แม้ว่า มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 15 เม.ย.2563 จะมีมติจัดสรรอัตราบรรจุข้าราชการแก่พนักงานราชการ ลูกจ้างชั่วคราว (รายเดือน) สังกัดกระทรวงสาธารณสุข ที่ปฏิบัติงานเป็นด่านหน้าในสถานการณ์ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 จำนวน 38,105 อัตรา ใน 24 สายงาน แต่ก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของพยาบาลที่เรียนจบใหม่ ซึ่งเพิ่มขึ้นจำนวนมากในทุกปี ทำให้ปัญหาสมองไหลเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง
มีพยาบาลวิชาชีพจำนวนมาก ที่เรียนจบมาหลายรายยอมชดใช้ทุนก่อนจะลาออกไปอยู่โรงพยาบาลเอกชน หรือยอมชดใช้ทุนคืนรัฐ และลาออกไปประกอบอาชีพอื่น ซึ่งมีค่าตอบแทนและสวัสดิการที่คุ้มค่ากว่า เป็นปัญหาที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง
เสียงสะท้อนพยาบาลจบใหม่รอ “บรรจุข้าราชการ”
น.ส.พัชรีญา ชูพีรัชน์ พยาบาลวิชาชีพ โรงพยาบาลปทุมธานี ดูแลรับผิดชอบแผนกผู้ป่วยในอายุรกรรมหญิงมาประมาณ 3 ปี และยังไม่ได้บรรจุข้าราชการ ระบุว่า หน้าที่หลักคือดูแลผู้ป่วยตามเตียงที่รับผิดชอบจำนวน 8 -10 คน และจัดเตรียมยาให้ผู้ป่วยตามรอบเวลา
ระหว่างวันต้องทำหัตถการให้ผู้ป่วยตามแพทย์สั่ง รวมไปถึงป้อนอาหารผู้ป่วยที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ซึ่งภาระงานบางวันล้นมือ จนไม่มีเวลากินข้าวกลางวัน แม้ว่าภาระงานจะมาก แต่ยังไม่คิดลาออก เพราะต้องทำงานใช้ทุนให้กับโรงพยาบาลเป็นเวลา 4 ปี ซึ่งยังเหลืออีก 1 ปี หากลาออกก่อนจะต้องชดใช้ทุน 2 เท่า ทำให้ทุกวันนี้คาดหวังจะได้บรรจุข้าราชการ เพื่อความมั่นคงทางอาชีพ
ที่บ้านอยากให้บรรจุเป็นข้าราชการ จึงไม่ย้ายไปโรงพยาบาลเอกชน อยากบรรจุก่อนจบทุน เพราะรอนาน มีความลังเล ถ้าเราไม่ได้ติดทุนแล้ว ไม่ได้บรรจุสักที ก็มองหาทางเลือกอื่น ๆ
พยาบาลขาดแคลน ภาระงานล้นมือ
ด้าน น.ส.จิตติกา ใจกว้าง พยาบาลวิชาชีพ ดูแลผู้ป่วยนอกประจำแผนกจักษุ โรงพยาบาลปทุมธานี ระบุว่า ได้บรรจุข้าราชการหลังจากทำงานได้ 3 ปี และเพิ่งย้ายมาแผนกนี้ได้ 6 เดือน ทำหน้าที่ดูแลผู้ป่วยที่เข้ามารับการรักษาเฉลี่ย 120 คนต่อวัน
โดยแผนกนี้มีพยาบาล 4 คน ต้องทำทั้งเอกสาร งานบริการ ทำหัตถการให้กับผู้ป่วยตามแพทย์สั่ง ดูแลผู้ป่วยแต่ละคนจนกว่าแพทย์จะตรวจเสร็จ บางวันหากผู้ป่วยมีจำนวนมากต้องดูแลผู้ป่วยจนหมดจึงจะได้พัก
ทำงานจนกว่าแพทย์แต่ละท่านจะตรวจเสร็จ เราถึงจะปิดห้อง ถ้าคนไข้เยอะก็ต้องดูแลคนไข้เป็นหลัก บางคนไม่ได้กินข้าว เขาทำงานต่อเนื่องจนเสร็จ ถึงจะได้กิน
ภาระงานเยอะ-ค่าตอบแทนน้อย
นางพรทิพย์ คะนึงบุตร รองผู้อำนวยการ ฝ่ายการพยาบาล โรงพยาบาลปทุมธานี ยอมรับว่า ขณะนี้โรงพยาบาลปทุมธานี ประสบปัญหาขาดแคลนพยาบาล เพราะจำนวนพยาบาลที่มีอยู่ 477 คน ต้องรองรับทั้งผู้ป่วยในและผู้ป่วยนอกที่มารับการรักษาที่โรงพยาบาลปทุมธานี เฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 2,200 คนต่อวัน
ส่วนผู้ป่วยในมีประมาณ 430-470 คน เกินจำนวนเตียงที่โรงพยาบาลรองรับไว้คือ 408 เตียง ทำให้ทุกวันนี้ผู้ป่วยบางคนต้องนอนเตียงเสริม รวมทั้งการดูแลผู้ป่วยที่ปัจจุบันมีภาวะโรคแทรกซ้อนมากขึ้น ทำให้ภาระงานการดูแลผู้ป่วยเพิ่มขึ้นด้วย จากพยาบาลที่ขาดแคลนและภาระงานที่หนัก แม้จะรับพยาบาลจบใหม่เข้ามาทำงาน แต่ลาออกทุกปี
เรารับน้องตั้งแต่จบใหม่ ไม่มีใบประกอบวิชาชีพ มาฝึกสอนงาน เพื่อให้น้องสอบได้ น้องทำงาน 1-2 ปี น้องก็ไปทำงานที่เงินเดือนดีกว่า และที่สำคัญงานไม่หนักเท่า รพ.รัฐ
พยาบาลต้องทำงานหนักเพราะผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้น ขณะที่หลายคนมองว่าค่าตอบแทนไม่คุ้มค่า
เปิดรายได้พยาบาล
รองผู้อำนวยการฝ่ายการพยาบาลโรงพยาบาลปทุมธานี ระบุว่า ค่าตอบแทนของพยาบาลโรงพยาบาลปทุมธานี มีทั้งรายวันและรายเดือน สำหรับลูกจ้างรายวันที่ยังไม่ได้ใบประกอบวิชาชีพ จะได้ค่าตอบแทน 710 บาทต่อวัน
ส่วนรายเดือนหรือได้รับการบรรจุข้าราชการจะได้ค่าตอบแทน 15,000 บาท กรณีการเข้าเวรโอทีจะได้เวรละ 820 บาท โดยค่าเวรโอทีถือว่าได้มากกว่าโรงพยาบาลอื่น ๆ เพื่อเป็นแรงจูงใจให้กับพยาบาลได้ทำงานต่อ
พยาบาลจบใหม่ เขาอยากบรรจุ แต่มันไม่มีความหวัง ก็ไม่อยากอยู่กับเรา ทุกวันนี้ รพ.ปทุมฯ จบมาให้ทุน 120,000 บาท เพื่อให้อยู่กับเราอย่างน้อย 4 ปี ถ้าระหว่างนี้ไม่มีตำแหน่งให้บรรจุ เขาก็เตรียมลาออกเลย
พยาบาลวิชาชีพเรียกร้องให้บรรจุเป็นข้าราชการ
บรรจุข้าราชการ ช่วยรั้งให้อยู่ต่อ
รองผู้อำนวยการฝ่ายการพยาบาลโรงพยาบาลปทุมธานี ระบุว่า อัตรากำลังพยาบาลในโรงพยาบาลรัฐขาดแคลนมาก ต้องไปเชิญชวนนักศึกษาพยาบาลตามวิทยาลัยทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อให้เข้ามาทำงานที่โรงพยาบาล พร้อมกับเสนอเงื่อนไขให้ทุน 120,000 บาท
ที่ผ่านมาเมื่อพยาบาลจบใหม่เข้ามาทำงานได้ 1-2 ปี ก็จะลาออกไปทำงานโรงพยาบาลเอกชนจำนวนมาก เพราะค่าตอบแทนและภาระงานที่แตกต่างกัน เช่น ทางโรงพยาบาลให้ทุนปีละ 50 ทุน มีพยาบาลจบใหม่ลาออกปีละ 30 คน แม้ว่าจะต้องใช้ทุน 2 เท่า เขาก็ยินยอมเสียเงินจำนวนนี้ มองว่า หากได้บรรจุเป็นข้าราชการ จะช่วยลดการลาออกของพยาบาลจบใหม่ได้
เชื่อว่าน้องทุกคนต้องการความมั่นคง การบรรจุทำให้ดึงคนได้ ถ้าไม่ได้อยู่ในระบบราชการก็ไม่มีใครเหนี่ยวรั้งเขาเลย เขามีสิทธิ์จะไปไหนก็ได้ เพราะเงินเดือนไม่สูง งานหนักมาก เข้าเวรแต่ละครั้งคนไข้เยอะ ความกดดันสูง
วิภา ปิ่นแก้ว ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอส รายงาน