จากกรณีเหตุโกดังเก็บพลุ ดอกไม้ไฟระเบิด ในพื้นที่ตลาดมูโนะ ต.มูโนะ อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส ในช่วงเย็นวันที่ 29 ก.ค.ที่ผ่านมา แรงระเบิดทำให้พื้นที่โดยรอบเสียหายอย่างหนัก ทั้งร้านค้า และบ้านเรือนกว่า 200 หลัง เหตุการณ์ครั้งนี้เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 12 คน บาดเจ็บอีกกว่า 100 คน
ส่วนสาเหตุระเบิดเบื้องต้น ผบก.ภ.จว.นราธิวาส เปิดเผยว่า เกิดจากการเชื่อมเหล็กในโกดังเก็บประทัด แล้วเปลวไฟได้กระเด็นไปติดกล่องกระดาษเก็บดอกไม้เพลิง ที่ตั้งกองสุมไว้เป็นกองใหญ่ จนเกิดระเบิดขึ้น และคาดว่าช่างที่เข้าต่อเติมโกดังทั้งหมด 5 คน เสียชีวิตทันที
โกดังพลุระเบิด จ.นราธิวาส
อ่านข่าว : โกดังพลุระเบิดตลาดมูโนะ นราฯ เสียชีวิตเพิ่มเป็น 9 เจ็บ 115 คน
ขอภาครัฐเข้มโกดัง-โรงงานที่จัดเก็บสารเคมี ป้องกันเหตุซ้ำ
รศ.ดร.ดร.วีรชัย พุทธวงศ์ หรือ อาจารย์อ๊อด อาจารย์ประจำภาควิชาเคมี คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า เหตุการณ์ลักษณะนี้ไม่ได้เกิดขึ้นครั้งแรกพบในหลายพื้นที่ทั้งที่ จ.เชียงใหม่, จ.ลำพูน สาเหตุหลัก ๆ คือตัวดินประสิว หรือ ดินปืน หรือ โพแทสเซียมไนเตรต ที่ใช้ทำตัวจุดระเบิดของพลุที่มีการสต๊อกไว้จำนวนมาก นอกจากนี้ยังมีสารที่ให้สีที่นำมาผสมเพื่อทำเป็นพลุ โดยสารเคมีแต่ละชนิดจะให้สีสันต่าง ๆ กัน ซึ่งสารเหล่านี้มีความไวไฟมาก โดยเฉพาะโพแทสเซียมไนเตรตที่ถือว่าเป็นวัตถุอันตรายที่ใช้ในการทำวัตถุระเบิด ซึ่งหลักการของโรงงานทำพลุดอกไม้ไฟ หรือโรงงานที่ทำสารที่มีการระเบิดได้จะต้องอยู่ห่างไกลแหล่งชุมชน
ครั้งนี้เป็นอีกหนึ่งเหตุการณ์ที่ทำให้หน่วยงานภาครัฐต้องเข้ามากำชับ โรงงานทำพรุ ผลิตพลุหรือวัตถุไวไฟ ในการจัดเก็บโพแทสเซียมไนเตรตอย่างรัดกุมเพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำขึ้นมาอีก ขอให้เรื่องนี้เป็นอุทาหรณ์ และบทเรียนและเป็นเหตุการณ์ครั้งสุดท้าย
รศ.ดร.ดร.วีรชัย พุทธวงศ์ อาจารย์ประจำภาควิชาเคมี คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์
รู้จักพลุดอกไม้ไฟ
ดอกไม้ไฟ หรือพลุ เป็นสิ่งประดิษฐ์ในลักษณะของวัตถุระเบิดชนิดหนึ่งที่ออกแบบมาให้สามารถควบคุมการระเบิดและปรากฏให้เห็นเป็นสีสัน มีรูปแบบที่แตกต่างกัน ได้แก่ แสง เสียง ควัน และวัสดุลอยตัว
ดอกไม้ไฟที่สวยงาม มีรูปทรงและสีสันตามต้องการ จะต้องมีส่วนผสมทางเคมีที่เหมาะสมเพื่อการเผาไหม้ในอุณหภูมิและเวลาที่เหมาะสม โดยส่วนผสมทางเคมีที่สำคัญมีอยู่ด้วยกัน 6 ชนิดได้แก่ สารออกซิไดซ์ สารรีดิวซ์ เชื้อเพลิง สารสี สารควบคุมความเร็วในการเผาไหม้ และสารยึดเกาะ นอกจากนี้ยังมีสารที่ให้คุณสมบัติพิเศษอื่น ๆ อย่างแมกนีเซียมที่ให้แสงสว่าง พลวงให้แสงแวววาวระยิบระยับ เป็นต้น
ดอกไม้ไฟที่ระเบิดทางอากาศมีส่วนประกอบที่สำคัญด้วยกัน 4 ส่วนหลัก ๆ ดังนี้
- Lift charge หรือส่วนของฐาน (หรือส่วนของหาง) เป็นแท่งไม้ตรงหรือแท่งพลาสติกยื่นออกมาจากด้านล่างของตัวพลุ ทำหน้าที่นำดอกไม้ไฟขึ้นสู่ท้องฟ้าในทิศทางที่เป็นเส้นตรงก่อนการระเบิดกลางอากาศ
- Fuse หรือชนวนหน่วงเวลา เป็นส่วนเริ่มต้นในการเผาไหม้ในส่วนหลักของดอกไม้ไฟ ซึ่งจะทำหน้าที่หน่วงเวลาเพื่อให้ดอกไม้ไฟระเบิดที่ระดับความสูงที่ต้องการ
- Burst charge หรือเชื้อปะทุระเบิด มักประกอบไปด้วยดินปืนอย่างหยาบที่อัดแน่นอยู่ภายในตัวของดอกไม้ไฟ ซึ่งดินปืนที่ใช้ทำดอกไม้ไฟส่วนใหญ่จะเป็นโพแทสเซียมไนเตรตร้อยละ 75 รวมกับถ่านกัมมันต์ร้อยละ 15 และกำมะถันร้อยละ 10 แต่สำหรับดอกไม้ไฟในปัจจุบันอาจมีการใช้ส่วนผสมอื่น ๆ หรือสารเคมีอื่นแทน
- Star หรือส่วนให้สี ซึ่งส่วนประกอบไปด้วยสารเคมีชนิดต่างๆ ผสมกับดินปืน พร้อมสำหรับการเกิดปฏิกิริยาหลังการระเบิด ได้เป็นสีสันของดอกไม้ไฟ
ปฏิกิริยาเคมีของพลุไฟ
ทำความเข้าใจกลไกที่ทำให้ พลุหรือดอกไม้ไฟ มีสีและแสงที่แตกต่าง ประกอบด้วยสารเคมีหลายชนิด
พลุหรือดอกไม้ไฟถูกอัดด้วย ดินประสิว (โพแทสเซียมไนเตรต, KNO3) ผสมกับกำมะถัน และยังมีส่วนประกอบอื่น ๆ ด้วย และส่วนประกอบเหล่านี้เองที่ทำให้พลุมีประกายไฟที่มีสีสัน
ดินปืน คือส่วนผสมหลักของพลุ รวมถึงเม็ดดาวที่เป็นก้อนกลมเล็ก ๆ ของเกล็ดสารประกอบซึ่งเมื่อลุกไหม้จะให้แสงสีต่างๆ เช่น สีขาว สีแดง สีเหลือง สีเขียว และสีน้ำเงิน ซึ่งเป็นกลไกและปฏิกิริยาเคมีที่เกิดขึ้นภายในของพลุ ขณะที่การทำพลุแต่ละลูกมีความซับซ้อนและใช้เวลา เพื่อสร้างความตื่นตาตื่นใจให้แก่ผู้ชม เป็นสาเหตุว่าทำไมพลุบางลูกถึงมีราคาสูงถึงหลักแสนหรือล้าน
หลักการเกิดปฏิกิริยาเคมีของพลุไฟนั้น เมื่อจุดไฟที่ชนวนของพลุแล้ว ไฟจะลุกไหม้กระทั่งไปถึงดินปืน เมื่อโพแทสเซียมไนเตรตในดินปืนได้รับความร้อนก็จะปลดปล่อยออกซิเจนออกมา และทำให้ไฟติด เกิดการเผาไหม้และแรงปะทุส่งให้ไส้พลุพุ่งทะยานขึ้นสู่ท้องฟ้า
ขณะที่ไส้พลุเดินทางขึ้นสู่ท้องฟ้า ชนวนควบคุมเวลาการระเบิดจะเกิดการเผาไหม้ เมื่อสัมผัสกับส่วนผสมต่าง ๆ ภายในไส้พลุ และระเบิดออก ทำให้เม็ดดาวแตกกระจายให้สีสันอย่างที่เห็นบนท้องฟ้า
สารเคมีแต่ละชนิดจะให้สีสันต่าง ๆ กัน เช่น
- สตรอนเชียมคาร์บอเนต (SrCO3) ให้ สีแดง
- ลิเทียมคาร์บอเนต (Li2CO3) ให้ สีแดง
- แบเรียมคลอเรต (BaClO3) ให้ สีเขียว
- คอปเปอร์ซัลเฟต (CuSO4) ให้ สีฟ้า
- แคลเซียมคาร์บอเนต (CaCO3) ให้ สีเหลือง
- โซเดียมออกซาเลต (Na2C2O4) ให้ สีเหลือง
- แคลเซียมคลอไรด์ (CaCl2) ให้ สีส้ม
ขณะที่ สีสันที่เห็นจากดอกไม้ไฟเกิดจากสารเคมีที่อยู่ในส่วนให้สี โดยสารประกอบโลหะแต่ละชนิดจะมีการปลดปล่อยแสงสีที่แตกต่างกันเมื่อได้รับความร้อน ดังนี้
- สีเหลือง – โซเดียม การเผาไหม้ของโซเดียมจากความร้อนจะทำให้เกิดการระเบิดสีเหลืองที่สดใส
- แสงสีแดง – โลหะสตรอนเชียม สตรอนเซียมถูกนำมาใช้ในหน้าจอแก้วของโทรทัศน์สีรุ่นเก่า เพราะมันจะช่วยป้องกันรังสีเอกซ์ที่จะมากระทบคนดู ถึงแม้ว่าตัวของสารจะเป็นสีเหลือง แต่เวลาเผาไหม้มันกลับให้สีแดงแทน
- สีเขียว – โลหะแบเรียม พลุดอกไม้ไฟสีเขียวส่วนใหญ่ทำมาจากแบเรียมไนเตรทซึ่งเป็นพิษต่อการสูดดมดังนั้นสารนี้จึงไม่นิยมใช้สำหรับสิ่งอื่น ๆ
- สีน้ำเงิน – ทองแดง เฉดสีน้ำเงินถือเป็นความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ของการผลิตพลุดอกไม้ไฟ เพราะมันมีข้อจำกัดด้านฟิสิกส์และเคมี และต้องมีอุณหภูมิที่แม่นยำจึงจะทำให้เกิดเฉดสีน้ำเงินบนท้องฟ้า
- สีขาว – อะลูมิเนียม หรือแมกนีเซียม องค์ประกอบทางเคมีเหล่านี้มีอุณหภูมิการเผาไหม้ที่สูงที่สุด และการเพิ่มสารที่สร้างสีขาวนี้กับสีอื่น ๆ ก็จะทำให้เกิดเฉดสีที่อ่อนลง
สีของพลุ
ข้อมูลอ้างอิง สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.)
สารเคมีแต่ละชนิดมีคุณสมบัติที่แตกต่างหากมีการรวมไว้จำนวนมากจึงอาจเกิดเป็นหายนะหรือโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ได้ การควบคุมและป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ที่ได้รับผลกระทบต่อชุมชนวงกว่าจึงต้องรัดกุม
เหตุการณ์ที่ จ.นราธิวาสครั้งนี้เป็นอีกหนึ่งเหตุการณ์ ย้อนกลับไปเมื่อ 24 ก.ค. ที่ผ่านมา เกิดเหตุการณ์โกดังเก็บพลุและดอกไม้ไฟระเบิด ในพื้นที่บ้านสันทุ่งใหม่ ต.สันปูเลย อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ มีบ้านกว่า 30 หลังได้รับความเสียหาย บาดเจ็บ 10 คน จนมีการหยิบยกประเด็นการจัดพื้นที่วัตถุอันตรายประเภทพลุ ดอกไม้ไฟ ว่าสมควรอยู่ใกล้กับชุมชนหรือไม่
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
คืบ! โกดังพลุระเบิด นราฯ ตาย 9 สาหัส 15 บ้านยับ 200 หลัง เร่งช่วย ปชช.