ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

“สะพานถล่ม” ก่อสร้าง (ไม่) ปลอดภัย ใครต้องรับผิดชอบ

อาชญากรรม
16 ก.ค. 66
16:00
9,916
Logo Thai PBS
“สะพานถล่ม” ก่อสร้าง (ไม่) ปลอดภัย ใครต้องรับผิดชอบ
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
เหตุการณ์ที่โครงการก่อสร้างทางยกระดับอ่อนนุช-ลาดกระบัง พังถล่มลงมา จนทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บ รวมถึงทรัพย์สินของผู้ที่อยู่ใกล้เคียงจุดเกิดเหตุได้รับความเสียหาย ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการตรวจสอบสาเหตุที่ชัดเจน

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ยืนยันว่า เหตุการณ์นี้จะต้องมีคนรับผิดชอบกับความสูญเสีย แต่เหตุที่เกิดขึ้น ยิ่งต้องทำให้ผู้รับเหมาก่อสร้าง หรือ ผู้ที่ทำงานด้านวิศวกร เข้มงวดในการตรวจสอบการก่อสร้างอย่างรอบคอบ เพราะเหตุการณ์แบบนี้ก็เพิ่งเกิดไปไม่นานมานี้เองที่ถนนพระราม 2

ช่วงนี้ใครที่ขับรถ หรือเดินผ่านโครงการที่กำลังก่อสร้างต่าง ๆ ก็คงรู้สึกหวาดกลัวไปตามๆ กัน เพราะด้วยเหตุการณ์ดังกล่าว สร้างความตกใจอย่างมากกับผู้ที่พบเห็น และเป็นเรื่องที่ไม่คาดคิดที่จะเกิดขึ้น

จุดเริ่มต้นของอุบัติเหตุครั้งนี้ เกิดขึ้นในช่วงเย็น วันที่ 10 ก.ค.ที่ผ่านมา ของโครงการก่อสร้างทางยกระดับอ่อนนุช-ลาดกระบัง ที่อยู่ในความรับผิดชอบของสำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร และว่าจ้างบริษัท ผู้รับเหมาให้ก่อสร้างด้วยวงเงินกว่า 1,600 ล้านบาท กลับเกิดระเบิดขึ้นในจุดที่กำลังเชื่อมต่อแท่งปูนเข้าหากัน ทำให้อุปกรณ์ และเสาของโครงการก่อสร้าง พังถล่มลงมา มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตในที่เกิดเหตุ

สะพานยกระดับอ่อนนุช-ลาดกระบัง พังถล่มลงมา มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บหลายคน

สะพานยกระดับอ่อนนุช-ลาดกระบัง พังถล่มลงมา มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บหลายคน

สะพานยกระดับอ่อนนุช-ลาดกระบัง พังถล่มลงมา มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บหลายคน

การเข้ากู้ภัยในจุดเกิดเหตุ เป็นไปด้วยความยากลำบาก เพราะด้วยมีอุปกรณ์ขนาดใหญ่กีดขวางเส้นทาง รวมถึงความไม่มั่นใจในความปลอดภัยของโครงสร้าง ที่ยังก่อสร้างไม่เสร็จ อีกทั้งแสงสว่างที่กำลังหมดลง และความมืดกำลังตามมา

ที่เกิดเหตุพบผู้เสียชีวิต 2 คน เป็นคนงานและวิศวกรควบคุมงาน ส่วนผู้บาดเจ็บมีอย่างน้อย 7 คน รถยนต์ และรถจักรยานยนต์ที่อยู่บนถนนก็ได้รับความเสียหายจำนวนมาก

รถยนต์มีความเสียหาย 4 คัน 1 คัน ถูกทับแบน อีกคันมีไฟหน้าเปิดอยู่ ภาวนาให้ไม่มีคนอยู่ ส่วนอีก 3 คันไปตรวจสอบแล้วไม่มีคนติดอยู่ภายในรถ

อัญวุฒิ โพธิ์อำไพ เจ้าหน้าที่มูลนิธิร่วมกตัญญู

ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เข้าตรวจสอบในที่เกิดเหตุ พร้อมยอมรับว่า อุบัติเหตุครั้งนี้ ต้องเกิดจากความผิดพลาดในระหว่างการก่อสร้าง และรอการตรวจสอบสาเหตุ ส่วนฐานรากของโครงการเชื่อว่ายังมีความแข็งแรง พร้อมยืนยันว่าต้องมีคนรับผิดชอบกับเหตุการณ์นี้

ต้องมีคนรับผิดชอบ เพราะมีผู้เสียชีวิต เท่าที่ดูไม่ใช่เรื่องสุดวิสัย เพราะโครงการก่อสร้างผิดปกติ มันเป็นอุบัติเหตุที่ต้องไปดู เพราะว่าต้องมีความผิดพลาดเกิดขึ้น ตามหลักแล้ว ไม่ควรที่จะพังทลาย

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า สะพานพวกนี้จุดอ่อนที่สุดอยู่ระหว่างการทำงาน เพราะการทำงานมันไม่มีความมั่นคง เพราะว่าคอนกรีตแต่ละชิ้น ยังไม่ได้เทให้ต่อเนื่องกัน เมื่อไรก็ตามที่เทต่อเนื่อง และคอนกรีตแข็งตัวแล้ว มันจะมีความมั่นคงมากขึ้น

เพราะฉะนั้นจุดอ่อนที่สุดคือการก่อสร้างนี่แหละ เพราะมันเป็นจุดที่เอาทุกชิ้นมาประกอบกัน ดึงลวดให้มันร้อยกัน และรอให้คอนกรีตมันแห้งตัว ถ้าเกิดพังก็จะพังตอนก่อสร้างนี่แหละต้องไปดูสาเหตุต่าง ๆ

การตรวจสอบหาสาเหตุเบื้องต้น หลังจากหลายหน่วยงานทางด้านวิศวกรรม ลงพื้นที่ตรวจสอบ

วิษณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร สันนิษฐานว่า เกิดจากการทำงานระหว่างรอยต่อของกล่องคอนกรีต ที่นำมาเชื่อมต่อกัน มีกำลังไม่แข็งแรงพอที่จะรับแรงดันจากลวดสลิงเพิ่มแรง

การดึงลวดสลิงไปเพื่อให้แรง ถ้าคอนกรีตรับแรงได้ก็ไม่เป็นไร แต่หากคอนกรีตรับแรงไม่ได้ก็จะเป็นปัญหาทำให้คอนกรีตแตก เมื่อเกิดระเบิดขึ้นมาตัวพื้นที่เหลือ เนื่องจากมีการดึงลวดไปแล้วมันก็รั้งดึงเข้ามาทำให้เสาขาดเข้ามา
ส่วนที่มีคนตั้งข้อสังเกตว่า เสาไม่แข็งแรงหรือเปล่า ไม่ใช่นะครับ แต่เสาไม่ได้ออกแบบรับแรงข้างๆ ดึงขนาดนี้ พอมีการดึงรั้งก็ทำให้เสาขาดในตำแหน่งเสาที่ 84

สำหรับผู้ที่ได้รับผลกระทบด้านที่อยู่อาศัย ที่พักรวมกัน 10 คน หลังถูกโครงเหล็กพังลงมาทับบ้านจนเสียหาย บริษัทผู้รับเหมาได้เช่าบ้านพักชั่วคราวให้กับครอบครัวนี้ใหม่ แต่ยังไม่มีการคุยรายละเอียดเกี่ยวกับการเยียวยาของการขาดรายได้ ต้องปิดร้านซ่อมรถจักรยานยนต์

ขั้นตอนหลังจากนี้ อยู่ระหว่างพิจารณาการเก็บกู้ความเสียหายของโครงการ และรวมถึงการเยียวยาผู้เสียหายที่ได้รับผลกระทบจากโครงการนี้ ซึ่งตามแนวทางของกฎหมาย ผู้เสียหายก็สามารถเรียกร้องได้หลายส่วน

แต่ก่อนหน้าที่จะเกิดเหตุการณ์นี้เพียงไม่กี่สัปดาห์ มีนักท่องเที่ยวถ่ายภาพสะพานพระราม 3 พร้อมกับโพสต์ ว่า “เสาของสะพานที่ดูจากสายตาแล้วไม่น่าจะมีความมั่นคง”

สะพานพระราม 3 เปิดให้ใช้บริการมากว่า 20 ปีแล้ว เป็นสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาเชื่อมระหว่างถนนพระราม 3 ถึงถนนรัชดาภิเษก ฝั่งธนบุรี เป็นสะพานที่มีความสูง 66 เมตร สร้างเพื่อระบายการจราจรจากสะพานกรุงเทพ ที่ต้องปิดการจราจรเมื่อมีเรือใหญ่ผ่าน เป็นการก่อสร้างแบบอสมมาตร สูงเป็นอันดับที่ 5 ของโลก

แต่เมื่อมีนักท่องเที่ยวชาวญี่ปุ่นมาพบเห็นเสาของสะพาน ก็ได้โพสต์ข้อความพร้อมตั้งคำถามว่า “ทำไมเสาสะพานจึงดูเล็กและบาง จะรับน้ำหนักของโครงสร้างสะพานได้หรือไม่” ซึ่งผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมโครงสร้างสะพาน ยืนยันว่า สะพานดังกล่าวสร้างตามหลักวิศวกรรม แม้ว่าเสาจะขนาดเล็ก แต่สามารถรับน้ำหนักได้มาก

ความกังวลเกี่ยวกับเรื่องเสาที่แบน เทคโนโลยีในปัจจุบันไปไกลมาก กำลังของวัสดุในปัจจุบันก็เพิ่งสูงขึ้นมาก เพราะฉะนั้นถ้าทำเสาแบน แต่มีกำลังที่สูงกว่าเสาขนาดใหญ่ได้ มันก็จะมีกำลังที่สามารถรับแรงได้ เทียบเทากับเสาที่มีขนาดใหญ่หรือหนากว่าได้

ณัฐพงศ์ มกระธัช อนุกรรมการโครงสร้างและสะพาน วสท. กล่าวว่า ยกตัวอย่างเปรียบเทียบกับไม้บรรทัด ระหว่างไม้บรรทัดพลาสติก กับไม่บรรทัดฟุตเหล็กเอามาตั้งคู่กัน จะเห็นถึงความแข็งแรงที่แตกต่างกันได้ ฉะนั้นแม้จะเป็นของสิ่งเดียวกันแต่เพียงเพิ่มกำลังของโครงสร้างเท่านั้นเอง

สำหรับทางยกระดับอ่อนนุช-ลาดกระบัง ที่พังเสียหายอยู่นี้ นายณัฐพงศ์ บอกว่า สามารถให้วิศวกรโครงสร้างมาประเมินร่วมกับผู้เชี่ยวชาญ ในการรื้อถอนและสร้างขึ้นมาใหม่ได้ เพราะเชื่อว่า โครงสร้างโดยเฉพาะการปักเสาเข็ม ไม่น่าจะมีความเสียหาย

แต่หากยังมีข้อสงสัยเรื่องวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ก่อสร้าง ก็สามารถเก็บตัวอย่าง ส่งตรวจการรับแรงอัดได้ แต่การรื้อถอนในขณะนี้ยังต้องใช้ความระมัดระวัง

การรื้อโครงสร้างเหล็กไม่น่ายากเท่ากับการรื้อโครงสร้างที่พังถล่มลงมา เพราะว่าจากการสันนิษฐานคาดว่า การอัดแรงยังไม่แล้วเสร็จ เปรียบเหมือนสายกีตาร์ ถ้าเราหมุนแน่นมากขึ้นเรื่อย ๆ ก็มีโอกาสที่จะขาดได้ แต่ขณะเดียวกันมันสามารถที่จะหดตัวกลับมาได้ มันอาจจะทำให้โครงสร้างมันเกิดอันตรายกับผู้รื้อถอนได้
เจ้าหน้าที่กำลังเร่งหาสาเหตุที่แท้จริง ของเหตุการณ์สะพานยกระดับอ่อนนุช-ลาดกระบัง พังถล่มลงมา มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บหลายคน

เจ้าหน้าที่กำลังเร่งหาสาเหตุที่แท้จริง ของเหตุการณ์สะพานยกระดับอ่อนนุช-ลาดกระบัง พังถล่มลงมา มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บหลายคน

เจ้าหน้าที่กำลังเร่งหาสาเหตุที่แท้จริง ของเหตุการณ์สะพานยกระดับอ่อนนุช-ลาดกระบัง พังถล่มลงมา มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บหลายคน

การรื้อโครงสร้างนี้ต้องใช้ความระมัดระวัง และต้องให้ผู้มีความรู้เรื่องการอัดแรงโครงสร้างสะพานเข้ามาสังเกตการณ์ด้วย” ณัฐพงศ์กล่าว

ส่วนเรื่องของการเรียกร้องค่าเสียหาย จากผู้ที่ได้รับผลกระทบ นายปรเมศวร์ อินทรชุมนุม อัยการอาวุโส สำนักงานการสอบสวน สำนักงานอัยการสูงสุด บอกว่า ญาติผู้เสียชีวิต ผู้บาดเจ็บ ผู้ที่รถยนต์เสียหาย รวมทั้งผู้ที่ได้รับผลกระทบจากที่พักอาศัย และขาดรายได้ สามารถเรียกร้องได้ทั้งหมด หรือยื่นเรียกค่าเสียหายในช่วงที่อัยการจะส่งฟ้องสำนวนฟ้องต่อศาล

ผมเข้าใจว่า บริษัทรับเหมาอาจจะต้องถูกฟ้องในข้อหาประมาท กทม.อาจไม่โดนฟ้องในข้อหาประมาท เพราะเป็นเรื่องของวิศวกรไปควบคุม อยู่นอกเหนือความคาดหมาย แต่บริษัทผู้รับเหมาก่อสร้าง ต้องมีความระมัดระวังมากกว่า เพราะฉะนั้นคดีอาญา น่าจะเกิดกับบริษัท หรือวิศวกรที่ยังมีชีวิตอยู่

ส่วนทางแพ่งแยกฟ้องไปก็ได้ แต่ผู้เสียหายที่เสียชีวิต หรือเสียหายในทรัพย์สิน สามารถไปร้องขอชดเชยค่าเสียหายที่กระทรวงยุติธรรมได้ เพราะว่าเป็นการกระทำความผิดอาญาแน่นอน ไม่ใช่เหตุแผ่นดินไหว และปรากฏชัดว่าเป็นการก่อสร้างไม่ถูกหลักทางวิชาการเสียทีเดียว นายปรเมศวร์ กล่าว

การก่อสร้างด้วยวิธีการทำกล่องคอนกรีตสำเร็จรูป แล้วนำมาเชื่อมต่อด้วยลวดสลิงอัดแรงนั้น ปัจจุบันถือว่าเป็นวิธีที่กำลังได้รับความนิยม เพราะด้วยความรวดเร็วและประหยัดเวลา อีกทั้งไม่ต้องปิดการจราจรมาก แต่ก็เป็นข้อกังวลเรื่องความปลอดภัย เพราะจะต้องมีผู้ควบคุม และชำนาญในการประกอบชิ้นส่วนเข้าหากันเป็นอย่างดี

แต่ไม่ว่าเทคโนโลยีจะพัฒนาให้ทันสมัยไปได้มากแค่ไหนก็ตาม “ความรอบคอบ” ของผู้ควบคุมดูแลก็เป็นเรื่องสำคัญ ว่าจะทำอย่างไรให้การก่อสร้างแต่ละอย่าง “ปลอดภัย” เพื่อไม่ให้เกิดความสูญเสียที่คิดเป็นมูลค่าไม่ได้

เบญจพจน์ ทิพย์กมลแสง ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอส รายงาน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง