วันนี้ (17 ก.ค.2566) นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา ชี้แจงต่อที่ประชุมวุฒิสภา ก่อนเปิดประชุมพิจารณาตามวาระ ต่อกรณีการลาประชุม ส.ว. เมื่อวันที่ 13 ก.ค.ที่ผ่านมาว่า
1.มี ส.ว.ที่ลาไปราชการต่างประเทศ เพื่อทำหน้าที่ที่ตนมอบหมาย ฐานะประธานรัฐสภาขณะนั้นให้ไปประชุมไอป้า ที่กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน จำนวน 2 คน
2. ส.ว.ที่เป็นผู้นำเหล่าทัพ จำนวน 6 คน ติดราชการสำคัญ และการประชุมเห็นชอบนายกฯ มีวาระเดียว และผู้นำเหล่าทัพพิจารณาแล้ว แจ้งตนว่า ยังอยู่ในราชการไม่ประสงค์เข้าร่วมการประชุมดังกล่าว และ มี ส.ว.ลากิจอีก 9 คน เหตุผลคือ ไม่ทราบวันประชุมมาก่อนและอยู่ต่างประเทศ ซึ่งนัดหมายไว้ล่วงหน้า
3. มีส.ว. 16 คนลาป่วย ดังนั้นการลาของ ส.ว. ในวันดังกล่าว มีทั้งสิ้น 33 คน ส่วนกรณีที่พบว่าการลงมตินั้นมี ส.ว.ไม่ได้ร่วมลงมติ 43 คน แสดงว่ามี 10 คนที่เข้าร่วมประชุมแต่ไม่ได้ลงมติ
นายพรเพชร ชี้แจงด้วยว่า ตนรับแจ้งจากสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา และ ส.ว.ว่า มีบุคคลเข้าไปคุกคามและละเมิดความเป็นส่วนตัวของบุคคลในครอบครัว ทั้งเข้าไปตรวจสอบสถานที่อยู่อาศัย ธุรกิจของบุคคล ใช้ถ้อยคำด่าว่าไปยังครอบครัวบุคคล ข่มขู่ให้เกิดความกลัว
ตนฐานะประธานวุฒิสภา มีหน้าที่คุ้มครองดูแลสมาชิกให้ได้รับการดูแลความปลอดภัยในชีวิต และทรัพย์สินของ ส.ว.และครอบครัว จึงได้ขอความร่วมมือจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ เข้าไปดูแลสมาชิก ซึ่งได้รับความร่วมมืออย่างดี
ผมหวังว่า คนที่คุกคาม โจมตี แทรกแซงบุคคลอื่นไม่ควรทำ และหวังว่าจะไม่มีการกระทำผิดอาญาหรือทะเลาะกันต่อไป
ประธานวุมิสภา แจ้งด้วยว่า ต่อประเด็นการยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญ ม.272 ตนพิจารณาและเห็นว่า ส.ว.ไม่สมควรแสดงความเห็นโต้ตอบเรื่องด้งกล่าว เพราะเมื่อเรื่องดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาจึงจะพิจารณาอย่างผู้ที่ทำหน้าที่ ผู้ที่มีวุฒิภาวะ กลั่นกรองกฎหมายที่นำเสนอ ไม่ควรโต้แย้ง หรือโต้ตอบ ต่อผู้ที่อยู่ในภาวะไม่พอใจจากเหตุการณ์ทางการเมืองจึงเสนอแก้ไข ทั้งนี้เมื่อเสนอกฎหมายนี้ควรพิจารณารอบคอบเพื่อให้ พิจารณาถูกต้องตามหลักการ
นายสังศิต พิริยะรังสรรค์ ส.ว.เปิดเผยว่า ยังไม่สามารถที่จะระบุได้ว่า ในวันลงมติเลือกนายกฯ รอบ 2 จะลงมติไปในทิศทางใด โดยที่ครั้งแรกได้ลงมติงดออกเสียง
เพราะขณะนี้สถานการณ์เปลี่ยนและต้องรอดูข้อตกลงของ 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล โดยเฉพาะพรรคก้าวไกลและเพื่อไทย ว่าจะออกมาอย่างไรก่อน เหมือนต้องรอดูคำถามก่อนที่จะมีคำตอบให้
ส่วนกรณีที่ ส.ว.ถูกกดดันและตามล่า นายสังศิต ยอมรับว่าได้รับผลกระทบ แต่อยากจะชี้แจงว่า ส.ว.ไม่ได้อยากจะมีส่วนในการเลือกนายกฯ แต่เป็นกลไกข้อกฎหมายที่ถูกสร้างขึ้นก่อนที่จะมีส.ว.ชุดนี้ และเป็นกติกาที่แต่ละประเทศออกแบบไว้และไม่ได้ดึงดันที่จะขออำนาจนี้เอง
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
"อานนท์" ขอ 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล อย่าแตกแถววันโหวตนายกฯ รอบ 2
จับตา ทิศทาง ส.ว.ก่อนโหวตนายกฯ
"เสรี" ฟ้อง 2 เกรียนคีย์บอร์ด พรุ่งนี้ - "พรเพชร" ปัดตอบ ส.ว. ถูกล่าแม่มด
“ภูมิธรรม” เผย “พิธา” ขอทดลองโหวตนายกฯ รอบ 2 หารือ 8 พรรค 18 ก.ค.
"เศรษฐา" ยันไม่รู้เรื่อง ถูกดันชิงนายกฯ แทน "พิธา"