วันโหวตนายกฯ รอบที่ 3 ใกล้เข้ามาทุกขณะ แต่ดูเหมือนว่าการดีลเก้าอี้รัฐมนตรีของพรรคการเมืองร่วมรัฐบาลเพื่อไทยยังไม่ได้ข้อยุติ เหลือเพียงอีก 5 วัน แม้เพื่อไทยจะเร่งปิดเกม หวังลดแรงกดดันการต่อรองทุกด้าน ท่ามกลางกระแสข่าว ทักษิณ ชินวัตร จะเดินทางกลับไทยในวันที่ 22 ส.ค.นี้
ดังนั้นทางรอดของพรรคเพื่อไทยก่อนจะส่ง "เศรษฐา ทวีสิน "แคนดิเดตเข้าชิงในวันโหวตนายกฯ จึงต้องเร่งฝีปากเจรจาทั้งในส่วนของ สว. สส. และพรรคการเมือง เพื่อขอคะแนนเสียงให้ได้มากพอ โดยต้องทำทุกอย่างให้เสร็จสรรพภายในวันที่ 21 ส.ค.นี้ ตามหลักธรรมชาติของการจัดตั้งรัฐบาล
พรรครวมไทยสร้างชาติ เป็นอีกพรรคที่ต้องจับตามองว่าจะตัดสินใจอย่างไร จะจัดตั้งรัฐบาลร่วมกับเพื่อไทยด้วยหรือไม่ แม้ว่าอำนาจการตัดสินใจจะอยู่ที่หัวหน้าพรรคและเลขาธิการพรรคก็ตาม
วิทยา แก้วภราดัย รองหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ
นายวิทยา แก้วภราดัย รองหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ ระบุว่า ภารกิจของพรรคเพื่อไทย ที่รับช่วงต่อจากพรรคก้าวไกล ในการตั้งรัฐบาล ควรทำภารกิจให้จบก่อนวันโหวตนายกฯ ไม่ใช่ไปคุยกันนอกรอบ
เวลาเหลือน้อย เพราะล็อกวันแล้วว่าเป็นวันที่ 22 ส.ค. ฉะนั้น พรรคเพื่อไทยต้องเสนอชื่อนายกฯ ที่มั่นใจว่าคนที่จะเป็นต้องตัวจริงแล้ว ครั้งเดียวจบ ส่งเข้ามาต้องผ่านทุกฝ่ายรับได้ ไม่มีสิทธิแก้ตัว เพราะกฎหมายค้ำคอไว้แล้ว
หากจะให้ดีประธานรัฐสภาควรฟังสักนิด ว่าพรรคเพื่อไทยพร้อมวันไหนค่อยนัด อย่าเพิ่งกำหนดกดดันว่าต้องเป็นวันที่ 22 ส.ค. ดังนั้น ต้องรอพรรคเพื่อไทยว่าพร้อมตกลงเลือกนายกฯ วันไหน ประธานรัฐสภาค่อยนัดทีเดียว เพราะหากไม่จบขึ้นมาจะยุ่งยากไปกันใหญ่ การเมืองจะเปลี่ยนไป ถ้าไหลจากคนที่เสนอชื่อคนแรก มาคนที่สอง คนที่สาม จะเอาอยู่หรือไม่ แล้วมันก็จะไปถึงพรรคที่ 3 อีก จึงต้องรอความพร้อมพรรคเพื่อไทย นายวิทยากล่าวเพิ่ม
สำหรับคุณสมบัติ ของนายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตของพรรคเพื่อไทย เหมาะสมในสถานการณ์นี้หรือไม่ หลังจากหลายฝ่ายออกมาวิพากษ์วิจารณ์ เป็นหน้าที่ของพรรคเพื่อไทยก็ต้องรับฟังให้รอบคอบ และรอบด้าน เพราะไม่มีโอกาสให้แก้ตัวในสภาฯ สำหรับเศรษฐา
ล่าสุดในเย็นวันเดียวกัน นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ สส.ราชบุรี และโฆษกพรรครวมไทยสร้างชาติ ได้ออกมาชี้แจงเรื่องการพูดคุยเข้าร่วมรัฐบาล คณะเจรจาของพรรคได้คุยกับคณะเจรจาเพื่อไทย อย่างเป็นทางการแล้ว เห็นพ้องว่าพรรคร่วมไทยสร้างชาติจะเข้าร่วมรัฐบาล เพื่อขับเคลื่อนประเทศ สร้างความปรองดอง และย้ำจุดยืนเดิมไม่ร่วมงานกับพรรคที่มีนโยบายแก้ไข มาตรา 112
วันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา
สำหรับกรณีการแสดงวิสัยทัศน์ของนายเศรษฐาในวันโหวตนายกฯ หรือไม่นั้น ในข้อบังคับการประชุมเพื่อเลือกนายกรัฐมนตรี ไม่ได้กำหนดไว้ว่าผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด ต้องแสดงวิสัยทัศน์ด้วย
โดย นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา ยกตัวอย่างในการเลือกนายกฯ เมื่อปี 2562 มีผู้เสนอ 2 คนตามรัฐธรรมนูญ เนื่องจากทั้ง 2 คนไม่ใช่ สส. จึงไม่ได้มาแสดงวิสัยทัศน์ แต่อย่างไรก็ตามจะหารือเรื่องนี้กับฝ่ายกฎหมายอีกครั้ง
ขณะที่พรรคก้าวไกล แม้จะมีความชัดเจนไม่โหวตนายกฯ จากรัฐบาลผสมข้ามขั้ว แต่ก็ยังสงวนท่าที "งดออกเสียง" หรือ "ไม่เห็นชอบ"
สำหรับกรณีที่มติศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ไม่รับคำร้องวินิจฉัย เสนอชื่อ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ โหวตนายกฯ รอบที่ 2 และให้คำขออื่นย่อมมีอันตกไป
เนื่องจากเห็นว่า ผู้ร้องเรียนไม่ใช่บุคคล ซึ่งถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพโดยตรง ไม่อาจใช้สิทธิยื่นคำร้องเรียนได้ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 213
ณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ รองเลขาธิการพรรคก้าวไกล
โดยนายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ รองเลขาธิการพรรคก้าวไกล ได้แสดงความคิดเห็นว่า การแสดงวิสัยทัศน์ของแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ที่จะมาทำงานให้ประชาชน 4 ปีข้างหน้า ควรให้ สส. ที่เป็นตัวแทนประชาชนได้สอบถามถึงทิศทางการบริหารประเทศ เพราะที่ผ่านเมื่อครั้งโหวตนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคก้าวไกล ก็ได้เปิดกว้างให้ สส. สอบถามถึงแนวปฏิบัติ
ส่วนญัตติที่ไม่ให้เสนอชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีซ้ำได้นั้น ข้อบังคับสภา ข้อที่ 29 ผูกโดยสภา มีปัญหาโดยสภา การที่ให้หน่วยงานภายนอกมาตัดสินนั้นพรรคก้าวไกลไม่เห็นด้วย สภาผูกก็ควรให้สภาแก้ ดังนั้น จึงอยากให้ทบทวนญัตติที่ลงมติไปแล้วสามารถทำได้
ในส่วนของพรรคเพื่อไทยเอง นายสมศักดิ์ เทพสุทิน กล่าวย้ำว่า เป็นเรื่องธรรมดาของทางการเมือง ที่นักการเมืองทุกคนอยากได้ตำแหน่งรัฐมนตรี แต่ขณะนี้ไม่สามารถตอบได้ว่า เก้าอี้รัฐมนตรีกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะอยู่กับพรรคเพื่อไทยหรือไม่ เพราะเท่าที่ทราบมีหลายพรรคการเมืองต่างจับจ้องกับเก้าอี้ตัวนี้อยู่
การหารือจัดสรรเก้าอี้รัฐมนตรีน่าจะจบภายในวันนี้ หรือ พรุ่งนี้
ต้องจับตาว่าการโหวตเลือกนายกฯ ที่คาดกันว่าจะเป็น 22 ส.ค.นี้ จะดำเนินต่อไปได้หรือไม่ เพราะพรรคก้าวไกลอาจเสนอให้มีการทบทวนมติเรื่องการเสนอชื่อพิธาซ้ำ และถ้ามีการทบทวนมติก็อาจจะทำให้เส้นทางการก้าวสู่ตำแหน่งนายกฯ คนที่ 30 ของเศรษฐาต้องสะดุดก็เป็นได้ เรียกได้ว่างานนี้พรรคเพื่อไทยเจองานหนักหืดจับรอบด้าน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :