ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ทักษิณกลับไทย : เปิดมาตรา 22 นับโทษจำคุก “ทักษิณ” นับต่อ-นับทับ

การเมือง
22 ส.ค. 66
07:00
2,992
Logo Thai PBS
ทักษิณกลับไทย : เปิดมาตรา 22 นับโทษจำคุก “ทักษิณ” นับต่อ-นับทับ
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

มีคำถามว่า ช่วงสายวันนี้ ( 22 ส.ค.2566) เมื่อสองเท้าของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ก้าวลงจากเครื่องบินส่วนตัวถึงผืนแผ่นดินไทยแล้ว นอกจากครอบครัว และลูก ๆ ที่จะเดินทางไปรับแล้ว หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ไปรอรับตัวจะดำเนินการอย่างไรกับผู้ต้องหาที่หลบหนีคดีอาญาที่ติดตัวอยู่อีก 3 คดี อ่านข่าว คลี่กฎหมายอาญามาตรา 22 "ทักษิณ" ติดคุกกี่ปี

ตามหลักกฎหมายเมื่อเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวตามขั้นตอนเพื่อนำส่งศาลแล้ว ศาลจะอ่านคำพิพากษา แต่จะไม่อ่านซ้ำทั้งหมด แต่จะแค่อ่านย่อทวน เนื่องจากองค์คณะผู้พิพากษา อ่านคำพิพากษาลับหลัง คดีเหล่านี้โดยชอบตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2560 ที่แก้ไขใหม่ไปเรียบร้อยแล้ว

โดยศาลจะสอบถามว่า เป็นบุคคลตามหมายจับศาลในคดีนี้ใช่หรือไม่ ถ้าใช่ก็จะสรุปคำพิพากษาโดยย่อให้ฟัง เช่น คดีหวยบนดิน ศาลสั่งจำคุกกี่ปี คดีทุจริตปล่อยกู้เอ็กซิมแบงก์ โดนโทษจำคุกกี่ปี และคดีแก้สัมปทานเอื้อชินคอร์ป โดนโทษจำคุกกี่ปี จากนั้นจึงออกหมายขัง ส่งตัวเข้าไปรับโทษในเรือนจำตามคำพิพากษา

ส่วนการนับโทษ หากพลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 22 ตั้งแต่ระยะเวลาลงโทษจำคุก คือ โทษจำคุก ให้เริ่มแต่วันมีคำพิพากษา แต่ถ้าผู้ต้องคำพิพากษาถูกคุมขังก่อนศาลพิพากษา ให้หักวันที่ถูกคุมขังออกจากระยะเวลาจำคุกตามคำพิพากษาเว้นแต่คำพิพากษานั้นจะกล่าวไว้เป็นอย่างอื่น

ขณะที่การรับโทษจำคุก มาตรา 22 ให้เริ่มแต่วันมีคำพิพากษา แต่ถ้าผู้ต้องคำพิพากษาถูกคุมขังก่อนศาลพิพากษา ให้หักจำนวนวันที่ถูกคุมขังออกจากระยะเวลาจำคุกตามคำพิพากษา เว้นแต่คำพิพากษานั้นจะกล่าวไว้เป็นอย่างอื่น

ในกรณีที่คำพิพากษากล่าวไว้เป็นอย่างอื่น โทษจำคุกตามคำพิพากษาเมื่อรวมจำนวนวันที่ถูกคุมขังก่อนศาลพิพากษาในคดีเรื่องนั้นเข้าด้วยแล้วต้องไม่เกินอัตราโทษขั้นสูงของกฎหมายที่กำหนดไว้สำหรับความผิดที่ได้กระทำลงนั้น ทั้งนี้ไม่เป็นการกระทบกระเทือนบทบัญญัติในมาตรา 91"

ส่วน "วันมีคำพิพากษา" หมายถึงวันที่ศาลอ่านคำพิพากษาโดยเปิดเผยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 182 และ 188 โดยคำพิพากษาไม่จำเป็นต้องถึงที่สุด เพราะเมื่อศาลมีคำพิพากษาแล้ว จำเลยย่อมต้องถูกบังคับโทษตามคำพิพากษานั้น แม้ภายหลังศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกาจะพิพากษาแก้โทษจำคุก ก็ไม่มีผลต่อวันเริ่มนับโทษจำคุก

นอกจากนี้ กฎหมายมาตรา 22 ยังให้คำนิยามของคำว่า "เว้นแต่คำพิพากษานั้นจะกล่าวไว้เป็นอย่างอื่น หมายถึงว่า ผู้ต้องโทษจำคุกอาจจะไม่ได้รับโทษจำคุกในวันที่มีคำพิพากษาก็ได้ แต่อาจรับโทษจำคุกต่อจากโทษจำคุกในคดีก่อน

ทั้งนี้แล้วแต่ที่จะกำหนดไว้ในคำพิพากษา ตามที่มาตรา 22 วรรคแรก บัญญัติไว้ในตอนท้ายว่า "เว้นแต่คำพิพากษานั้นจะกล่าวไว้เป็นอย่างอื่น" ซึ่งถือเป็นดุลพินิจของศาล (ฎีกาที่ 281/2505. ฎีกาที่ 276/2513)

หากพิจารณาตามข้อกฎหมายดังกล่าวแล้ว จึงต้องไปดูคำพิพากษาแต่ละคดีว่าศาลสั่งให้นับโทษ “ต่อจากคดีเก่า” หรือไม่ ถ้าไม่สั่งให้นับโทษต่อก็จะนับโทษทับหรือซ้ำกัน เช่น คดีหวยบนดิน โทษจำคุก 2 ปี ไม่ได้สั่งให้นับโทษต่อกับคดีอื่น คดีทุจริตปล่อยกู้เอ็กซิมแบงก์ โทษจำคุก 3 ปี ไม่ได้สั่งให้นับโทษต่อจากคดีอื่น และคดีแก้สัมปทานเอื้อชินคอร์ป โทษจำคุก 5 ปี ไม่ได้สั่งให้นับโทษต่อจากคดีอื่น

และหากเป็นเช่นนี้ หมายความว่า นายทักษิณ จะถูกจำคุกสูงสุดแค่ 5 ปี เพราะคำพิพากษาของศาลไม่ได้สั่งให้นับโทษต่อจากคดีอื่น แต่ถ้าสั่งนับโทษต่อก็จะถูกจำคุก 7 ปี หรือ 8 ปี แล้วแต่ว่าจะนับโทษต่อจากคดีไหน ถ้านับโทษต่อทุกคดีคือ 10 ปี

ส่วนการลดโทษ-การขอพระราชทานอภัยโทษ จะได้ลดเป็นรายคดี ดังนั้นถ้านายทักษิณ ได้ลดโทษมากในคดีเอื้อชินคอร์ป ก็จะได้ออกจากคุกเร็วที่สุด เพราะโทษจำคุกหนักสุดคือ 5 ปี หมายความว่า นายทักษิณ โดนโทษจำคุกแค่ 5 ปี เพราะศาลไม่ได้สั่งให้นับโทษต่อกัน

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

สส.เพื่อไทย" เบิร์ดเดย์ "อิ๊งค์" มอบของขวัญ "ทักษิณกลับบ้าน"

แฟนคลับสีแดง ตบเท้าเข้ากรุงต้อนรับ "ทักษิณ"

“เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ” เตรียมแผนรับ “ทักษิณ”

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง