กว่า 1 สัปดาห์ หลัง ก.ล.ต. กล่าวโทษบุคคล-นิติบุคคล บริษัท คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STARK รวม 10 ราย ร่วมกันกระทำหรือยินยอมให้มีการ "ลงข้อความเท็จ" ในบัญชีเอกสาร ระหว่างปี 2564-2565 และแสดงรายการข้อมูลเสนอขายตราสารหนี้ และร่างหนังสือชี้ชวน ที่เชื่อว่าได้ "ตกแต่งงบฯ" รวมทั้ง "ปกปิดความจริง" ใน Factsheet เสนอขายหุ้นกู้ STARK เข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์
พร้อมกับ ใช้อำนาจ ตามมาตรา 267 สั่งอายัดทรัพย์ บุคคล-นิติบุคคล ทั้ง 10 ราย เป็นการใช้อำนาจอายัดทรัพย์ ครั้งแรกในรอบ 10 ปี
และยังส่งเรื่องให้ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน หรือ ปปง. และ กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ DSI ใช้อำนาจพนักงานสอบสวน ขยายผล เอาผิดตามกฎหมายฟอกเงิน หลังรวบรวมหลักฐานชี้ชัดว่า เป็นการกระทำโดยทุจริตหลอกลวง ทำให้ได้มาซึ่งทรัพย์สินของประชาชน เข้าเงื่อนไขความผิดมูลฐานคดีฟอกเงิน
อายัดทรัพย์ได้เล็กน้อย-ผู้ต้องหาหนี
กระบวนการตรวจนับ อายัดทรัพย์ ในนามบุคคล-นิติบุคคล รวมทั้งเรียกอดีตผู้บริหาร เข้ารับทราบข้อกล่าวหาแล้ว 2 คน ได้แก่
นาย นายชนินทร์ เย็นสุดใจ อดีตประธานกรรมการ บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เมื่อวันที่ 6 ก.ค.2566 แต่หลบหนีออกนอกประเทศ อยู่ระหว่างประสานตำรวจสากล ติดตามกลับมาดำเนินคดี
เจ้าหน้าที่ DSI อายัดรถหรู 4 คัน ของอดีตผู้บริหาร สตาร์คฯ
นายศรัทธา จันทรเศรษฐเลิศ อดีตกรรมการและในฐานะผู้บริหารฝ่ายการเงินของ บริษัท สตาร์คฯ แจ้งรับทราบข้อกล่าวหา เมื่อวันที่ 6 ก.ค.2566 แต่ขอเลื่อนเป็นวันที่ 20 ก.ค.2566 โดยอ้างว่า ติดประชุม พร้อมส่งทนายความส่งหนังสือ ให้สัมภาษณ์ว่า นายศรัทธา ไม่มีเจตนาประวิงเวลา
เจ้าหน้าที่ DSI อายัดรถหรู 4 คัน ของอดีตผู้บริหาร สตาร์คฯ
สัปดาห์หน้า ลุ้นผู้ต้องหา STARK มาตามนัดหรือไม่ ?
ขณะที่ นายวนรัชต์ ตั้งคารวคุณ ผู้ถือหุ้นใหญ่ บริษัท สตาร์คฯ ที่ชิง ร้องดีเอสไอ ว่าเป็นผู้เสียหาย เป็นตัวละครหนึ่ง ที่เข้าพบ ก.ล.ต. เพื่อให้ข้อมูลกระบวนการทุจริตตบแต่งบัญชีในบริษัท นานกว่า 2-3 ชั่วโมง รวมทั้ง ย่องเข้าพบ ดีเอสไอ เพื่อเข้าให้ข้อมูลเพิ่มเติม ก่อนออกแถลงการณ์ เรียกร้องให้ ก.ล.ต.-ดีเอสไอ เห็นใจพนักงาน หลังถูกออกคำสั่งอายัดทรัพย์ บริษัทย่อย
นายผาด ธเนศวงษ์สกุล ทนายความ ยืนยัน นายศรัทธา จันทรเศรษฐเลิศ จะเดินทางมารับทราบข้อกล่าวหา
จนเกิดภาพ พนักงานบริษัท ย่อย ของสตาร์คฯ เข้ายื่นหนังสือถึง ก.ล.ต. ขอให้ทบทวนคำสั่งอายัดทรัพย์ แต่จนถึงตอนนี้ ดีเอสไอ ยังคงระบุยอดทรัพย์ที่อายัดไว้ได้ คือ บัญชีเงินฝาก และทรัพย์สิน ของนายศรัทธา เป็นหลัก จำนวนประมาณ 100 ล้านบาท เทียบไม่ได้ กับมูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้น ทั้งหุ้นกู้ หุ้นสามัญ หุ้น PP และการกู้เงินจากสถาบันการเงิน รวมไม่ตำกว่า 50,000 ล้านบาท
นาย วิโรจน์ พวงโลก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อดิสรสงขลา
โดยมีรายงานว่า ดีเอสไอ เตรียมแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติม ต่อ นายวนรัชต์ คาดว่า นายวนรัชต์ จะเดินทางมารับทราบข้อกล่าวหา สัปดาห์หน้า
คดีทุจริต บริษัท สตาร์คฯ ยังกระทบถึงความเชื่อมั่น ต่อตลาดทุน หลังเกิดคำถาม ผู้สอบบัญชี – กองทุน - ผู้แทนจำหน่ายหุ้นกู้ - บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อ ไม่เห็นความผิดปกติทางบัญชีที่เกิดขึ้นหรือ
พนักงานบริษัท เฟ้ลปส์ ดอด์จฯ เรียกร้อง ก.ล.ต. ยกเลิกคำสั่ง อายัดทรัพย์ฯ
“ล้อมคอก” ลดความเสี่ยงซ้ำรอย “STARK”
ปรากฏการณ์ “ล้อมคอก” จึงเกิดขึ้น นายพีรพงศ์ จิระเสวีจินดา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท หลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม บัวหลวง ระบุว่า กองทุน ลงทุนหุ้น สตาร์คฯ 4 กองทุน ขาดทุนเฉลี่ยกองละ 600-700 ล้านบาท และอยู่ระหว่าง ดำเนินคดีฟ้องกลุ่มร่วมกับ บลจ.อื่น พร้อมกับ ปรับนโยบายลงทุน ใช้ ESG วิเคราะห์ และตีมูลค่าหุ้น
ขณะที่ ผู้ลงทุนกองทุนบัวหลวงคนหนึ่ง บอกว่า รู้สึกผิดหวัง และเกิดความสงสัยในการทำงานของผู้บริหารกองทุนฯ หลังลงทุนผิดพลาด และไม่เห็นความผิดปกติ บัญชีบริษัทสตาร์คฯ จึงชะลอการลงทุนกับ บลจ. นี้ และหันไปลงทุนหุ้นต่างประเทศ ซึ่งสร้างโอกาสผลตอบแทนดีกว่า
ผู้บริหาร ในอุตสาหกรรมตลาดทุน 11 องค์กร ตั้งโต๊ะแถลงข่าวเรียกความเชื่อมั่น
นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ตลท. ไม่สามารถรับประกันได้ว่า จะไม่เกิดเหตุซ้ำรอยแบบเดียวกับ “สตาร์คฯ” แต่หลักเกณฑ์ใหม่ ที่ได้ออกมา จะช่วยลดความเสี่ยง และเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการตรวจสอบให้รัดกุมขึ้น
บอร์ด ก.ล.ต. เห็นชอบ แนวทางการยกระดับการกำกับดูแลกิจการที่ดี ของบริษัทผู้ออกหลักทรัพย์ เพื่อยกระดับการกำกับดูแลกิจการที่ดี และความยั่งยืนให้แก่บริษัทผู้ออกหลักทรัพย์
โดยอยู่ระหว่างทบทวนหลักเกณฑ์ เข้าจดทะเบียน ไอพีโอ และ Backdoor listing / เพิ่มกำไรต่อส่วนทุนเพิ่มขึ้น เพิ่มเครื่องหมายเตือนกรณีพบความผิดปกติ เพิ่มความเข้มงวดในการเพิกถอนหลักทรัพย์ กำหนดให้ บริษัทจดทะเบียน ต้องเปิดเผยวัตถุประสงค์และความคืบหน้า แผนการลงทุน ตลอดจน ปรับปรุงกฎหมายหลักทรัพย์ ให้เอื้อต่อการเร่งรัดกระบวนการเอาผิดให้เร็วขึ้น
นายชนินทร์ เย็นสุดใจ ประธานกรรมการ บริษัท สตาร์คฯ ถ่ายรูปร่วมกับผู้บริหาร (25/7/2019)
“หมูไม่กลัวน้ำร้อน” หุ้นเล็ก-หุ้นกลาง ป่วนตลาด
ระหว่างที่ ทุกสายตา จับจ้องคดี สตาร์คฯ แต่เหมือน “หมูไม่กลัวน้ำร้อน” หุ้นเข้าตลาดใหม่ หรือ ไอพีโอ เคลื่อนไหวอย่างผิดปกติ บางส่วน ยังมีสตอรี่ คล้าย “สตาร์ค”
เช่น บริษัท วันทูวัน คอนแทคส์ จำกัด (มหาชน) หรือ OTO ราคาหุ้น เคยถูกลากขึ้นไปสูงสุด 24.40 บาท เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2566 ก่อนถูกทุบราคาเหลือหุ้นละ 1.41 บาท และราคาปัจจุบัน (14 ก.ค.2566) เคลื่อนไหวที่ 1.65 บาท
ท่ามกลางความสงสัยว่า อาจมีผู้ใช้ข้อมูลภายใน หรือ อินไซเดอร์ หลังพบว่า หุ้น OTO ติด 10 อันดับแรก หุ้นที่มีการขอสินเชื่อเพื่อซื้อขายสูงสุด คิดเป็นร้อยละ 36 ของทุนจดทะเบียนวางเป็นหลักประกัน
ขณะที่ บริษัท ออลล์ อินสไปร์ ดีเวลลอปเม้นท์ ผิดนัดชำระหนี้ หุ้นกู้ จำนวน 4 ชุด ผู้แทนหุ้นกู้ เรียกให้คืนเงินต้นทันที 1,483 ล้านบาท กระทบราคาหุ้น ดิ่งเหลือ 0.07 บาท เรียกได้ว่า สะเทือนทั้งตลาดหุ้น และหุ้นกู้
จับตา “NUSA” ห่วงซ้ำรอย “STARK”
แต่ที่ถูกจับตามองว่า อาจเป็นคดีคล้ายสตาร์คฯ มากที่สุด คือ กรณีของบริษัท ณุศาศิริ จำกัด (มหาชน) หรือ NUSA ถูกตลาดหลักทรัพย์ฯ สั่งให้ ชี้แจงภายในวันที่ 25 กรกฎาคม 2566
หลังผู้สอบบัญชี รายงานผลสอบงบการเงิน แบบมีเงื่อนไขพิเศษ หลังพบว่า บริษัท ณุศา ลงทุนในบริษัทย่อย ของ บริษัท มอร์ รีเทิร์น ในสัดส่วนร้อยละ 50 โดยวางมัดจำไปแล้ว แต่ต่อมายกเลิกการลงทุน พร้อมกับโอนกรรมสิทธิ์หุ้น และถูกเลื่อนกำหนดจ่ายเงินเพิ่มทุน และค่ามัดจำคืน ซึ่งอาจกระทบสภาพคล่องบริษัท
ผู้สอบบัญชี ยังตั้งข้อสังเกต ปัญหาข้อพิพาท กับ China International Economic and Trade Arbitration Commission ให้ บริษัทชำระหนี้ค่างานก่อสร้าง จำนวน 1,723 ล้านบาท
บริษัท ณุศา อยู่ระหว่างรอำชี้ขาด ข้อพิพาท หนี้ค่าก่อสร้าง บริษัท ณุศา เลเจนด์ สยาม 1,723 ล้านบาท
รวมทั้ง รายการยกเลิกการเข้าซื้อโรงแรม ที่เยอรมนี ที่ได้รับการโอนกรรมสิทธิ์หุ้นมาแล้ว แต่ยังไม่ได้ค่ามัดจำคืน
ไม่นับรวม การซื้อหุ้น บริษัท เด็มโก้ จำกัด (มหาชน) หรือ DEMCO จำนวน 93 ล้านหุ้น ซึ่งบริษัทที่ปรึกษาการเงินอิสระไม่เห็นด้วย เพราะ เงื่อนไขไม่เหมาะสม หลังดีลนี้ ไม่ต่างจากการ ปล่อยกู้ให้ซื้อหุ้นตระกูลตัวเอง และยังเกิดส่วนต่าง ผลประโยชน์ 250 ล้านบาท
โดยผลประกอบการบริษัท ขาดทุนต่อเนื่องมาหลายปี แต่อาศัยการสร้างข่าว ซื้อกิจการ ขยายการลงทุน เพื่อกระตุ้นราคาหุ้น ล่าสุด บริษัท ณุศา ประกาศเตรียมแผนเพิ่มทุน ขายให้บุคคลในวงจำกัด วงเงิน 13,000 ล้านบาท เพื่อชำระหนี้และเสริมสภาพคล่อง
ผู้สอบบัญชีเข้ม คาดเจอ บมจ. หนี้เสีย Q2 พุ่ง
นายประกิต สิริวัฒนเกตุ กรรมการบริษัท บลจ.เมอร์ชั่นพาร์ทเนอร์ เชื่อว่า บริษัท สตาร์คฯ อาจไม่ใช่บริษัทเดียว ในตลาดหุ้น ที่ตบแต่งบัญชี โดยวิกฤตบริษัท สตาร์คฯ จะทำให้ บริษัทผู้สอบบัญชี เพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบงบการเงินบริษัท และงบการเงินจริงบริษัทจดทะเบียน อาจพบปัญหาหนี้เสีย และ รายการที่ตบแต่งบัญชี เพิ่มขึ้น ในการประกาศผลประกอบการ ประจำไตรมาส 2 ของปี ซึ่งจะทยอยประกาศตลอดเดือนนี้
โดย : พรรณทิภา ภัทรวรเมธ
อ่านข่าวเพิ่ม :