"อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ" จ.เพชรบูรณ์ อยู่ห่างจากตัวเมืองเพชรบูรณ์ 107 กิโลเมตร ห่างจาก อ.วิเชียรบุรี 25 กิโลเมตร ข้อมูลจากเว็บไซต์วีกิพีเดีย https://th.wikipedia.org/ ระบุว่า
อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ มีเนื้อที่ประมาณ 2,000 ไร่เศษ มีกำแพงเมืองที่ก่อด้วยดินล้อมรอบ และมีคูเมืองนอกกำแพง มีประตูเมืองทั้งสี่ทิศ ภายในเมืองมีปรางค์สมัยลพบุรีอยู่สององค์ เรียกว่า ปรางค์องค์พี่และปรางค์องค์น้อง
ทางทิศเหนือนอกกำแพงเมืองออกไปมีสระน้ำสองแห่ง ชื่อสระแก้วและสระขวัญ ในสมัยก่อนเมืองศรีเทพ ต้องส่งส่วยน้ำจากสระทั้งสองนี้ เพื่อนำไปใช้ทำน้ำพระพิพัฒน์สัตยา เพราะถือว่าเป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์
"ศรีเทพ" เป็นอุทยานประวัติศาสตร์ หนึ่งในสิบแห่งของประเทศไทย จัดตั้งขึ้นโดยกรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม เมื่อปี 2527
ด้วยความสำคัญของโบราณสถาน ที่มีความแตกต่างหลากหลาย ในภูมิภาคนี้ ทำให้มีหลายองค์กรเข้ามาศึกษา เพื่อเติมข้อมูลให้กับอุทยานประวัติศาสตร์แห่งนี้ ทั้งยังมีความพยายามของรัฐบาล ที่พยายามผลักดันให้ "ศรีเทพ" เป็นมรดกโลกด้วย
ชื่อ “ศรีเทพ” เป็นการอนุโลมตามพระวินิจฉัยของ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ พระบิดาแห่งวิชาประวัติศาสตร์และโบราณคดีไทย ที่ได้ทรงสันนิษฐานไว้ในคราวเสด็จตรวจราชการมณฑลเพชรบูรณ์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยในปี 2447
พื้นที่ตั้งอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ นับเป็นแหล่งอารยธรรมที่สำคัญแห่งหนึ่งของประเทศไทยปัจจุบัน เนื่องจากยังปรากฏร่องรอยหลักฐาน สะท้อนให้เห็นถึงการตั้งถิ่นฐานอยู่อาศัยของมนุษย์ที่มีมาอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมทวารวดีและเขมรตามลำดับ รวมระยะเวลาที่มีความเจริญรุ่งเรืองถึงกว่า 800 ปี
ปรางค์ศรีเทพ
ก่อนที่จะถูกทิ้งร้างไปด้วยสาเหตุโรคระบาดร้ายแรง หรือปัญหาภัยแล้งประการใดประการหนึ่งหรือทั้งสองประการ ในราวปลายพุทธศตวรรษที่ 18-ต้นพุทธศตวรรษที่ 19 อันเป็นช่วงก่อนที่วัฒนธรรมสุโขทัยและอยุธยาจะเจริญรุ่งเรืองขึ้นมาแทนที่ ในบริเวณลุ่มแม่น้ำป่าสัก และมีการพัฒนาการตั้งถิ่นฐานอยู่อาศัยอย่างต่อเนื่อง มาจนเท่าถึงปัจจุบัน
บริเวณอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพในปัจจุบัน ประกอบด้วย 2 ส่วน
ส่วนแรกเป็นพื้นที่ในส่วนเมืองโบราณศรีเทพ มีพื้นที่ทั้งหมด 2,887 ไร่ หรือ 4.7 ตารางกิโลเมตร มีลักษณะเป็นเมืองที่มีคูน้ำคันดินล้อมรอบ แบบเมืองในวัฒนธรรมทวารวดี ที่ยังสามารถรักษารูปแบบแต่เดิมไว้ได้อย่างสมบูรณ์มากที่สุด โดยไม่ถูกเปลี่ยนแปลงแห่งหนึ่งของประเทศไทย
แบ่งพื้นที่ภายในเป็น 2 เมือง ที่นับได้ว่าเป็นลักษณะพิเศษเฉพาะ ที่พบไม่มากนักในเมืองร่วมสมัยเดียวกัน ที่ค้นพบในปัจจุบัน โดยเมืองในมีพื้นที่ประมาณ 1,300 ไร่ เป็นเมืองรูปเกือบกลมที่มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1.5 กิโลเมตร มีช่องประตูเมือง 6 ช่องทาง และมีโบราณสถาน ซึ่งได้รับการขุดแต่งและบูรณะแล้วทั้งหมดประมาณ 40 แห่ง
เขาคลังใน (ภาพจากเพจ อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ)
อันมีโบราณสถานเขาคลังใน โบราณสถานปรางค์สองพี่น้อง และโบราณสถานปรางค์ศรีเทพเป็นกลุ่มโบราณสถานสำคัญ รวมทั้งมีสระน้ำและหนองน้ำขนาดใหญ่จนถึงเล็กกระจัดกระจายอยู่ทั่วไปประมาณ 70 สระ
ในขณะที่ “เมืองนอก” มีพื้นที่ 1,589 ไร่ เป็นเมืองรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าต่อออกไปทางด้านทิศตะวันออกของเมืองใน มีช่องประตูเมือง 6 ช่องทาง และมีโบราณสถาน ซึ่งส่วนใหญ่มีขนาดเล็กและยังไม่ได้มีการขุดแต่งและบูรณะทั้งหมดประมาณ 54 แห่ง รวมทั้งมีสระน้ำขนาดใหญ่จนถึงเล็กกระจัดกระจายอยู่ทั่วไปประมาณ 30 แห่ง มีสระขวัญเป็นสระน้ำสำคัญที่มีขนาดใหญ่ และตั้งอยู่กลางเมือง
ส่วนที่สองเป็นพื้นที่ที่อยู่นอกเมืองโบราณศรีเทพ ซึ่งเท่าที่สามารถสำรวจได้ในปัจจุบัน มีโบราณสถานที่ยังมิได้มีการขุดแต่งและบูรณะประมาณ 50 แห่ง และส่วนใหญ่ตั้งอยู่ทางด้านทิศเหนือของเมืองโบราณศรีเทพ
โดยมีโบราณสถานเขาคลังนอก ที่เป็นสถาปัตยกรรมเนื่องในวัฒนธรรมทวารวดีเช่นเดียวกันกับโบราณสถานเขาคลังใน และโบราณสถานปรางค์ฤาษี ที่เป็นสถาปัตยกรรมเนื่องในวัฒนธรรมเขมรเช่นเดียวกันกับโบราณสถานปรางค์สองพี่น้องและโบราณสถานปรางค์ศรีเทพ เป็นโบราณสถานสำคัญ
ภาพจากเพจ อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ
นอกจากนั้น บริเวณนอกเมืองโบราณศรีเทพ มุ่งหน้าไปทางด้านทิศตะวันตก ประมาณ 20 กิโลเมตร ยังมีโบราณสถานที่ถ้ำเขาถมอรัตน์ เป็นภาพสลักบนผนังถ้ำ เป็นรูปพระพุทธรูป และพระโพธิ์สัตว์ ที่สร้างขึ้นตามความเชื่อของพุทธศาสนาลัทธิมหายานเนื่องในวัฒนธรรมทวารวดี ราวพุทธศตวรรษที่ 14 อันมีความเกี่ยวพันที่ใกล้ชิดกับคติความเชื่อของผู้คนในเมืองโบราณศรีเทพในช่วงเวลาเดียวกันอีกด้วย
ส่วนภายในบริเวณอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ ยังมีสถานที่น่าสนใจอีกหลายแห่ง เช่น อาคารหลุมขุดค้นทางโบราณคดี เป็นอาคารจัดแสดงโครงกระดูกมนุษย์และโครงกระดูกช้าง ที่ได้จากการขุดค้นทางโบราณคดีเมื่อปี พ.ศ.2531
โดยโครงกระดูกมนุษย์และสิ่งของเครื่องใช้ที่พบร่วมกันนี้ เป็นหลักฐานสำคัญที่สะท้อนให้เห็นถึงการตั้งถิ่นฐานของชุมชนในระยะแรกเริ่ม สมัยก่อนประวัติศาสตร์ภายในเมืองโบราณศรีเทพที่มีมากว่า 2,000 ปี
ในบริเวณหลุมขุดค้นที่พบโครงกระดูกมนุษย์
ก่อนที่จะมีการพัฒนาขึ้นมาเป็นสังคมเมือง โดยการรับวัฒนธรรมทวารวดีและเขมรตามลำดับ ส่วนโครงกระดูกช้างนั้น นับเป็นหลักฐานสำคัญประการหนึ่ง ที่สะท้อนให้เห็นถึงความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับการใช้สอยโบราณสถาน เนื่องในวัฒนธรรมทวารวดีสืบเนื่องมาถึงวัฒนธรรมเขมรในทางใดทางหนึ่ง เนื่องจากมีการพบอยู่ในระดับเดียวกัน กับฐานโบราณสถานชั้นล่างสุด
ปรางค์สองพี่น้อง เป็นสถาปัตยกรรมเนื่องในวัฒนธรรมเขมร มีลักษณะเป็นปราสาทที่ก่อด้วยอิฐสององค์ ตั้งอยู่บนฐานศิลาแลงเดียวกัน หันหน้าไปทางทิศตะวันตก ทั้งสององค์ส่วนยอดพังทลายไปจนหมดสิ้นแล้ว แต่องค์เล็กยังหลงเหลือทับหลังศิลาทราย ที่มีสภาพสมบูรณ์ประดับอยู่จำหลักเป็นรูปอุมามเหศวร (พระอิศวรอุ้มนาง ปารพตี (อุมา) ประทับนั่งอยู่เหนือโคอศุภราชหรือนนทิ)
พระปรางค์สองพี่น้อง
จากลักษณะทางสถาปัตยกรรมและโบราณวัตถุที่พบ ทำให้อนุมานได้ว่า ปรางค์สองพี่น้องนี้คงสร้างขึ้น เพื่อเป็นเทวาลัยเนื่องในศาสนาฮินดู (พราหมณ์) ลัทธิไศวนิกายในราวพุทธศตวรรษที่ 17 แล้วต่อมาจึงได้ถูกเปลี่ยนแปลงเป็นศาสนสถาน เนื่องในพุทธศาสนาลัทธิมหายานในรัชสมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 (พ.ศ.1724-1760)
บริเวณทางเดินรูปกากบาท ด้านหน้าปรางค์สองพี่น้อง ที่ต่อเชื่อมกับทางเดินโบราณ มีการค้นพบเทวรูปพระอาทิตย์หรือสุริยเทพ ผู้เป็นเทพแห่งแสงสว่างและความอบอุ่น สลักจากศิลาทราย ที่มีกำหนดอายุอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ 13 ซึ่งเมื่อนับรวมกับที่เคยพบมาก่อนแล้วอีก 5องค์ ทำให้มีการพบทั้งหมดถึง 6 องค์
ซึ่งทั้งหมดมีกำหนดอายุอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ 12-13 (ปัจจุบันจัดแสดงและเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร กรุงเทพมหานคร 3 องค์ จัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์นอร์ตัน ไซมอน สหรัฐอเมริกา 1 องค์ จัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สมเด็จพระนารายณ์ จ.ลพบุรี 1 องค์ และเก็บรักษาไว้ที่อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ 1 องค์)
เทวรูป (ภาพจากเพจ อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ)
นับเป็นหลักฐานสำคัญ ที่สะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อในศาสนาฮินดูที่เคารพนับถือในพระอาทิตย์หรือสุริยเทพ อันจะมีพิธีกรรมบางอย่างที่เกี่ยวเนื่องกับประเพณีมหาสงกรานต์ที่มีการพบเพียงแห่งเดียวในประเทศไทยปัจจุบัน
ปรางค์ศรีเทพ เป็นสถาปัตยกรรมเนื่องในวัฒนธรรมเขมร มีลักษณะเป็นปราสาทที่ก่อด้วยอิฐตั้งอยู่บนฐานศิลาแลงขนาดใหญ่ หันหน้าไปทางด้านตะวันตก ในแนวแกนเดียวกับปรางค์สองพี่น้อง
จากลักษณะทางสถาปัตยกรรมและโบราณวัตถุที่พบ โดยเฉพาะทับหลังทำให้อนุมานได้ว่า คงสร้างขึ้นเพื่อเป็นเทวาลัยเนื่องในศาสนาฮินดู (พราหมณ์) ลัทธิไศวนิกายในราวพุทธศตวรรษที่ 16-17
ต่อมาคงมีการพยายามซ่อมแซมดัดแปลง แต่ยังไม่แล้วเสร็จ เพื่อใช้เป็นศาสนสถาน เนื่องในพุทธศาสนาลัทธิมหายานในรัชสมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 (พ.ศ.1724-1760) เช่นเดียวกันกับปรางค์สองพี่น้อง เนื่องจากมีการพบชิ้นส่วนสถาปัตยกรรม ที่เป็นเพียงโกลนอยู่เป็นจำนวนมาก
เขาคลังใน เป็นศาสนสถานสำคัญประจำเมือง ที่มีขนาดใหญ่เนื่องในวัฒนธรรมทวารวดี ที่สร้างขึ้นพร้อมกับสมัยแรกสร้างเมือง ในราวพุทธศตวรรษที่ 12 เพื่อเป็นศาสนสถานเนื่องในพุทธศาสนาลัทธิหินยานหรือเถรวาท
โบราณสถานเขาคลังใน ขณะขุดแต่งทางโบราณคดีปี พ.ศ. 2533-2534 (ภาพจากเพจ อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ)
ต่อมาจึงปรับเปลี่ยนเป็นศาสนสถาน เนื่องในพุทธศาสนาลัทธิมหายาน ในราวพุทธศตวรรษที่ 14 และคงใช้สอยตลอดมา จนกระทั่งเมืองถูกทิ้งร้างไปในราวพุทธศตวรรษที่ 18 มีลักษณะก่อด้วยศิลาแลง หันหน้าไปทางด้านทิศตะวันออก
บริเวณฐานด้านทิศใต้และตะวันตกยังหลงเหลือประติมากรรมปูนปั้นรูปคนแคระ ที่มีศีรษะเป็นบุคคลหรือสัตว์ต่าง ๆ สลับกับรูปสัตว์ในท่าแบกประกอบลายพันธ์พฤกษา ซึ่งพบและหลงเหลือประดับอยู่ที่ฐานโบราณสถาน เนื่องในวัฒนธรรมทวารวดีเพียงแห่งเดียวในประเทศไทยปัจจุบัน
ศาลเจ้าพ่อศรีเทพ เป็นที่ประดิษฐานของเจ้าพ่อศรีเทพ ซึ่งเป็นที่เคารพเชื่อถือของชาว อ.ศรีเทพและบริเวณใกล้เคียงเป็นอย่างมาก โดยจะมีการจัดงานประเพณีบวงสรวงขึ้นทุกปีในระหว่างวันขึ้น 2-3 ค่ำ เดือน 3 (ประมาณปลายเดือนมกราคม-ต้นเดือนกุมภาพันธ์)
เดิมศาลนี้จะตั้งอยู่นอกคันดินเมืองโบราณศรีเทพ ต่อมาย้ายมาตั้งในบริเวณด้านในประตูแสนงอน (ประตูด้านทิศตะวันตก) ทางเข้าอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพในปัจจุบัน ตัวศาลมีลักษณะเป็นอาคารไม้ทรงไทยสองหลัง อาคารด้านหน้าใช้เป็นที่ประดิษฐานเจ้าพ่อศรีเทพ ส่วนอาคารด้านหลังใช้เป็นอาคารเอนกประสงค์สร้างขึ้นเมื่อปี 2545
(ภาพจากเพจ อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ)
สำหรับองค์เจ้าพ่อนั้นเดิม ใช้ประติมากรรมรูปเคารพที่ได้จากเมืองโบราณศรีเทพมาประดิษฐานเป็นองค์สมมติ ต่อมาประมาณปี พ.ศ.2514-2515 องค์เจ้าพ่อถูกโจรกรรมไป ประชาชนที่เคารพนับถือจึงได้แกะสลักองค์เจ้าพ่อขึ้นใหม่ตามจินตนาการและความเชื่อ เพื่อใช้เป็นรูปเคารพประจำศาลเจ้าพ่อศรีเทพสืบมาจนเท่าถึงปัจจุบัน
นอกจากนี้บริเวณด้านนอกเมืองยังมีโบราณสถานที่มีคุณค่าและน่าสนใจอีก 2 แห่ง ได้แก่ เขาคลังนอก เป็นศาสนสถานขนาดใหญ่เนื่องในวัฒนธรรมทวารวดี ตั้งอยู่นอกเมือง ห่างออกไปราว 2 กิโลเมตร
สันนิษฐานว่า มีลักษณะเป็นมหาสถูป มีฐานขนาดใหญ่ทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัส ก่อด้วยศิลาแลงที่ยังคงสภาพค่อนข้างสมบูรณ์ ประดับตกแต่งฐานด้วยอาคารจำลองขนาดต่าง ๆ อยู่โดยรอบ ภายในทึบตัน มีบันไดทางขึ้นทั้ง 4 ด้าน มีสถูปก่อด้วยอิฐตั้งอยู่ด้านบนล้อมรอบด้วยกำแพงแก้วและซุ้มประตู
สันนิษฐานว่า น่าจะมีอายุร่วมสมัยกับโบราณสถานเขาคลังในที่ตั้งอยู่ภายในเมือง คือ ราวพุทธศตวรรษที่ 13-14 ถือได้ว่าเขาคลังนอกเป็นศาสนสถานที่มีขนาดใหญ่ และสมบูรณ์มากที่สุดในบรรดาศาสนสถานที่ร่วมสมัยเดียวกัน
ปรางค์ฤาษี ตั้งอยู่นอกเมืองศรีเทพ ห่างออกไปราว 3 กิโลเมตร เป็นเทวาลัยในศาสนาฮินดู ลัทธิไศวนิกาย มีลักษณะสถาปัตยกรรมแบบเขมรโบราณ หันหน้าไปทางทิศตะวันออก
ตัวปราสาทก่อด้วยอิฐไม่สอปูน ตั้งอยู่บนฐานศิลาแลงขนาดไม่สูงนัก และมีอาคารขนาดเล็กในบริเวณเดียวกัน ล้อมรอบด้วยแนวกำแพงก่อด้วยศิลาแลง พบโบราณวัตถุเนื่องในศาสนาฮินดู ได้แก่ ศิวลึงค์ ฐานประติมากรรม และชิ้นส่วนโคนนทิ
สันนิษฐานว่า ปรางค์ฤาษีน่าจะมีอายุเก่ากว่า หรือร่วมสมัยกับโบราณสถานปรางค์ศรีเทพแลปรางค์สองพี่น้อง ที่ตั้งอยู่ภายในเมืองโบราณศรีเทพ ซึ่งมีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 16
ข้อมูลจากเว็บไซต์มรดกโลก https://worldheritagesite.onep.go.th/sitedetail/4 ระบุว่า
เมืองโบราณศรีเทพ เป็นเมืองโบราณสำคัญในเส้นทางเครือข่ายทางการค้าและวัฒนธรรมสมัยแรกเริ่มประวัติศาสตร์ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่แสดงออกถึงภูมิปัญญาในการเลือกสรรชัยภูมิที่ตั้ง อันเป็นจุดเชื่อมโยงผสมผสาน การแพร่กระจายทางวัฒนธรรม และการแลกเปลี่ยนสินค้าภายใน และระหว่างภูมิภาค
ภาพจากเพจ อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ
ที่มีพัฒนามาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมทวารวดี และวัฒนธรรมเขมรโบราณ ซึ่งก่อตัวขึ้นจากชุมชนหมู่บ้านเกษตรกรรม ในยุคก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลายบริเวณลุ่มแม่น้ำป่าสักเมื่อ 2,500-1,500 ปีมาแล้ว
อันเป็นความชาญฉลาดของมนุษย์ ในการเลือกสรรชัยภูมิที่ตั้งของชุมชนขึ้น ในพื้นที่ที่สามารถควบคุมเส้นทางธรรมชาติ ที่ใช้เป็นเส้นทางผ่านเทือกเขาเพชรบูรณ์ ซึ่งเปรียบเสมือนประตูเชื่อมต่อระหว่างดินแดนด้านตะวันออก ของที่ราบลุ่มภาคกลาง กับดินแดนที่ราบสูงทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และอาจรวมถึงพื้นที่ทางด้านตะวันออกและตะวันตก ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วย
ชุมชนก่อนประวัติศาสตร์แห่งนี้ เป็นจุดเชื่อมโยงสำคัญในเส้นทางการแลกเปลี่ยนทรัพยากรด้านโลหะกรรมที่สำคัญของประเทศไทย ในยุคก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย และพัฒนาขึ้นเป็นจุดยุทธศาสตร์ทางการค้า และวัฒนธรรมที่เข้มแข็งในเขตพื้นที่ศูนย์กลางของภูมิภาคตอนใน ที่สามารถเชื่อมโยงกับสถานีและเส้นทางการค้าทางทะเล
ทำให้มีบทบาทสำคัญในการรับ และส่งผ่านวัฒนธรรม ไปยังเมืองโบราณร่วมสมัยเดียวกันในสมัยประวัติศาสตร์ตอนต้น เมืองโบราณแห่งนี้ยังเป็นเป็นแหล่งวัฒนธรรม ที่มีความสำคัญโดดเด่น ในพื้นที่ศูนย์กลางภูมิภาคตอนในของประเทศไทย
แสดงถึงภูมิปัญญาในการสร้างสรรค์และผสมผสานงานศิลปกรรมทางพุทธศาสนาเถรวาท มหายาน และศาสนาฮินดู จนมีเอกลักษณ์รูปแบบเฉพาะสกุลช่างของตนเอง ยกตัวอย่างเช่น กลุ่มเทวรูปรุ่นเก่า กำหนดอายุราวพุทธศตวรรษที่ 12-13 ซึ่งเทวรูปรุ่นเก่าที่พบจากเมืองโบราณศรีเทพ ได้แก่ พระนารายณ์หรือพระวิษณุสวมหมวกทรงกระบอก พระกฤษณะโควรรรธนะ เป็นประติมากรรมลอยตัว ที่มีลักษณะกายวิภาคชัดเจน ประทับยืนด้วยอาการตริภังค์หรือเอียงสะโพกเล็กน้อย แสดงอาการเคลื่อนไหว
จากลักษณะดังกล่าว แสดงให้เห็นถึงความสามารถชั้นสูงของช่างฝีมือ มีเอกลักษณ์ความงามและความลงตัว ซึ่งรู้จักกันในนามสกุลช่างศรีเทพ งานประติมากรรมและสถาปัตยกรรมของเมืองโบราณศรีเทพ ทั้งในช่วงวัฒนธรรมทวารวดีและช่วงวัฒนธรรมเขมรโบราณ (พุทธศตวรรษที่ 11-18) ส่งผ่านคติความเชื่อทางศาสนาและรูปแบบศิลปกรรม ไปสู่การสร้างสรรค์งานศิลปกรรมในสมัยต่อมา
เมืองโบราณศรีเทพเจริญรุ่งเรืองอยู่ราว 700 ปี จึงค่อย ๆ ลดความสำคัญลงไปเมื่อประมาณต้นพุทธศตวรรษที่ 18 ในห้วงเวลาเดียวกับการล่มสลายของอาณาจักรเขมร พร้อมกับการเกิดศูนย์กลางอำนาจทางการเมืองใหม่ขึ้นทางตอนเหนือของลุ่มน้ำเจ้าพระยาที่สุโขทัย และในลุ่มน้ำเจ้าพระยาที่พระนครศรีอยุธยา ซึ่งอาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลให้เมืองโบราณศรีเทพลดบทบาทความสำคัญลง จนกระทั่งถูกทิ้งร้างในที่สุด
ด้วยคุณค่าความโดดเด่นของเมืองโบราณศรีเทพ ที่มีการพัฒนาขึ้นมาจากชุมชนโบราณในยุคก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย ที่ตั้งอยู่ในบริเวณพื้นที่ลุ่มน้ำลพบุรี-ป่าสัก เมื่อประมาณ 1,700-1,500 ปีมาแล้ว (พุทธศตวรรษที่ 8-10) เมื่อได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมภายนอก โดยเฉพาะวัฒนธรรมอินเดียและวัฒนธรรมเขมรโบราณจึงเกิดการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมเข้าสู่สังคมเมืองในวัฒนธรรมทวารวดี (พุทธศตวรรษที่ 11-16) และวัฒนธรรมเขมรโบราณ (พุทธศตวรรษที่ 16-18)
ลำดับพัฒนาการในแต่ละช่วงสมัยของเมืองโบราณศรีเทพ แสดงออกถึงความสำคัญของการแลกเปลี่ยนคุณค่าของมนุษย์ในเขตพื้นที่ศูนย์กลางของภูมิภาคตอนในของประเทศไทย ซึ่งเป็นชุมชนหรือเมืองโบราณภายใน (Hinterland) ที่มีความต่อเนื่องทางวัฒนธรรม มีการเลือกสรรพื้นที่ตั้งของชุมชนหรือเมืองที่สามารถควบคุมหรือเชื่อมโยงเครือข่ายการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม หรือเส้นทางการค้าสมัยโบราณระหว่างพื้นที่ราบลุ่มภาคกลางและที่ราบสูงของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ภาพจากเพจ อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ
นอกจากนี้อาจรวมถึงพื้นที่ทางด้านตะวันออกและตะวันตก ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อีกด้วย จึงกล่าวได้ว่า ชัยภูมิที่ตั้งของเมืองเป็นจุดสำคัญในเครือข่ายการแลกเปลี่ยนทรัพยากรและการค้าของชุมชน บริเวณใกล้เคียงและภายนอกภูมิภาค มาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร
ส่งผลให้เกิดพัฒนาการทางสังคมและวัฒนธรรมในชุมชน และดำรงสถานะเป็นเมืองศูนย์กลางทางการค้าและศูนย์กลางทางศาสนาที่สำคัญแห่งหนึ่งในช่วงสมัยประวัติศาสตร์ตอนต้นของประเทศไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
กรมศิลปากรตระหนักถึงคุณค่าที่สำคัญดังกล่าว จึงได้ดำเนินการและเตรียมนำเสนอแหล่งมรดกทางวัฒนธรรม เมืองโบราณศรีเทพ เข้าสู่บัญชีรายชื่อเบื้องต้นมรดกโลก (Tentative List) ในปี พ.ศ.2562
ขอบคุณข้อมูลจากเว็บไซต์กรมศิลปากร https://www.finearts.go.th/
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
“ดร.พชรพร” กับเทคโนโลยี “ไลดาร์” ค้นหาอดีตที่ “เมืองโบราณศรีเทพ”
"ศรีเทพ" ใช้ "โดรนไลดาร์" สำรวจเมืองโบราณครั้งแรก
เคาะแล้ว! ครม.ชง "เมืองโบราณศรีเทพ" จ.เพชรบูรณ์ เป็นมรดกโลก