ข่าวดีลลับตั้งรัฐบาลไทยที่ฮ่องกง เมื่อดูจากข่าวหลายสำนัก และดูจากภาพประกอบข่าว มีความชัดเจนระดับหนึ่งว่า มีการเจรจาตั้งรัฐบาลไทยเกิดขึ้นจริง แต่ประเด็นที่ชวนให้ขบคิดมาก ๆ คือ ผู้ต้องขังเตรียมกลับประเทศรับโทษ กลับกลายว่ามีบทบาทเป็นผู้เจรจาตั้งรัฐบาล
ขณะที่ตัวแทนจากพรรคการเมืองที่บินไปร่วมเจรจา มีทั้งจากขั้ว 8 พรรคการเมือง และขั้วรัฐบาลเดิม สะท้อนชัดเจนว่า ไม่มีเหนียมอายหรือสงวนท่าทีกันแล้ว
แม้ในขั้วรัฐบาลเดิม จะอ้างเงื่อนไขตรงกัน คือพร้อมสนับสนุนพรรคเพื่อไทยตั้งรัฐบาล แต่ต้องไม่มีพรรคก้าวไกล และต้องไม่มีเรื่อง มาตรา 112
เท่ากับบีบให้พรรคก้าวไกลต้องถอนตัวออกจากขั้ว 8 พรรคการเมือง ด้วยเหตุผลไม่มีใครเอาด้วย แม้กูรูการเมืองส่วนหนึ่งจะตั้งข้อสังเกตว่า เป็นการยืมปากพรรคอื่นขับไล่พรรคก้าวไกล เพราะไม่กล้าเอ่ยปากเองเท่านั้น และมาตรา 112 เป็นเพียงข้ออ้างหนึ่งของสมการต้องไม่มีพรรคก้าวไกลอยู่ในสูตรตั้งรัฐบาล แต่ความจริงยังมีเหตุผลอื่นมากกว่านั้น
ขณะที่บางกระแสอ้างว่า ตัวแทนทางความคิดของพรรคก้าวไกล ยื่นเงื่อนไขพร้อมยอมถอยไม่แตะมาตรา 112 แต่สุดท้ายยังโดนรังเกียจ ย้ำเงื่อนไขเดิมไม่เอาพรรคก้าวไกลอยู่ดี
แม้คนที่ถูกระบุในข่าวว่า เป็นผู้ไปเจรจา ยังไม่ได้ออกมาพูดยอมรับหรือปฏิเสธเรื่องนี้ เพราะด้านหนึ่งอาจเกรงจะผลกระทบถึงมวลชน หากยอมรับว่า ยอมถอย มาตรา 112 และอีกด้านหนึ่ง อาจรู้อยู่แล้วว่า ถึงอย่างไร ก็ต้องถูกดีดให้ออกจากสมการอยู่แล้ว จึงอยู่นิ่ง ๆ จะดีกว่า
ส่วนพรรคการเมืองอื่น ๆ ใช่ว่าจะราบรื่น เพราะแต่ละพรรค มีเงื่อนไขการร่วมงานกับพรรคอื่น ทั้งยังมีปมหาเสียงผูกมัดคอตัวเองไว้ แม้แต่พรรคเพื่อไทย ที่ประกาศไม่ร่วมรัฐบาลกับพรรค 2 ลุง
ดังนั้น จึงสุ่มเสี่ยงต่อ “งานเข้า” และ “ทัวร์ลง” ยังไม่นับต้องจ่ายต้นทุนที่มีราคาแพงมาก ๆ หากตั้งรัฐบาลแล้วไม่มีพรรคก้าวไกลอยู่ในสมการ
ขณะเดียวกัน การประกาศไม่วางมือทางการเมือง แถมยังกอดเก้าอี้หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐแน่น ขอเป็นร่มโพธิ์ร่มไทรให้ลูกพรรคต่อไปของ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ยังส่งผลกระเพื่อมไปยังพรรคเพื่อไทยอีกดอกใหญ่ เพราะเดิมทีสเปกที่กำหนดไว้ สำหรับการดึงพรรค 2 ลุง มาร่วมรัฐบาลด้วย คือต้องไม่มี 2 ลุงอยู่ในพรรค
แม้จะเปลี่ยนเลขาธิการพรรคกลับไปเป็น ร.อ.ธรรมมนัส พรหมเผ่า ซึ่งเคยช่วยงานคนแดนไกลมาตั้งแต่สมัยพรรคไทยรักไทย และยังเปิดตัว พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีตผบ.ตร. ที่เคยถูกพาดพิงว่าจะเป็น ป.คนที่ 4 ช่วงก่อนหน้านี้ ให้เป็นประธานที่ปรึกษาพรรค ที่สำคัญเป็นคนที่มีคอนเนคชั่นในระดับดีมาก ๆ กับคนแดนไกล
เท่ากับบีบให้พรรคเพื่อไทย ต้องตัดสินใจยากลำบากแน่ ๆ ว่า จะเดินหมากการเมืองต่อไปอย่างไร เพราะหากยังเป็นมัดข้าวต้มอยู่กับพรรคก้าวไกลต่อไป เสียง สว.และ สส.ขั้วฝ่ายรัฐบาลเดิม ก็จะไม่โหวตให้ ไม่ว่าจะเสนอใครมา ไม่ว่าจะเป็นนายเศรษฐา ทวีสิน หรืออุ๊งอิ๊งค์ แพทองธาร ชินวัตร
แต่ในอีกด้านหนึ่ง ก็ถูกมองได้ว่า เป็นกลยุทธ์สำคัญของ “บิ๊กป้อม” ที่หวังให้การตั้งรัฐบาลต้องลากยาวออกไป จนถึงคิวพรรคอันดับ 3 คือ พรรคภูมิใจไทยหรือเปล่า
แม้ล่าสุดจะมีข่าววงในว่า ดีลตั้งรัฐบาลลงตัวแล้ว สอดคล้องกับที่นายชูวิทย์ กมลวิศิษฐ์ โพสต์ข้อความล่าสุด ใช้สูตรสลับไพ่ล้างขั้ว และดีดพรรคก้าวไกลไปเป็นฝ่ายค้านสมใจ แต่สถานการณ์อาจพลิกผัน ไม่ลงตัวอีกก็เป็นได้ จนกว่าจะถึงวันโหวต 4 สิงหาคม หากไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง
อาจเป็นการตัดสินใจ ที่พรรคเพื่อไทยต้องแลกด้วยต้นทุนที่มหาศาล หากจะสลัดพรรคก้าวไกลออกไปจากพันธมิตรตั้งรัฐบาล เพื่อจับมือกับขั้วรัฐบาลเดิม
หรือจะเลือกทางที่ 3 ประสานทั้ง 2 ขั้ว ตั้งรัฐบาลแห่งชาติ ผลักบางพรรคแบบเล็ก ๆ ไปเป็นฝ่ายค้านพอเป็นพิธี เพื่อหวังลดแรงกดดันช่วงต้นๆ แต่ในทางปฏิบัติ อาจยิ่งกระตุ้นอารมณ์ความไม่พึงพอใจของผู้คน ให้คุโชนยิ่งขึ้นก็เป็นได้
วิเคราะห์ : ประจักษ์ มะวงศ์สา