วันนี้ (21 ก.ค.2566) กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ระบุว่า ทีมสำรวจนำโดย น.ส.นัยนา เทศนา นักวิชาการป่าไม้ชำนาญการ กลุ่มงานพฤกษศาสตร์ป่าไม้ สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช และนายสมราน สุดดี ที่ปรึกษาด้านพฤกษศาสตร์ป่าไม้และความหลากหลายทางชีวภาพ สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้ฯ ได้สำรวจพบพืชสกุลหยาด ชนิดใหม่ของโลก 8 ชนิด
โดยพบใน จ.ระยอง 3 ชนิด ชลบุรี 1 ชนิด สระบุรี 1 ชนิด ลพบุรี 1 ชนิด พิษณุโลก 1 ชนิด และเลย 1 ชนิด ซึ่งได้สำรวจและเก็บตัวอย่างตามวิธีการด้านพฤกษศาสตร์ และได้ประสานงานกับนักพฤกษศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญวงศ์ชาฤๅษีของไทย
สำหรับสกุลหยาด (Microchirita) ได้ตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารนานาชาติ Thai Forest Bulletin (Botany) เล่มที่ 51(2) ปี 2023 ทั่วโลกพบพืชสกุลนี้ 47 ชนิด ประเทศไทยพบทั้งหมด ถึงปัจจุบัน 37 ชนิด นับว่าเป็นศูนย์ กลางของการกระจายพันธุ์ของสกุลนี้ สำหรับหยาด 8 ชนิดใหม่ของโลกมีดังนี้
หยาดศรีชล
หยาดศรีชล Microchirita chonburiensis D. J. Middleton & C. Puglisi พบบริเวณเขาหินปูน อ.บ่อทอง จ.ชลบุรี ลักษณะเป็นไม้ล้มลุก สูงได้ถึง 30 ซม. ลำต้นอวบน้ำ ส่วนบนสีเขียว โคนสีม่วงอมเขียว ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม มีขนและต่อมประปรายทั้ง 2 ด้าน ดอกสีเหลืองสด คำระบุชนิด ‘chonburiensis’ ตั้งให้เป็นเกียรติแก่ จ.ชลบุรี แหล่งที่พบตัวอย่างต้นแบบ Tetsana, Suddee, Puudjaa, Thananthaisong, Hemrat, Phankien & Daonurai 2258 เก็บรักษาไว้ที่หอพรรณไม้
หยาดศรีระยอง
หยาดศรีระยอง Microchirita rayongensis C. Puglisi & D. J. Middleton พบบริเวณเขาหินปูน อ.เขาชะเมา จ.ระยอง ไม้ล้มลุก สูงได้ถึง 30 ซม. ลำต้นอวบน้ำ ส่วนบนสีเขียวอมม่วงแดงถึงเขียว ส่วนโคนสีม่วงแดง เกลี้ยง ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม มีขนสั้นนุ่มประปรายถึงหนาแน่นทั้ง 2 ด้าน ดอกสีขาว คอหลอดดอกและโคนกลีบปากด้านในสีเหลืองจาง คำระบุชนิด ‘rayongensis’ ตั้งให้เป็นเกียรติแก่จังหวัดระยอง แหล่งที่พบ ตัวอย่างต้นแบบ Tetsana, Suddee, Puudjaa, Thananthaisong, Hemrat, Phankien & Daonurai 2230 เก็บรักษาไว้ที่หอพรรณไม้
หยาดขาวลออ Microchirita candida C. Puglisi & D. J. Middleton พบบริเวณเขาหินปูน อ.แกลง จ.ระยอง ไม้ล้มลุก สูงได้ถึง 80 ซม. ลำต้นอวบน้ำ ส่วนบนสีม่วงอมเขียว โคนสีม่วง ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม มีขนประปรายทั้ง 2 ด้าน ดอกสีขาววาว มีแต้มเหลืองที่โคนกลีบปากด้านใน คำระบุชนิด ‘candida’ ตั้งตามลักษณะดอกที่ขาวมีวาว ตัวอย่างต้นแบบ Tetsana, Suddee, Puudjaa, Thananthaisong, Hemrat, Phankien & Daonurai 2259 เก็บรักษาไว้ที่หอพรรณไม้
หยาดเนรมิตร
หยาดเนรมิตร Microchirita fuscifaucia C. Puglisi & D. J. Middleton พบบริเวณเขาหินปูน อ.เขาชะเมา จ.ระยอง ไม้ล้มลุก สูงได้ถึง 30 ซม. ลำต้นอวบน้ำ สีเขียวเป็นมันวาว ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม มีขนสั้นนุ่มประปรายถึงหนาแน่นทั้ง 2 ด้าน ดอกสีขาว คอหลอดกลีบดอกด้านในสีแดงอมม่วงถึงน้ำตาล คำระบุชนิด ‘fuscifaucia’ หมายถึงสีเข้มที่คอหลอดดอก ตัวอย่างต้นแบบ Tetsana, Suddee, Puudjaa, Thananthaisong, Hemrat, Phankien & Daonurai 2251 เก็บรักษาไว้ที่หอพรรณไม้
หยาดภู่มา
หยาดภู่มา Microchirita poomae D. J. Middleton พบบริเวณเขาหินปูน อ.พระพุทธบาท จ.สระบุรี ไม้ล้มลุก สูงได้ถึง 50 ซม. ลำต้นอวบน้ำ ส่วนใหญ่เกลี้ยง พบบ้างที่มีขนขนาดเล็กประปราย ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม เกลี้ยงหรือเกือบเกลี้ยง ดอกสีม่วงแดง มีแถบสีเหลืองตามยาวที่โคนกลีบปากด้านใน คำระบุชนิด ‘poomae’ ตั้งให้เป็นเกียรติแก่ ดร.ราชันย์ ภู่มา อดีตหัวหน้ากลุ่มงานพฤกษศาสตร์ป่าไม้ สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช กรมอุทยานแห่งชาติฯ ผู้นำเก็บตัวอย่าง ตัวอย่างต้นแบบ Pooma, Berg & Poopath 5719 เก็บรักษาไว้ที่หอพรรณไม้
หยาดชัยบาดาล
หยาดชัยบาดาล Microchirita striata D. J. Middleton & C. Puglisi พบบริเวณเขาหินปูน อ.ชัยบาดาล จ.ลพบุรี ไม้ล้มลุก สูงได้ถึง 25 ซม. ลำต้นอวบน้ำ มีขนสากทั่วไป ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม มีขนสั้นนุ่มทั้ง 2 ด้าน ดอกสีเหลือง โคนกลีบปากด้านในมีเส้นสีแดงตามยาว 5 เส้น คำระบุชนิด ‘striata’ หมายถึงแถบเส้นสีแดงที่โคนกลีบปาก ตัวอย่างต้นแบบ Suddee, Hemrat & Kiewbang 5314 เก็บรักษาไว้ที่หอพรรณไม้.
หยาดเนินมะปราง Microchirita formosa D. J. Middleton พบบริเวณเขาหินปูน อ.เนินมะปราง จ.พิษณุโลก ไม้ล้มลุก สูงได้ถึง 65 ซม. ลำต้นอวบน้ำ สีเขียวอ่อน บริเวณข้อมีสีแดง มีขนสีขาวกระจายห่าง ๆ ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม มีขนสั้นนุ่มทั้ง 2 ด้าน ดอกสีขาว มีแต้มสีเหลืองทั้งบนและล่างในหลอดกลีบดอก คำระบุชนิด ‘formosa’ แปลว่าสวยงาม ตัวอย่างต้นแบบ Tetsana, Puudjaa, Hemrat, Jirakorn & Trakulthip 2531 เก็บรักษาไว้ที่หอพรรณไม้
หยาดศรีสุวัตร
หยาดศรีสุวัฒน์ Microchirita suwatii D. J. Middleton & C. Puglisi พบบริเวณเขาหินปูน อ.เมือง จ.เลย ไม้ล้มลุก สูงได้ถึง 30 ซม. ลำต้นอวบน้ำ สีม่วงแดงอมเขียว มีขนประปราย ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม มีขนประปรายทั้ง 2 ด้าน ดอกสีม่วงแดงอมน้ำเงิน โคนกลีบปากด้านในมีแถบสีเหลือง คำระบุชนิด ‘suwatii’ ตั้งให้เป็นเกียรติแก่นายสุวัฒน์ สุวรรณชาติ อดีตเจ้าหน้าที่หอพรรณไม้ ผู้ร่วมเก็บตัวอย่างและเป็นผู้ทุ่มเทในการปฏิบัติงานจนถึงวาระเกษียณอายุราชการ ตัวอย่างต้นแบบ Suddee, Hemrat, Suwannachat & Kiewbang 5317 เก็บรักษาไว้ที่หอพรรณไม้
สำหรับหยาดชนิดใหม่ของโลกทั้ง 8 ชนิดนี้ พบขึ้นอยู่ในพื้นที่จำกัดในระบบนิเวศจำเพาะคือระบบนิเวศเขาหินปูน ซึ่งทุกภาคส่วนต้องช่วยกันปกปักรักษาไม่ให้ถูกทำลายไปด้วยอุตสาหกรรมที่ใช้หินปูนหรือโครงการพัฒนาต่าง ๆ
โดยเฉพาะขณะนี้ที่น่าเป็นห่วงคือในพื้นที่ อ.เขาชะเมา จ.ระยอง ซึ่งกำลังมีการพิจารณาโครงการสร้างอ่างเก็บน้ำของกรมชลประทาน นอกจากนี้รายงานการวิจัยพบว่า พืชที่ยังไม่ได้รับการตั้งชื่อ 3 ใน 4 ชนิดทั่วทั้งโลก เป็นพืชที่อยู่ในภาวะถูกคุกคาม และใกล้สูญพันธุ์
พืชชนิดใหม่ของโลกทั้ง 8 ชนิดนี้ ถูกสำรวจพบตามการดำเนินงานโครงการวิจัยความหลากหลายของพันธุ์พืชในระบบนิเวศเขาหินปูนของประเทศไทย และโครงการพรรณพฤกษชาติประเทศไทย (Flora of Thailand) ที่ต้องตีพิมพ์ข้อมูลของพืชทุกวงศ์ที่พบในประเทศ