วันนี้ (13 ก.ค.2566) นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวหลังถูกอภิปรายพาดพิงจากนายชาดา ไทยเศรษฐ์ ส.ส.พรรคภูมิใจไทย และ นายประพันธ์ คูณมี ส.ว. โดยระบุว่า ขอบคุณนายชาดา และนายประพันธ์ ที่สอบถามถึงคุณสมบัติในฐานะที่ถูกเสนอชื่อเป็นนายกฯ รวมถึงติติงเรื่องบุคลิกและภาวะผู้นำ ซึ่งตนเองพยายามพัฒนาให้เป็นผู้ฟังมากกว่าพูดและพยายามพัฒนาให้เป็นคนที่รักษาคำพูด เหมือนที่พรรคภูมิใจไทยพูดว่า "พูดแล้วทำ"
ผมพยายามพัฒนาความเป็นผู้นำที่แม้ไม่เห็นด้วย แต่เห็นว่าเป็นเสรีภาพที่ท่านจะพูด นี่จึงเป็นหน้าที่ของรัฐสภา นี่คือสาเหตุที่ต้องใช้รัฐสภาแก้ไขกฎหมายที่เป็นข้อขัดแย้งมาโดยตลอด และนี่เป็นเวทีเลือกนายกฯ ไม่ใช่เวทีในการแก้ไขกฎหมายใด ๆ และผู้นำของประเทศนี้จะต้องมีความอดทนอดกลั้น รับฟังข้อกล่าวหาที่จะจริงหรือไม่จริงก็แล้วแต่
นอกจากนี้ นายพิธา ยังกล่าวถึงกรณีศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC) ซึ่งมีหน้าที่เกี่ยวกับอาชญากรรมทางสงคราม การฆ่าล้างเผ่าพันธ์ุ ที่นายชาดากังวลว่า ประเทศต่างๆ ทั่วโลกที่เป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เช่น ญี่ปุ่น, อังกฤษ, กัมพูชา, สวีเดน, เดนมาร์ก ได้ลงนาม ถ้าเราเข้าใจว่าพระองค์ท่านอยู่เหนือการเมือง และท่านใช้ทรงอำนาจผ่าน คณะรัฐมนตรี อยู่แล้ว ตรงนี้มันไม่เป็นประเด็นอย่างที่ท่านได้กล่าวหา
กรณีนายประพันธ์ กล่าวถึงคุณสมบัติของตนเองนั้น ยืนยันว่า ผมยังมีคุณสมบัติสมบูรณ์แบบทุกประการ และด้วยความชอบธรรม ไม่ว่าจะกระบวนการที่ผมยังไม่รู้เลยว่าข้อกล่าวหาคืออะไร เห็นมติผ่านสื่อมวลชน หลักการที่สมมติฐานว่า บริสุทธิ์ไว้ก่อน มันจะมีศาลเตี้ยในรัฐสภานี้ไม่ได้ ผมยังไม่ได้มีสิทธิจะชี้แจงเลย และปี 62 ก็มีเหตุลักษณะนี้ก็ไม่กระทบการเลือกนายกฯ ท่านบอกว่ารัฐบาลที่รวมเสียงข้างมากได้
ผมรัดกุมมาตลอดเรื่องคุณสมบัติ ทั้งการยื่นต่อ ป.ป.ช.และ สอบถามไปยัง กกต.และ ป.ป.ช.มาตลอด ตั้งแต่ เป็น ส.ส.ครั้งแรก และครั้งต่อ ๆ ไป เพราะผมยอมรับการตรวจสอบ ดีกว่าบางคนที่ไม่อยู่ในกระบวนการตรวจสอบทั้ง กกต.หรือ ป.ป.ช.
นายพิธายังระบุว่าผู้นำที่ดีของประเทศจะต้องมีความอดทนอดกลั้น รับฟังกับข้อกล่าวหาที่จะจริงหรือไม่จริง โดยเป็น 4 ข้อที่ขอสัญญาว่าเป็นคุณลักษณะที่ผู้นำของประเทศไทยควรจะมี และระบุว่าเรื่องการแก้ไขมาตรา 112 ไม่ได้อยู่ใน MOU ของ 8 พรรคการเมืองจัดตั้งรัฐบาล
แต่การแก้ไขกฎหมายอยู่ที่ฝ่ายนิติบัญญัติ รับเป็นหน้าที่ของสภาผู้แทนราษฎรที่จะแก้ไขกฎหมายที่เป็นข้อขัดแย้ง แม้แต่ละคนจะมีความเห็นที่แตกต่างกัน พร้อมระบุว่าหากมีการพูดคุยอย่างมีวุฒิภาวะและมีเหตุผล นี่จะเป็นทางออกของประเทศจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
"ประพันธ์" คัดค้านเสนอชื่อ "พิธา" เป็นนายกฯ
นายประพันธ์ คูณมี สมาชิกวุฒิสภา อภิปรายว่าพวกเรามีที่มาแตกต่างจาก ส.ส.แต่รัฐธรรมนูญให้ถือว่า ส.ส. และ ส.ว.ย่อมเป็นผู้แทนของชาวไทย ต้องทำหน้าที่โดยปราศจากการครอบงำ และทำหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต
การพิจารณาวันนี้ ต้องรับฟังเสียงของประชาชนทั้งประเทศ หวังว่าจะให้เกียรติการทำหน้าที่ของ ส.ว.และเคารพกฎหมาย ไม่ว่าจะโหวต ให้ความเห็นชอบ หรือไม่ให้ความเห็นชอบ
นายประพันธ์ กล่าวว่า ตามที่ได้มีการเสนอชื่อนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกฯ นั้น ตนเองถือว่า เป็นการเสนอชื่อบุคคลที่มีคุณสมบัติลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญมาตรา 160 โดยชัดแจ้ง ซึ่งการเสนอชื่อแม้อยู่ในบทเฉพาะกาล แต่ยังอยู่ในบทบัญญัติมาตรา 159 สภาฯ ต้องให้ความเห็นชอบบุคคลที่ไม่มีลักษณะต้องห้าม ที่สำคัญต้องไม่ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์ หรือสื่อมวลชน ซึ่งนายพิธา มีปัญหาเรื่องคุณสมบัติ ขัดต่อมาตรา 160 และมาตรา 98 (3) การเสนอชื่อนายพิธาเพื่อให้ความเห็นชอบเป็นนายกฯ ถือว่าขัดข้อบังคับ 136
นายประพันธ์ กล่าวว่า ปัญหาเรื่องคุณสมบัติของนายพิธา ปรากฏข้อเท็จจริงชัดแจ้งเมื่อวานนี้ (12 ก.ค.) กกต. ยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้มีคำสั่งวินิจฉัยสมาชิกภาพ ส.ส. ว่าสิ้นสุดลงหรือไม่ ซึ่งศาลลงรับในทางธุรการ ส่วนในชั้นสภา ต้องพิจารณาว่าบุคคลดังกล่าวมีปัญหาเรื่องคุณสมบัติหรือไม่ ไม่ต้องรอคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ
นายประพันธ์ กล่าวว่า กรณีที่ขาดคุณสมบัติมาตรา 160 หากดึงดันลงมติให้บุคคลที่มีคุณสมบัติต้องห้าม อาจถูกดำเนินคดีตามมาตรา 231 (1) จงใจปฏิบัติหน้าที่ หรือใช้อำนาจขัดกฎหมาย ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรม ส.ส. ส่วน ส.ว. ที่จะโหวตในวันนี้ มีปัญหาประมวลจริยธรรม ข้อ 6,7 และ 44 จึงไม่เห็นด้วย และขอคัดค้านการเสนอชื่อนายพิธา เป็นนายกฯ
เกาะติดการเลือก นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของประเทศไทย
ทาง ไทยพีบีเอส หมายเลข 3 และ ทางออนไลน์ www.thaipbs.or.th/live
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
ประชุมสภา : เริ่มแล้ว! "วันนอร์" ลั่นทำหน้าที่ประชุมรัฐสภาเป็นกลาง โหวตนายกฯ
ประชุมสภา : "เพื่อไทย" เสนอ "พิธา" เป็นนายกฯ ไร้พรรคอื่นเสนอแคนดิเดตนายกฯแข่ง
ประชุมสภา : หลายจังหวัดชุมนุมให้กำลังใจ-จับตา “โหวตนายกฯ คนที่ 30”