วันนี้ (26 ก.ค.2566) พายุ "ทกซูรี" ซึ่งมีความหมายว่า "นกอินทรี" ตั้งชื่อ โดยประเทศเกาหลีใต้ ล่าสุดพายุ "ทกซูรี" กำลังทวีความรุนแรงเป็น "ซูเปอร์ไต้ฝุ่น" และส่งผลกระทบทั้งจีน ฮ่องกง ไต้หวัน และฟิลิปปินส์
หลายประเทศยกระดับการรับมือฉุกเฉิน เช่น ไต้หวันสั่งยกเลิกการซ้อมรบฮันกวง ซึ่งเป็นการซ้อมรบครั้งใหญ่ ขณะที่ฟิลิปปินส์ สั่งอพยพประชาชนเป็นการเร่งด่วน เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบจากพายุ ล่าสุดพายุลูกนี้มีความเร็วลมอยู่ที่ 223 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
อ่านข่าว : "ฟิลิปปินส์" เผชิญอิทธิพลซูเปอร์ไต้ฝุ่น "ทกซูรี" จ่อถล่มไต้หวัน-จีน
ไทยพีบีเอสออนไลน์ คุยกับนายสมควร ต้นจาน ผอ.ส่วนพยากรณ์อากาศกลาง กรมอุตุนิยมวิทยา อัปเดตเส้นทางพายุไต้ฝุ่น "ทกซูรี" บริเวณมหาสมุทรแปซิฟิก ทางตะวันออกของฟิลิปปินส์ ว่า ณ เวลา 16.00 น. ยังคงเป็น "พายุไต้ฝุ่น" กำลังเคลื่อนตัวมุ่งหน้าไปยังจีน และจ่อขึ้นฝั่งมณฑลฝูเจี้ยนในช่วงเวลา 04.00 ของวันที่ 28 ก.ค.นี้ ก่อนจะเริ่มอ่อนกำลังเป็นพายุโซนร้อน และพายุดีเปรสชันตามลำดับ
พายุนี้ไม่ได้เคลื่อนเข้าสู่ไทยจึงไม่มีผลกระทบโดยตรง แต่จะทำให้มรสุมมีกำลังแรงขึ้น ช่วงที่พายุเคลื่อนตัวลงสู่ทะเลจีนใต้ตอนบน อาจจะทำให้ฝนบริเวณไทยตอนบนลดลง เนื่องจากลมที่พัดปกคลุมทั้งในระดับบนจะเป็นลมตะวันตก ตะวันตกเฉียงเหนือพัดเอาความชื้นไปหล่อเลี้ยงจุดศูนย์กลางของพายุ
ไต้ฝุ่นทกซูรี
ขณะที่ประเทศไทยขณะนี้มีลักษณะลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่ยังคงพัดปกคลุมอยู่ หากมีพายุเข้าบริเวณภาคใต้ตอนบนจะช่วยดึงมรสุมเข้าไปหาศูนย์กลางของพายุได้มากขึ้น มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ก็จะเริ่มแรงขึ้น ในช่วงวันที่ 26-28 ก.ค. โดยเฉพาะฝั่งอันดามัน และอ่าวไทยตอนบน และมีคลื่นสูงใน 1-2 วันนี้
ปกติหากมีพายุที่เคลื่อนตัวเข้าประเทศไทยจะเกิดฝนบริเวณกว้าง แต่หากเกิดพายุเฉียดไปเฉียดมาแบบนี้ จะฝนก็ไม่มากนัก รวมถึงหากมีมวลอากาศเย็นอยู่จะดึงความแห้งความชื้นเข้ามาทำให้ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง รวมถึงกรุงเทพฯ มีฝนลดลงไปด้วย
เส้นทางพายุ ไต้ฝุ่นทกซูรี
ช่วงที่ฝนจะเข้ามาประเทศไทยอีกรอบ คือ ในช่วงปลายเดือน ก.ค.นี้ หลังจากที่พายุขึ้นฝั่งไปแล้ว จะทำให้ฝนจะร่องมรสุม ขณะที่ปริมาณฝนปีนี้ยังคงน้อย ฉะนั้นจึงหวังว่าจะมีฝนตกเพิ่มขึ้น หากมีฝนตกสลับหยุดแบบนี้ จำนวนวันที่ฝนตกก็จะน้อยลง ส่วนพายุยังคงต้องติดตามมีก่อตัวอยู่แต่อาจจะไม่เคลื่อนผ่านประเทศไทย จะเกิดทางมหาสมุทรแปซิฟิกไปทางญี่ปุ่นมากกว่า
อย่างไรก็ตาม ยังคงหวังว่าจะมีพายุสัก 1-2 ลูก ผ่านเวียดนาม ลาว เข้ามาทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในช่วงเดือน ส.ค.-ก.ย.นี้ ขณะที่ช่วงวันหยุดยาว 26-28 ก.ค.นี้ กรุงเทพฯ อาจมีฝนตกเกิดขึ้นในช่วงบ่าย-ค่ำ
ทะเลลมแรง
ระดับพายุ ที่นับวันผลกระทบยิ่งแรงขึ้นทุกปี
ผอ.ส่วนพยากรณ์อากาศกลาง กรมอุตุนิยมวิทยา ยังอธิบายถึงพายุหมุนเขตร้อน ว่า มีชื่อเรียกต่างกันไปตามแหล่งกำเนิด ยกตัวอย่างพายุที่เกิดในมหาสมุทรแอตแลนติกเหนือ ทะเลแคริบเบียน และอ่าวเม็กซิโก เรียกว่า "เฮอร์ริเคน" หากเกิดขึ้นในมหาสมุทรแปซิฟิกและทะเลจีนใต้ เรียกว่า "ไต้ฝุ่น" เกิดขึ้นในมหาสมุทรอินเดีย เรียกว่า "ไซโคลน" และเรียก "พายุไซโคลน" ที่เกิดขึ้นในทวีปออสเตรเลียว่า "วิลลี่-วิลลี่" หรือมีชื่อเรียกไปต่าง ๆ กันถ้าเกิดในบริเวณอื่น
"พายุไต้ฝุ่น" เป็นชื่อเรียก "พายุหมุนเขตร้อน" ที่มีความเร็วลมสูงสุด อยู่ที่ 118 กิโลเมตรต่อชั่วโมงขึ้นไป เกิดทางทิศตะวันตกของมหาสมุทรแปซิฟิกเหนือ เช่น ทะเลจีนใต้ อ่าวไทย อ่าวตังเกี๋ย และประเทศญี่ปุ่น เมื่อเกิดขึ้นแล้วจะเคลื่อนตัวไปทางทิศตะวันตก ทำความเสียหายให้แก่ทวีปต่าง ๆ ทางด้านตะวันออก
ฝนตกลมแรง
พายุหมุนเขตร้อน แบ่งเป็น 3 ระดับ
พายุหมุนเขตร้อนที่มีอิทธิพลต่อลมฟ้าอากาศ แบ่งระดับความรุนแรงตามข้อตกลงระหว่างประเทศ เป็น 3 แบบ โดยใช้ความเร็วลมใกล้ศูนย์กลางพายุเป็นเกณฑ์ ดังนี้
1. ระดับพายุไต้ฝุ่น หรือพายุเฮอริเคน มีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางอยู่ที่ 68 นอต หรือตั้งแต่ 118 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ขึ้นไป มองเห็นแนวขดเกลียวเรียก "ตาพายุ"
2. พายุโซนร้อน มีความเร็วลมสูงสุด ณ จุดศูนย์กลาง 63-118 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เกิดขึ้นขณะที่พายุเฮอริเคนอ่อนตัว เคลื่อนตัวในทะเล
3. พายุดีเปรสชัน มีความเร็วลมสูงสุด ณ จุดศูนย์กลางต่ำกว่า 63 กิโลเมตรต่อชั่วโมง มองเห็นกลุ่มเมฆหนาเป็นวงกลม แต่มองไม่เห็นแนวขดเกลียวแบบตาพายุ
ฝนตกลมแรง
เช็กความรุนแรง แค่ไหนเรียก "ไต้ฝุ่น" - "ซูเปอร์ไต้ฝุ่น"
พายุหมุนเขตร้อนที่รุนแรงที่สุด คือ พายุไต้ฝุ่น หรือพายุเฮอริเคน สร้างความเสียหายให้กับสิ่งก่อสร้าง มีคลื่นลมแรง มักเกิด "ตาพายุ" ขึ้นตรงจุดศูนย์กลาง ที่มีลักษณะสงบ ท้องฟ้าโปร่ง มีความกดอากาศต่ำ
ผอ.ส่วนพยากรณ์อากาศกลาง กรมอุตุนิยมวิทยา อธิบายความรุนแรงจาก "ไต้ฝุ่น" เป็น "ซูเปอร์ไต้ฝุ่น" ว่า หากเป็นซุปเปอร์ไต้ฝุ่น ความแรงเทียบเฮอร์ริเคน ระดับ 1-5 แต่หากระดับความแรงของพายุไม่เปลี่ยนแปลงมากนักส่วนใหญ่ก็จะเรียกแค่พายุไต้ฝุ่น มีความเร็วลม มีบริเวณศูนย์กลางพายุตั้งแต่ 125 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ขึ้นไป มีโอกาสที่จะเรียก ซุปเปอร์ไต้ฝุ่น
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
ไขคำตอบ! นักอุตุนิยมฯ ชี้เปลี่ยนฤดูร้อน-พายุรุนแรงถล่มพิจิตร
เปลี่ยนชื่อ-ปรับโครงสร้างใหม่ "กรม สส." คุมภารกิจโลกร้อน
โลกร้อนรุกราน จับตา 5 โรค สัตว์สู่คน "ไวรัสรีเทิร์น"
2566 โลกร้อน อากาศแปรปรวน การพยากรณ์ไม่ง่าย
โลกร้อน “ลานีญา” สลับขั้ว "เอลนีโญ"ไทยเผชิญฝนน้อย-แล้งยาว 19 เดือน
เช็กระดับความรุนแรงแค่ไหนเรียก "ไต้ฝุ่น" - "ซุเปอร์ไต้ฝุ่น" |