัณฑสถาน เพื่อพิจารณาอนุญาตในการอยู่พักรักษาตัวที่โรงพยาบาลตามความเห็นแพทย์และความจําเป็นแห่งโรคและอาการ

      หากผู้ต้องขังต้องพักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลเป็นเวลานาน เจ้าหน้าที่ผู้ควบคุมจะต้องขอใบแสดงความเห็นแพทย์เป็นระยะๆ โดยระบุวันที่อยู่พักรักษาตัวให้ต่อเนื่องและชัดเจน

    • ผู้ต้องขังป่วย อาการเจ็บป่วยยังไม่ทุเลา เพื่อความปลอดภัยในการควบคุม ให้เรือนจําขออนุมัติกรมราชทัณฑ์ ย้ายผู้ต้องขังป่วยไปรับการรักษาตัวที่ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์

การปฏิบัติตัวของ "ผู้ต้องขังป่วย" ขณะอยู่นอกเรือนจำ

ผู้ต้องขังที่ได้รับอนุญาจให้ออกไปรักษาตัวนอกเรือนจำต้องปฏิบัติตามเงื่อนไข ดังนี้

  1. ต้องอยู่ภายในเขตที่กำหนดให้อยู่ เว้นแต่การออกนอกเขตที่กำหนดนั้นเป็นกรณีจำเป็นเร่งด่วนเพื่อการวินิจฉัยโรคตามคำสั่งแพทย์ หรือกรณีฉุกเฉินอันอาจเป็นอันตรายต่อชีวิตหรือความปลอดภัยผู้ต้องขัง
  2. ต้องยอมให้เจ้าพนักงานเรือนจำ หรือ พนักงานสืบสวน พนักงานสอบสวน หรือ แพทย์ เจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ ตรวจอาการเจ็บป่วยและการปฏิบัติตามเงื่อนไขแห่งการอนุญาตนั้นได้
  3. เมื่อเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจตรวจอาการหรือตรวจการปฏิบัติตามเงื่อนไขสั่งให้กลับเรือนจำ จะต้องกลับไปเรือนจำที่ได้รับอนุญาต เว้นแต่ผู้บัญชาการเรือนจำหรืออธิบดี จะสั่งให้ไปอยู่ในเรือนจำอื่น ถ้าไม่กลับเรือนจำ ผู้ต้องขังอาจถูกจับตัวส่งเรือนจำได้โดยไม่ต้องมีหมาย

หากผู้ต้องขังออกจากเขตซึ่งกำหนดไว้ในเงื่อนไข ให้ปฏิบัติเช่นเดียวกับผู้ต้องขังหลบหนีในกรณีอื่น 

ปัจจุบัน ทัณฑสถาน โรงพยาบาลราชทัณฑ์ ถือเป็นศูนย์กลางการรักษาพยาบาล ผู้ต้องขังที่เกิดอาการเจ็บป่วยจากเรือนจํา ทัณฑสถานทั่วประเทศทั้งหมด 143 แห่ง โดยสิทธิการรักษาของผู้ต้องขังส่วนใหญ่ เป็นสิทธิการรักษาประกันสุขภาพ เช่นเดียวกับประชาชนคนไทยทั่วไป ที่มีเลขบัตรประจําตัวประชาชน 13 หลัก รองลงมาคือ สิทธิประกันสังคม และลําดับสุดท้ายคือ สิทธิการรักษาพยาบาลข้าราชการ

กรณีที่เป็นผู้ป่วยต่างชาติ กรมราชทัณฑ์ จะดําเนินการประสานงานกับสถานทูตของผู้ต้องขังป่วยรายนั้นๆ เพื่อให้ความช่วยเหลือด้านค่าใช้จ่ายบริการทางการแพทย์เพื่อให้ผู้ต้องขังป่วยได้รับการดูแลรักษาตามหลักสิทธิมนุษยชน

ที่มา : วารสารกฎหมายสุขภาพและสาธารณสุข ปีที่ 4 ฉบับที่ 2 พฤษภาคม–สิงหาคม 2561

ข่าวที่เกี่ยวข้อง