ศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำร้องผู้ตรวจการแผ่นดิน ปมการเสนอชื่อนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เป็นนายกฯรอบ 2 หลังจากประชุมรัฐสภามีมติโดยเสียงส่วนใหญ่เห็นว่าทำไม่ได้ เพราะเป็นญัตติ ผิดข้อบังคับการประชุมรัฐสภาที่ 41 เป็นการตีตกด้วยมติเอกฉันท์ของที่ประชุมศาลรัฐธรรมนูญ ด้วยเหตุผลศาลไม่รับพิจารณา เพราะผู้ร้องไม่ใช่บุคคลซึ่งถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพโดยตรง จึงไม่อาจใช้สิทธิยื่นคำร้องได้ตามรัฐธรรมนูญ แปลว่า ศาลยังไม่ได้ชี้ขาดตัดสินข้อเท็จจริง แต่เป็นเพราะผู้ร้องขาดคุณสมบัติ
ส่งผลให้เรื่องนี้ เป็นปมปัญหาที่คาราคาซังยืดเยื้อต่อไป เนื่องจากนัยของการยื่นคำร้องครั้งนี้ ยังมีเรื่องใหญ่สอดแทรกอยู่ด้วย คือ รัฐธรรมนูญที่เป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ ถูกด้อยค่ามีศักดิ์หรือชั้นต่ำกว่าข้อบังคับการประชุมรัฐสภา จนกูรูด้านกฎหมายอย่าง ศ.กิตติคุณ บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ยังแสดงความเป็นห่วง และชี้ช่องให้มีการยื่นเรื่องเพื่อให้รัฐสภาทบทวนมติ
อ่านข่าว ศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำร้องเสนอชื่อ "พิธา" โหวตนายกฯซ้ำ
ทั้งนี้ ความคาดหมายของผู้คน รวมทั้งแฟนคลับ หรือ "ด้อมส้ม" อาจมุ่งหวังว่า นายพิธาในฐานะที่ถูกละเมิดสิทธิเสรีภาพโดยตรง เพราะถูกตัดสิทธิไม่ได้รับการเสนอชื่อเพื่อโหวตเป็นนายกฯรอบ 2 จะเป็นผู้ยื่นคำร้องเข้าไปใหม่ แต่ผิดคาด เพราะนายพิธาประกาศจะไม่ยื่นเรื่อง โดยให้เหตุผลว่า เป็นปัญหาของสภาฯ ก็ควรแก้กันที่สภาฯ
เท่ากับโยนปัญหาเผือกร้อนนี้กลับไปที่รัฐสภาให้ทางออกกันเอง เพราะไม่ใช่แค่ปมโหวตรอบ 2 ทำได้หรือไม่ แต่ยังรวมถึงประเด็นที่นักนิติศาสตร์เป็นห่วงกังวล แม้จะมีความพยายามแจกแจงว่า เป็นวิธีและอำนาจในการพิจารณาของสภา คล้ายๆกับศาลพิจารณาคดี
อ่านข่าว ศาลขยายเวลา 30 วัน ให้ "พิธา-ก้าวไกล" ยื่นคำชี้แจงคดีล้มล้างการปกครอง
อย่างไรก็ตาม ปมร้อนนี้ ไม่ใช่พาดพิงถึงมติที่ประชุมรัฐสภา เมื่อวันที่ 19 ก.ค.เท่านั้น ยังรวมถึง สส.และ สว.บางส่วนที่อภิปรายสนับสนุนว่าผิดข้อบังคับที่ 41 และพ่วงไปถึงนายวันมูหะหมัดนอร์ มะทา ประธานในที่ประชุม ที่ไม่ยอมใช้ดุลยพินิจในฐานะประธานรัฐสภา
ขณะที่นายพิธา ด้านหนึ่งอาจทำใจไว้แล้วว่า ถึงจะเดินหน้าต่ออย่างไร โอกาสจะได้เป็นนายกฯคงยากเย็นเต็มที ดังที่เคยพูดไว้หลายครั้งก่อนหน้านี้ว่า มีทำเป็นขบวนการจ้องเตะตัดขาไม่ให้เขาไปถึงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี มติรัฐสภาจึงเป็นเพียงด่านสกัดหนึ่งในหลายด่านที่ต้องเจอ
อ่านข่าว "พิธา" ไม่ยื่นศาล รธน. ปมเสนอชื่อซ้ำ ลั่นควรแก้ปัญหาที่สภา
ขณะที่เส้นทางทางการเมืองข้างหน้าของนายพิธาจากนี้ไป ปฏิเสธไม่ได้ว่าน่าหนักใจ และอาจไม่ใช่เฉพาะนายพิธาเท่านั้น ยังอาจเชื่อมโยงไปถึงพรรคก้าวไกลด้วย โดยเฉพาะด่านมาตรา 112 ที่ถูกยื่นเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวหานายพิธาและพรรคก้าวไกล กรณีเสนอร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา เพื่อยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และใช้เป็นนโยบายในการหาเสียงเลือกตั้ง และดำเนินการต่อเนื่อง เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง หรือไม่
ล่าสุด ศาลรัฐธรรมนูญขยายเวลาอีก 30 วัน สำหรับยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาเป็นครั้งที่ 2 แต่คดีนี้ มีบทลงโทษที่รุนแรงถึงขั้นยุบพรรค และเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรคตามศาลรัฐธรรมนูญเห็นสมควร
จึงเป็นด่านหินสำคัญที่สุด สำหรับทั้งคนทั้งพรรค เพราะที่ผ่านมา ประกาศยืนยันไม่ถอยโดยตลอด แม้ สว.และ สส.บางส่วน เสนอให้ถอยเรื่องนี้แลกกับผลประโยชน์ตอบแทน แต่แกนนำต่างอ้างว่า มาตรา 112 เป็นเพียงแค่ข้ออ้างหนึ่งเท่านั้น หากถอยเรื่องนี้ ก็จะถูกอ้างเรื่องนโยบายอื่น ๆ เพื่อจัดการอยู่ดี
อ่านข่าว "วันนอร์" เคาะโหวตนายกฯ 22 ส.ค. เล็งถกวิป 3 ฝ่ายปมแสดงวิสัยทัศน์
ยังไม่นับรวมเรื่องคดีทางอาญา มาตรา 151 ว่าด้วยการรู้อยู่แล้วว่าขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ แต่ยังลงสมัครรับเลือกตั้ง สส. ซึ่ง กกต.ออกเอกสารข่าวร่ายยาวชี้แจงสวนนายพิธา ปมการถือหุ้น itv ยืนยันเรื่องยังไม่ยุติ อยู่ระหว่างการไต่สวน ยังไม่เข้า กกต.ชุดใหญ่
เท่ากับหลังจากวิ่งลุยมายาวนาน ผ่านหลุมบ่อและหุบเหวมากมาย ถึงวันนี้ ทางเดินนายพิธาก็ยังพบเส้นทางขรุขระ ที่ยากลำบาก ชนิดที่ต้องลุ้นกันเหนื่อยต่อไปอยู่ดี
วิเคราะห์ : ประจักษ์ มะวงศ์สา
อ่านข่าว ที่เกี่ยวข้อง
"พิธา" ไม่ยื่นศาล รธน. ปมเสนอชื่อซ้ำ ลั่นควรแก้ปัญหาที่สภา
"วันนอร์" เคาะโหวตนายกฯ 22 ส.ค. เล็งถกวิป 3 ฝ่ายปมแสดงวิสัยทัศน์
นายกฯ คาดหวังได้รัฐบาลเร็วที่สุด ไม่รู้ทันเดือน ก.ย.นี้ หรือไม่
"วันนอร์" เคาะโหวตนายกฯ 22 ส.ค. เล็งถกวิป 3 ฝ่ายปมแสดงวิสัยทัศน์