ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

“แพทองธาร” ผงาดหัวหน้าพรรคเพื่อไทย คนที่ 8

การเมือง
18 ก.ค. 66
11:29
1,615
Logo Thai PBS
“แพทองธาร”  ผงาดหัวหน้าพรรคเพื่อไทย คนที่ 8
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
แพทองธาร ชินวัตร วัย 36 ปี ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่ง หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ต่อจาก "หมอชลน่าน" ที่ลาออกไปก่อนหน้านี้ และถือเป็นยุคของคนรุ่นใหม่ของการเมืองไทย

ลูกไม้ใต้ต้น "แพทองธาร ชินวัตร"หรือ "อุ๊งอิ๊ง" ลูกสาวคนสุดท้องของนายทักษิณ และคุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพชร 

ในวัย 36 ปี แพทองธารตัดสินใจเข้าสู่แวดวงการเมือง โดยรับอาสาเป็นหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย นำทัพพรรคเพื่อไทย หาเสียงเลือกตั้งทำให้พรรคฯคว้าเก้าอี้ส.ส.มาเป็นอันดับ 2 ถึง 2 จำนวน 141 ที่นั่งในการเลือกตั้งปี 2566

การเลือกตั้งครั้งนีี้ พรรคเพื่อไทยเสนอแคนดิเดตนายก 3 คน คือ ชัยเกษม นิติสิริ, เศรษฐา ทวีสิน และแพทองธาร ชินวัตร และหากพรรคอันดับ 1 ก้าวไกล ในฐานะพรรคแกนนำยังไม่สามารถผลักดัน “พิธา” ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งนายกฯได้

แน่นอนว่า โอกาสที่พรรคเพื่อไทยจะเสนอชื่อแคนดิเดต นายกฯของตนเองเข้าชิง

แพทองธาร ถูกจับตามองว่า จะเป็นทายาทรุ่นต่อไปของตระกูลชินวัตร ที่จะก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งนายกฯของไทยได้ไม่ยาก หลังจากครอบครัวของเธอทั้ง 3 คนไม่ว่าจะเป็น “บิดา” อดีตนายกทักษิณ, “อาปู” น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และ ”อาเขย” สมชาย วงศ์สวัสดิ์ คือ บุคคลที่ได้เป็นอดีตนายกฯ

และหากแพทองธาร ถูกเสนอชื่อเป็นแคนดิเดตนายกฯ เธอจะเป็นคนที่ 4 ของตระกูลชินวัตรที่ได้เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 4 ของครอบครัว และเป็นนายกฯคนที่ 30 ของประเทศ

ปี 2564 แพทองธาร เปิดตัวเข้าสู่สนามการเมืองอย่างเป็นทางการ โดยปรากฏตัวในประชุมพรรคเพื่อไทย ที่ จ.ขอนแก่น ในฐานะประธานที่ปรึกษาด้านนวัตกรรมฯ พรรคเพื่อไทย และต่อมาขยับเป็นหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย แม้ช่วงหาเสียงจะอยู่ระหว่างการตั้งครรภ์ แต่แพทองธารยังลงพื้นที่ช่วยพรรคฯปราศรัยหาเสียงอย่างต่อเนื่อง

จนกระทั่งเมื่อใกล้คลอด แพทองธารยังช่วยพรรคหาเสียง ฯด้วยการวิดีโอคอลมายังเวทีปราศรัยใหญ่ ในช่วงโค้งสุดท้ายของการเลือกตั้ง จึงถือว่า แพทองธาร มีบทบาทค่อนข้างที่จะเข้มข้นเมื่อเข้าสู่สนามการเมืองเต็มตัว

หลังสิ้นสุดการเลือกตั้งใหญ่เมื่อวันที่ 14 พ.ค.2566 พรรคเพื่อไทย คว้า ส.ส.เข้าสภาฯมาเป็นอันดับที่ 2 จำนวน 141 ที่นั่ง เป็นรองพรรคอันดับ 1 อย่างพรรคก้าวไกล ที่มี ส.ส. 151 ที่นั่ง ห่างกัน 10 ที่นั่ง

แต่ทั้ง 2 พรรคที่ออกตัวมาตั้งแต่ต้นว่า เป็นพรรคฝ่ายประชาธิปไตย ก็ยังจับมือกันจัดตั้งรัฐบาลร่วมกับอีก 6 พรรคเล็ก โดยพรรคเพื่อไทยที่มี นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ในฐานะหัวหน้าพรรคก็ออกแรงดัน “พิธา” ในฐานะพรรคอันดับ 1 เต็มคาราเบล

ขณะที่แพทองธาร ผู้ชอบดื่ม ”มินต์ช็อก” ร้าน think lab ที่ตั้งอยู่ในพรรคเพื่อไทย ยังไม่มีทีท่าใด ๆ กับตำแหน่งแคนดิเดต นอกจากการโพสต์ข้อความและสื่อสารผ่านนักข่าว ฝากให้กำลังใจ “พิธา”ไปให้ถึงฝั่งฝัน

ในตระกูลชินวัตร แพทองธาร เป็นคนเดียวที่กระโดดลงสนามการเมืองเต็มตัว ขณะที่ “พานทองแท้ ชินวัตร”พี่ชาย และพินทองทา ชินวัตร คุณากรวงศ์ “พี่สาว” ทำหน้าเป็นกองหนุน เช่นเดียวกับมารดา “คุณหญิงพจมาน”

แพทองธาร จบการศึกษาชั้นมัธยมจากโรงเรียนเซนต์ โยเซฟคอนเวนต์ และโรงเรียนมาแตร์เดอีวิทยาลัย และสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี คณะรัฐศาสตร์ จุฬา ลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก่อนเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัยแพทองธารเจอข้อครหากรณี "ข้อสอบเอ็นทรานซ์รั่ว" ขณะสอบเข้าคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ และในภายหลังได้สอบเข้าคณะรัฐศาสตร์ฯเรียนสาขาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา 

เมื่อจบการศึกษาในระดับปริญญาตรี แพทองธาร ไปศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยเซอร์เรย์ ในประเทศอังกฤษ เรียนสาขาวิชา Msc International Hotel Management และกลับมาทำธุรกิจของครอบครัว โดยเป็นผู้ถือหุ้นอันดับ 1 บ.เอสซี แอสเสทคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และกรรมการมูลนิธิไทยคม

และเป็นผู้ถือหุ้นในกิจการอื่น ๆ เช่น โรงแรมโรสวู๊ด กรุงเทพ, เทมส์ วัลลีย์ เขาใหญ่ และเดอะ ซิสเตอส์ เนลส์ แอนด์ มอร์ เป็นต้น ทั้งนี้ ในปี พ.ศ. 2565 เธอถือหุ้นรวมทั้งหมด 21 บริษัท มูลค่าประมาณ 68,000 ล้านบาท

สำหรับชีวิตครอบครัว แพทองธาร สมรสกับปิฎก สุข สวัสดิ์ มีบุตรสาว 1 คน คือ ธิธาร สุขสวัสดิ์ และมีบุตรชาย 1 คน พฤจ์ธาษิณ สุขสวัสดิ์ ในซึ่งคลอดในวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2566

พรรคเพื่อไทย ก่อตั้งเมือปี 2550 โดยมีหัวหน้าพรรคดังนี้ คือ 1."บัณจงศักดิ์ วงศ์รัตนวรรณ" (20 ก.ย.50 - 20 ก.ย.51) 2.สุชาติ ธาดาธำรงเวช (20 ก.ย.50 - 20 ก.ย.51) 3.ยงยุทธ วิชัยดิษฐ (7 ธ.ค.51 - 4 ต.ค.55) .วิโรจน์ เปาอินทร์ (รักษาการ)(8 ต.ค.55-30 ต.ค.55)4.จารุพงศ์ เรืองสุวรรณ (30 ต.ค.55 - 16 มิ.ย.57) 5.วิโรจน์เปา อินทร์ (รักษาการ)(16 มิ.ย.57 - 2 ก.ค.62) และ (28 ต.ค.61 - 2 ก.ค.62) ปลอดประสพ สุรัสวดี (รักษาการ) (3 ก.ค.62 - 12 ก.ค.62) 6.สมพงษ์ อมรวิวัฒน์ (12 ก.ค.62 - 28 ต.ค.64) 7.นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว (28 ต.ค.64 - 30 ส.ค.66) ชูศักดิ์ ศิรินิล (รักษาการ) (30 ส.ค.66 - 27 ต.ค.66) และ 8.น.ส.แพทองธาร ชินวัตร (27 ต.ค.66 - ปัจจุบัน)

การก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งหัวหน้าพรรคเพื่อไทยในครั้งนี้ ถือเป็นการกลับมาเป็นหัวหน้าพรรคของคนตระกูล "ชินวัตร" หลังก่อนหน่้านี้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคในยุคพรรคไทยรักไทย และ พรรคพลังประชาชน จึงต้องจับตาดูต่อไปว่า ยุบใหม่ของพรรคเพื่อไทยจะมีทิศทางการทำงานการเมืองอย่างไร

ข่าวที่เกี่ยวข้อง