วันนี้ (9 ส.ค.2566) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 106 กำหนดเงื่อนไขของ สส.ที่จะสามารถดำรงตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้านเอาไว้ว่า จะต้องเป็นหัวหน้าพรรคการเมืองที่มีเสียงมากที่สุดในสภา โดยที่พรรคการเมืองนั้นจะต้องไม่มีสมาชิกของพรรคไปดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี ประธานหรือรองประธานสภา
กรณีของพรรคก้าวไกล มีนายปดิพัทธ์ สันติภาดา สส.พิษณุโลก ดำรงตำแหน่งรองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1 เท่ากับว่าจะทำให้นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ไม่สามารถเป็นผู้นำฝ่ายค้านได้ พรรคก้าวไกลจึงต้องชั่งน้ำหนักระหว่าง 2 ตำแหน่ง
ขณะที่นายปดิพัทธ์ ยืนยันไม่เสียดายหรือเสียใจหากต้องสละตำแหน่ง พร้อมชี้ว่าเป็นความแปลกที่เกิดจากกลไกรัฐธรรมนูญปี 2560 และการสืบทอดอำนาจของ คสช. ที่พรรคชนะการเลือกตั้งอันดับ 1 ไม่ได้จัดตั้งรัฐบาล และไม่ได้ตำแหน่งประมุขหรือรองประมุขฝ่ายนิติบัญญัติ พร้อมย้ำว่าไม่ใช่ความผิดพลาดที่ยอมถอยตำแหน่งรองประธานสภาให้พรรคการเมืองอื่น
สส.ก้าวไกล ยื่นร่างกฎหมายเปลี่ยนประเทศเข้าสภาฯ
"ก้าวไกล" ยื่น 9 ร่างกฎหมายเปลี่ยนประเทศ
วันเดียวกัน สส.พรรคก้าวไกล ยื่นกฎหมายเปลี่ยนประเทศเข้าสภาอีก 3 ชุด รวม 9 ฉบับ ประกอบด้วย ชุดกฎหมายปลดล็อกท้องถิ่น 4 ฉบับ, ชุดกฎหมายป้องกันการทุจริต 2 ฉบับ และชุดกฎหมายโอบรับความหลากหลาย 3 ฉบับ
นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.ก้าวไกล ระบุว่า พรรคก้าวไกลเตรียมชุดกฎหมายเปลี่ยนประเทศไว้ทั้งหมด 14 ชุด สอดคล้องกับ 300 นโยบายที่พรรคได้เสนอต่อประชาชน
ส่วนร่างที่ยื่นไปก่อนหน้านี้ ได้รับแจ้งว่าจำนวน 2 จาก 7 ร่างถูกตีความว่าเป็นร่าง พ.ร.บ.เกี่ยวด้วยการเงิน ที่ต้องส่งให้นายกฯ รับรองก่อนบรรจุเข้าระเบียบวาระ ได้แก่ ร่าง พ.ร.บ.รับราชการทหาร ที่จะนำไปสู่การยกเลิกการบังคับเกณฑ์ทหาร และ ร่าง พ.ร.บ.ยกเลิก พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 ที่จะนำไปสู่การยุบ กอ.รมน. ซึ่งพรรคก้าวไกลหวังว่าจะไม่มีเหตุผลใดๆ ที่นายกฯ จะไม่รับรอง 2 ร่างดังกล่าว
อ่านข่าวอื่นๆ
"ภูมิธรรม" พร้อมขอโทษ "ก้าวไกล" ขอคุยช่วยโหวตนายกฯ
วิเคราะห์ : "ผู้นำฝ่ายค้าน" ราคาที่ "ก้าวไกล" ต้องจ่ายกับเงื่อนไขที่ต้องแลก
ฉบับเต็ม! รัฐบาลสมานฉันท์เพื่อไทยจับมือ 6 พรรค "สลายขั้วการเมือง"