ถ่ายทอดสด โหวตนายกรอบ 2 “พิธา” ว่าที่นายกฯ คนที่ 30 | 19 ก.ค. 66
วันนี้ (19 ก.ค.2566) นายวิทยา แก้วภราดัย สส. บัญชีรายชื่อและรองหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ กล่าวว่า พรรคที่เตรียมจะเป็นฝ่ายค้าน หรือพรรคการเมืองเสียงข้างน้อย และ สว. ส่วนใหญ่เห็นว่าญัตติที่เสนอชื่อ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เป็นนายกรัฐมนตรีตกไปแล้ว ไม่สามารถนำขึ้นมาพิจารณาใหม่ได้ ยกเว้นเป็นญัตติใหม่หรือเรื่องใหม่ เสนอเข้ามา
วันนี้ประธานรัฐสภาต้องตัดสินใจในการทำหน้าที่ และรอดูว่าการประชุมวันนี้เป็นเรื่องเก่าหรือไม่ ถ้าเก่าต้องตีตก ยกเว้นจะเป็นความเห็น ของประธานรัฐสภาหรือมีผู้เสนอเข้ามาใหม่ซึ่งประธานรัฐสภาต้องเป็นผู้วินิจฉัย
อ่านข่าว โหวตนายกฯ รอบ 2 : "สุทิน" ลุ้นตีความข้อบังคับ 41 ชงชื่อ "พิธา"
โหวตนายกฯ รอบ 2 :
ส่วนที่ พรรคก้าวไกลและเพื่อไทยตีความว่าการเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีไม่ใช่ญัตติ ทั่วไปจึงไม่เข้าข้อบังคับที่ 41 นั้น นายวิทยา กล่าวว่า คำว่า ไม่ใช่ญัตติทั่วไป เป็นแค่ญัตติปกติ จะต้องมีผู้รับรองไม่น้อยกว่า 5 % ตัวเลขต่างกันตรงนี้ ทั้งหมด จึงถือเป็นญัตติที่เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ และกระบวนการพิจารณาก็จะต้องเริ่มต้นจากการรับรองก่อน จึงเท่ากับเป็นญัตติ ที่ต้องอยู่ภายใต้ข้อบังคับของรัฐสภา
นายวิทยา ยืนยัน พรรครวมไทยสร้างชาติจะไม่เสนอชื่อ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคเข้าชิง เพราะตามมารยาทต้องให้พรรคที่รวมเสียงข้างมากได้ก่อน
อ่านข่าว โหวตนายกฯ รอบ 2 : "มณเฑียร" ไม่ออกความเห็น ปมเสนอ "พิธา" รอบ 2 ได้หรือไม่
ส่วนโอกาสของ 8 พรรคการเมืองจัดตั้งรัฐบาล พรรคก้าวไกล มีโอกาสเสนอแคนดิเดตนายกฯ จบไปแล้ว ถัดจากนั้น จะเป็นโอกาสของเพื่อไทยอีก 3 ครั้ง เพราะมีแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี 3 คน หลังจากนั้น จะต้องเป็น พรรคลำดับถัดไปหรืออันดับ 3
"วราวุธ" ชี้ "พิธา" ถูกรัฐสภาตีตกไปแล้วไม่ควรเสนอใหม่
ด้านนายวราวุธ ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวก่อนการประชุมรัฐสภา เพื่อลงมติเลือกนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรตก้าวไกล เป็นนายกรัฐมนตรี ครั้งที่ 2 ว่า จากประสบการณ์ที่ผ่านมา และตามระเบียบการประชุมรัฐสภา
การเลือกนายกฯ ถือเป็นญัตติ เพราะต้องมีการรับรองการเสนอจาก สส. และ สว. ดังนั้น เมื่อมีการเสนอชื่อ และลงคะแนนแล้ว และถูกรัฐสภาตีตกไปแล้ว จึงไม่ควรนำเสนอใหม่
นายวราวุธ ยังเชื่อว่า ข้อถกเถียงดังกล่าว จะได้ข้อสรุปด้วยการลงมติของรัฐสภา และประธานรัฐสภา จะเปิดโอกาสให้ สส. และ สว. ได้อภิปรายก่อน
อ่านข่าว โหวตนายกฯ รอบ 2 : "สุทิน" ลุ้นตีความข้อบังคับ 41 ชงชื่อ "พิธา"
ส่วนกรณีที่มีนักวิชาการออกมาให้ความเห็นถึงการเลือกนายกรัฐมนตรีไม่ถือเป็นญัตติ เพราะมีการแยกหมวดการเลือกนายกฯ ไว้เป็นการเฉพาะนั้น นายวราวุธ มองว่า นักวิชาการแต่ละคน มีความเห็นต่างกัน แต่ทั้งนี้ ก็จะต้องฟังทีมกฎหมายของรัฐสภา และการตัดสินใจของที่ประชุมรัฐสภาด้วย
นายวราวุธ ยังยอมรับถึงกรณีที่ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย โทรศัพท์ติดต่อมาเพื่อขอเสียงสนับสนุนนายพิธา แต่ก็ยังจะต้องพิจารณาด้วยว่า การติดต่อมาของ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์นั้น เป็นข้อเสนอของพรรคเสรีรวมไทยพรรคเดียว หรือเป็นมติของพรรคก้าวไกล หรือ 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล แต่หากไม่ใช่ พรรคชาติไทยพัฒนา ก็พร้อมรับฟัง
อ่านข่าว โหวตนายกฯ รอบ 2 : ตร.คุมเข้มความปลอดภัย รอบอาคารรัฐสภา-ศาลรัฐธรรมนูญ
แต่ไม่สามารถให้คำตอบได้ และขณะนี้ ก็ยังไม่มีการตัดสินใจใด ๆ เพราะการจะตัดสินใจในเนื่องใด จะต้องให้ที่ประชุมพรรคตัดสินใจร่วมกัน พร้อมย้ำแนวทางของพรรคชาติไทยพัฒนาด้วยว่า ไม่ยุ่งเกี่ยวกับการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา ม.112 หากพรรคใดจะแก้ไข หรือยกเลิก ก็คงจะต้องแยกต่างคนต่างทำงาน เพราะจุดยืนต่างกัน
ติดตามผลคะแนนโหวตได้ที่ www.thaipbs.or.th/election66
ดูถ่ายทอดสด โหวตนายกฯ รอบ 2 ที่นี่
ชมย้อนหลัง ประชุมสภา โหวตนายก "พิธา" ครั้งที่ 1 วันพฤหัสบดีที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2566