วันแม่แห่งชาตินี้ นอกจากเราจะได้เห็นความรัก ความผูกพัน ของแม่ลูกสุขสันต์กันอย่างหลากหลายแล้ว แต่ทว่าบนโลกใบนี้ สันชาตญาณความเป็นแม่ ไม่ได้มีเฉพาะในมนุษย์เท่านั้น สัตว์แทบทุกชนิดบนโลกแสดงออกถึงความรักที่มีต่อลูกเพื่อการดำรงอยู่ซึ่งเผ่าพันธุ์ที่แตกต่างกันไปตามวิถีธรรมชาติ
ซึ่งสันชาตญาณความเป็นแม่อย่างแรกก็คือ การตั้งท้อง
มนุษย์ จะตั้งครรภ์ หรือ ตั้งท้องใช้เวลา 36-40 สัปดาห์ หรือราวๆ 9-10 เดือน แต่ถ้าเทียบในประเภทสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมด้วยกันเองแล้วนั้น ไทยพีบีเอสออนไลน์พบว่า "ช้าง" คือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่ตั้งท้องนานที่สุด นานถึง 22 เดือน หรือเกือบ 2 ปี ในขณะที่ "โอพอสซัม" สัตว์ตระกูลจิงโจ้ โคอาล่า คือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่ตั้งท้องเร็วที่สุด ในเวลาเพียง 12 วันเท่านั้น
อ่าน : เป็นคุณแม่ ได้สิทธิประโยชน์อะไรบ้าง
10 สัตว์ที่ตั้งท้องนานที่สุดในโลก
อันดับ 1 : ช้าง
ระยะเวลาการตั้งท้องของสัตว์แปรผันตามขนาดของตัวสัตว์ จึงไม่น่าแปลกใจถ้าสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมบนบกที่ใหญ่ที่สุดในโลกอย่าง "ช้าง" จะใช้เวลาตั้งท้องนานถึง 22 เดือน ซึ่งถือว่านานที่สุดในโลกเช่นกัน โดยช้างแอฟริกาตั้งท้องโดยเฉลี่ย 22 เดือน ในขณะที่ช้างเอเชียจะตั้งท้อง 18 ถึง 22 เดือน
ปัญหาการลดลงของประชากรช้างทวีความรุนแรงขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากวงจรการสืบพันธุ์ของช้างที่มีช่วงห่างระหว่างลูกที่ยาวถึง 3-4 ปี และมักตกลูกครั้งละ 1 ตัวเท่านั้น รวมถึงปัญหาการลักลอบค้างาช้างที่ยังระบาดในปัจจุบันอีกด้วย
อันดับ 2 : สิงโตทะเลออสเตรเลีย
สิงโตทะเลออสเตรเลียมีระยะตั้งท้องยาวนานตั้งแต่ 17 เดือนครึ่ง - 18 เดือน โดยปกติแล้วแม่สัตว์หลังจากตกลูกจะให้นมลูกจนกระทั่งหย่านม แล้วจึงพร้อมผสมพันธุ์-ตั้งท้องใหม่ แต่สำหรับแม่สิงโตทะเลออสเตรเลียนั้น หลังตกลูกแล้ว จะสามารถผสมพันธุ์อีกครั้งภายใน 7-10 วัน
ส่วนลูกสิงโตทะเลออสเตรเลีย จะใช้เวลาเรียนรู้จากแม่เป็นเวลา 15 เดือน แล้วค่อยแยกตัวออกไป
อันดับ 3 : แรด
แรดตัวเมียเริ่มเข้าสู่วัยเจริยพันธุ์เมื่อมีอายุ 4 ปีขึ้นไป และจะตั้งท้องนานถึง 15-16 เดือน ส่วนใหญ่ตกลูกครั้งละ 1 ตัวและจะให้ลูกกินนมยาวไปถึง 2 ปี ประชากรแรดป่าทุกสายพันธุ์นั้นตกอยู่ในสถานการณ์วิกฤตทั้งสิ้น โดยสายพันธุ์ "แรดชวา" ที่ใกล้สูญพันธุ์มากที่สุด
ปัจจุบัน แรดชวา มีหลงเหลืออยู่แค่ในผืนป่าของอุทยานแห่งชาติอูจุงกูลน บนเกาะชวา ประเทศอินโดนีเซีย มีจำนวนประชากรประมาณ 40 ตัว ถือว่าเป็นหนึ่งในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่หาพบได้ยากที่สุดในโลก
แรดมี 5 ชนิดในโลก ได้แก่ แรดขาว, แรดดำ, แรดอินเดีย, แรดชวา และ แรดสุมาตราหรือกระซู่ สวนสัตว์ในประเทศไทยมี "แรดขาว" อยู่หลายที่ เช่น สวนสัตว์เปิดเขาเขียว, สวนสัตว์ขอนแก่น แต่ "แรดอินเดีย" เหลืออยู่เพียงตัวเดียวชื่อ "กาลิ" อยู่ที่สวนสัตว์เชียงใหม่
อันดับ 4 : วาฬหัวทุย
วาฬหัวทุย หรืออีกชื่อหนึ่งคือ วาฬสเปิร์ม พวกมันมีหัวที่ขนาดใหญ่มาก คิดเป็นประมาณ 1 ใน 3 ของความยาวลำตัวทั้งหมด เป็น 1 ในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในทะเลที่มีการกระจายพันธุ์กว้างที่สุดในโลก พบได้ในมหาสมุทรลึกทั้งหมด ตั้งแต่เส้นศูนย์สูตรไปจนถึงอาร์กติกและแอนตาร์กติก
สถานะประชากรของวาฬหัวทุยลดลงอย่างมาก เพราะเกิดอุตสาหกรรมล่าวาฬเชิงพาณิชย์ขึ้นตั้งแต่ปี 2343-2530 (เกือบ 200 ปี) จนทำให้วาฬหัวทุยอยู่ในสถานะใกล้สูญพันธุ์
วาฬหัวทุยตัวเมียเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์เมื่ออายุ 9 ปี ตั้งท้องนานถึง 14-16 เดือน ลูกวาฬแรกเกิดมีความยาวเกือบ 4 เมตร หลังจากที่กินนมแม่ยาวถึง 1 ปีแล้วจะเริ่มกินอาหารแข็ง แต่แม่ก็ยังให้นมลูกควบคู่ไปอีกหลายปี
อันดับ 5 : ยีราฟ
ยีราฟเป็นสัตว์ที่มีความพิเศษแตกต่างสัตว์สายพันธุ์อื่นๆ คือสามารถผสมพันธุ์ได้ทุกช่วงปี ตัวเมียตั้งท้องนาน 14-15 เดือน จะตกลูกครั้งละ 1 ตัว แต่ก็มีบางกรณีที่ได้ลูกแฝด หลังจากนั้นจะเลี้ยงลูกยาวนานอีก 16 เดือนจึงพร้อมผสมพันธุ์ใหม่อีกครั้ง
เมื่อถึงเวลาหย่านม ลูกยีราฟตัวผู้จะแยกตัวออกจากแม่แล้วไปรวมฝูงกับยีราฟตัวผู้ตัวอื่น ส่วนตัวเมียจะยังคงอยู่ในฝูงต่อไป
อ่าน : รวมประโยคซึ้ง น่ารักเก็บไว้บอก "รักแม่"
10 อันดับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่ตั้งท้องนานที่สุดในโลก
อันดับ 6 : อูฐ
ด้วยสภาพแวดล้อมที่ทนได้ดีในพื้นที่ทะเลทราย ทำให้ร่างกายของอูฐมีการปรับตัวเป็นอย่างมาก กล้ามเนื้อของอูฐมีคอลเลสเตอรอลต่ำ ไขมันส่วนใหญ่ถูกเก็บไว้ที่หนอก สามารถอดน้ำได้มากถึง 2 สัปดาห์ จึงทำให้อัตราการผสมพันธุ์แล้วติดมีเพียงร้อยละ 50 และต่ำกว่านั้น
อูฐตัวเมียจะเริ่มเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์เมื่ออายุประมาณ 4-5 ปี และจะตั้งท้องนาน 13-15 เดือน อูฐหนอกเดียวส่วนใหญ่จะท้องนาน 15 เดือน ส่วนอูฐ 2 หนอกจะตั้งท้องนาน 13 เดือน
อันดับ 7 : ลา
แม้จะเป็นญาติใกล้เคียงกับ "ม้า" แต่การตั้งท้องลูกกินระยะเวลานานกว่าม้าพอสมควร ลาตัวเมียตั้งท้องนานถึง 11-14 เดือน ส่วนม้าอยู่ที่ 11-12 เดือนเท่านั้น โดยปกติ แม่ลาจะตั้งท้องลูกเพียงตัวเดียว แต่ก็มีโอกาสท้องลูกแฝดได้
การท้องลูกแฝดของลานั้น ไม่ถือว่าเป็นโอกาสที่ดีนัก เพราะแม่ลามักจะแท้งลูกก่อนคลอด หรือหากสามารถคลอดออกมาได้ ก็จะให้กำเนิดลูกที่น้ำหนักน้อย ไม่แข็งแรง แม่ลามีสันชาตญาณหวงลูกมาก จะอยู่กับลูกจนกว่าจะหย่านม แล้วจึงเข้าสู่รอบการผสมพันธุ์ครั้งต่อไป แต่หากต้องการให้แม่ลาตั้งท้องให้ไว ต้องใช้วิธีแยกลูกออกมา เพราะแม่จะเข้าสู่วงจรติดสัดภายในเวลา 7-14 วันหลังคลอด
อันดับ 8 : ม้าลาย
ม้าลายบนโลกมี 4 สายพันธุ์ ได้แก่ Cape mountain, Hartmann's mountain, Plains และ Grevy โดยเฉลี่ยตั้งท้องนาน 11-13 เดือน แต่สายพันธุ์ Grevy จะตั้งท้องนานที่สุดถึง 12-14 เดือน แม่ม้าลายส่วนใหญ่ตกลูกครั้งละ 1 ตัว แต่ก็ขึ้นชื่อเรื่องการให้กำเนิดลูกแฝดเช่นเดียวกับลา และจะมีผู้รอดชีวิตเพียงแค่ตัวเดียว
ช่วงชีวิตของม้าลายอยู่ระหว่าง 28-30 ปี แต่ด้วยสถานะห่วงโซ่อาหารที่เป็นผู้ถูกล่า ทำให้อัตราการรอดชีวิตของลูกม้าลายนั้นมีน้อยกว่าร้อยละ 50 รวมถึงอันตรายจากการล่าขนสัตว์, การทำลายที่อยู่, การสูญเสียทรัพยากรน้ำ ที่มาจากเงื้อมมือของมนุษย์ ขณะนี้ 2 สายพันธุ์ที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์คือ Grevy และ Cape Mountain
อันดับ 9 : วัวทะเล
แม้จะมีชื่อว่าวัว แต่ญาติสนิทของมันกลับเป็น "ช้าง" โดยมี พะยูน และ วัววทะเล มีวิวัฒนาการมาจากบรรพบุรุษเดียวกันเมื่อกว่า 50 ล้านปีที่แล้ว แม่วัวทะเลเมื่อตั้งท้องจะระวังตัวเองมาก ใช้เวลาตั้งท้อง 11-13 เดือน หรือประมาณ 1 ปี หลังจากที่ตกลูกออกมาแล้ว แม่วัวทะเลจะสอนลูกเกี่ยวกับการเอาตัวรอด การหลบภัย และเส้นทางการเดินทาง ในขณะที่พ่อวัวทะเลจะไม่มีหน้าที่ดูแลลูกเลย
ซึ่งระยะเวลาการเฝ้าประคบประหงมลูกของแม่วัวทะเลกินเวลานานถึง 2-5 ปี จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้การขยายพันธุ์วัวทะเลเกิดขึ้นได้ช้า และประชากรวัวทะเลมีไม่มาก
วัวทะเล (Manatee) อยู่ในน้ำจืด มีหางกลมคล้ายใบพาย
พะยูน (Dugon) อยู่ในน้ำเค็ม มีหางเหมือนพระจันทร์เสี้ยว คล้ายโลมา หรือ วาฬ
อันดับ 10 : อัลปากา
อัลปากาเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่อยู่ในวงศ์เดียวกับอูฐ ตั้งท้องทีละ 1 ตัว ระยะเวลาประมาณ 11-12 เดือน จะผสมพันธุ์ปีละครั้ง แม่อัลปากามักเลือกตกลูกช่วงกลางวัน เพื่อให้ลูกมีเวลาดูดนมน้ำเหลือให้มากพอ ก่อนช่วงเวลากลางคืนที่อากาศเริ่มเย็นลงมาถึง
ลูกอัลปากาจะกินนมแม่นานถึง 5-6 เดือน เมื่อหย่านมจะเริ่มฝึกเล็มหญ้า อัลปากาเป็นสัตว์กินพืช กินหญ้า ใบไม้ เปลือกไม้ อัลปากามีนิสัยอ่อนโยน ขี้สงสัย ชอบสำรวจ แต่ก็ขี้กลัวด้วย เป็นเหตุผลที่พวกมันรวมตัวอยู่เป็นฝูง
อัลปากา (Alpaca) หูเรียวเล็ก สูงไม่เกิน 1 เมตร ขี้อาย ชอบอยู่เป็นฝูง
ลามะ (Llama) หูยาวทรงกล้วย สูง 1.2 เมตร กล้าหาญ มั่นใจ รักอิสระ
รู้หรือไม่ : โอพอสซัม (Opossum) เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมตระกูลจิงโจ้ โคอาล่า ที่มีระยะเวลาการตั้งท้องสั้นที่สุดเพียง 12 วัน และสามารถออกลูกได้มากถึง 16 - 20 ตัว
โอพอสซัม เป็นสัตว์ที่มี ถุงหน้าท้องขนาดกลาง มีขนาดใหญ่ที่สุดเท่าแมวทั่วไป กินทั้งพืชและเนื้อเป็นอาหาร ตัวโอพอสซัมมีระบบภูมิคุ้มกันที่น่าทึ่ง สามารถต้านทานพิษงูหางกระดิ่ง และงูพิษชนิดอื่นๆ ได้
แม่โอพอสซัมให้ลูกเกาะหลัง
เนื่องจากโอพอสซัมเป็นสัตว์มีถุงหน้าท้อง มีมดลูกฝังอยู่ภายในส่วนของกระเป๋าหน้า ตัวอ่อนจะเจริญเติบโตขึ้นในรก หลังจากที่แม่โอพอสซัมตั้งท้อง 12-14 วัน ลูกโอพอสซัมที่เพิ่งเกิดใหม่ จะหาทางเข้าไปอยู่ในถุงหน้าท้องของแม่ และใช้ชีวิตในถุงหน้าท้องนั้นไปตลอดระยะเวลา 70-125 วัน จากนั้นลูกโอพอสซัมที่หย่านมจะทยอยกันออกมาเกาะอยู่บนหลังแม่ไปอีก 2 เดือน
เมื่อโอพอสซัมถูกคุกคาม จะแกล้งตาย ด้วยการอ้าปากออก แยกเขี้ยวให้เห็นฟัน มีน้ำลายฟูมปาก ดวงตาจะปิดสนิทหรือบางครั้งจะปิดครึ่งหนึ่ง ส่งของเหลวกลิ่นเหม็นจากต่อมทางทวารหนัก โอพอสซัมสามารถนอนนิ่งแกล้งตายได้นานตั้งแต่ 40 นาที - 4 ชั่วโมง
โอพอสซัมแกล้งตาย
อ่าน : "3 เมนูดอกมะลิ" มื้ออร่อย อิ่มท้อง ชื่นใจ ทำให้แม่กิน
ที่มา : BBCearth, Good Living, Rhinos.org, NOAA fisheries, Pets on mom, Treehugger