โซเชียลยังคงตามหา พลายประตูผา 1 ในช้างไทยอีก 2 เชือกที่ถูกส่งไปในนามทูตสันถวไมตรีที่ประเทศศรีลังกา ซึ่งก่อนหน้านี้ น.ส.กัญจนา ศิลปอาชา ปรึกษาคณะทำงานยุทธศาสตร์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเดินทางไปรับพลายศักดิ์สุรินทร์กลับไทย มีแผนจะไปติดตามพลายประตูผา แต่ไม่พบตัว
วันนี้ (7 ก.ค.2566) เฟซบุ๊ก Voice For Elephants Sri Lanka รายงานว่านายพจน์ หาญพล เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงโคลัมโบ ประเทศศรีลังกา เดินทางไปยังวัดพระธาตุเขี้ยวแก้ว เมืองแคนดี ตามคำเชิญของ นายปราดีป นิลานก้า เดล่า นิลาเม่ ไวยาวัจกรของวัดพระธาตุเขี้ยวแก้ว ซึ่งดูแลพลายประตูผา หรือ Thai Rajaa นายปราดีป และ ดร.อโศกา ดังโกลล่า หัวหน้าภาควิชา Veterinary Clinical Science เชิญเอกอัครราชทูตไทยไปดูพลายประตูผา ที่วัด Suduham Pola ซึ่งอยู่ในเมืองแคนดี ห่างจากวัดพระธาตุเขี้ยวแก้วประมาณ 3 กม.
นายพจน์ ระบุว่า พลายประตูผา อยู่ในบริเวณลานโล่ง เป็นลานปูน และลานดิน มีเชือกกั้น ล่ามโซ่ขาหน้า 2 ขาติดกับต้นไม้ใหญ่ และขาหลัง 1 ขา เพราะยังอยู่ในช่วงตกมัน แต่ไม่ได้ตึงมากนัก มีระยะผ่อนได้และยืนในท่าทางธรรมชาติได้ ไม่ได้ถูกดึงรั้งจนเกินไป
พบว่าพลายประตูผา หรือไทยราชามีสุขภาพแข็งแรงดี ไม่พบปัญหาใดๆ และยืนยันว่าไทยไม่ได้มีแนวคิดในการทวงคืนช้าง
พจน์ หาญพล เอกอัครราชทูตไทยประจำศรีลังกา เดินทางไปยังวัดพระธาตุเขี้ยวแก้ว เมืองแคนดี ติดตามพลายประตูผา พบสุขภาพดีไม่มีปัญหา
ไทยเล็งติดตามช้างไทยในต่างแดนทุกเชือก
ด้านนายประเสริฐ สอนสถาพรกุล ผอ.กองคุ้มครองพันธุ์สัตว์ป่าและพืชป่าตามอนุสัญญา กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ให้สัมภาษณ์ไทยพีบีเอสออนไลน์ว่า ขณะนี้ทางกรมอุทยานฯ องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (อ.อ.ป.) ได้เตรียมติดตามช้างไทยในต่างแดนที่ถูกส่งออกไป ซึ่งมีข้อมูลเบื้องต้น 20 เชือกที่ส่งไปในนามทูตสันถวไมตรี ทั้งในศรีลังกา เดนมาร์ก ญี่ปุ่น สวีเดน ออสเตรเลีย
อ่านข่าวเพิ่ม ไทยยันไม่คิดทวงคืน "ช้างไทยในต่างแดน" หลังข่าวศรีลังกาขู่ฟ้อง
นายประเสริฐ กล่าวว่า หลังจากนี้ เตรียมดูข้อมูลประวัติ และสืบข้อมูลแต่ละเชือก เพื่อติดตามว่าแต่มีสถานภาพ มีความเป็นอยู่อย่างไร โดยจะต้องตีกรอบวางแนวทาง ร่วมกับกระทรวงต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ทั้งนี้ กรมอุทยานฯ เกี่ยวข้องเรื่องใบอนุญาตการส่งออกช้างไปต่างประเทศ เพราะช้างอยู่ในบัญชี 1 อนุสัญญาไซเตส ชนิดพันธุ์ของสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ห้ามค้าโดยเด็ดขาด ยกเว้นเพื่อการศึกษา วิจัย หรือเพาะพันธุ์ ซึ่งต้องได้รับความยินยอมจากประเทศที่จะนำเข้าเสียก่อน ประเทศส่งออกจึงจะออกใบอนุญาตส่งออกได้ ทั้งนี้ต้องคำนึงถึงความอยู่รอดของชนิดพันธุ์
ที่ผ่านมาไม่ได้มีการติดตามช้างไทยที่ถูกส่งไปในต่างแดนตั้งแต่ 20 ปีก่อนว่ามีสถานภาพมีความเป็นอยู่อย่างไร แต่เชื่อว่าหลายประเทศที่รับช้างไปจะมีการดูแลอย่างดี ส่วนกรณีช้างในศรีลังกา เป็นประเด็นเพราะมีการร้องเรียน
อ่านข่าวเพิ่ม ไทยส่ง "ช้างไทย" ทูตสันถวไมตรี 20 เชือก
Voice For Elephants Sri Lanka เผยภาพ
"พลายประตูผา" อายุมากเสี่ยงอันตรายถ้าเคลื่อนย้าย
ขณะที่ก่อนหน้านี้ นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) โพสต์เฟซบุ๊ก TOP Varawut - ท็อป วราวุธ ศิลปอาชา ระบุว่า คณะสัตวแพทย์ ของมหาวิทยาลัยเมืองแคนดี้ ประเทศศรีลังกา ซึ่งเป็นเมืองที่พลายประตูผาอาศัยอยู่
ได้ติดต่อมายังกรมอุทยานฯ แสดงเจตจำนงว่ามีความพร้อมที่จะช่วยดูแล และแลกเปลี่ยนความรู้เกี่ยวกับเรื่องการรักษาพยาบาลช้าง จากนี้ไปการทำงานด้านสุขภาพช้างระหว่างไทยกับศรีลังกา จะมีความใกล้ชิดกันมากขึ้น
พลายประตูผา มีความแตกต่างจาก พลายศักดิ์สุรินทร์ เพราะมีอายุมากเกือบ 50 ปี การเคลื่อนย้ายอาจมีความเสี่ยงและเป็นอันตรายกับช้างได้ จึงต้องมีโครงการร่วมมือถ่ายทอดความรู้ การรักษาพยาบาลช้าง จะทำให้พลายประตูผา ได้รับการดูแลอย่างต่อเนื่อง
นายวราวุธ ระบุว่า ช่วงเดือนก.ย.นี้ น.ส.กัญจนา และทีมสัตวแพทย์ จะเดินทางไปแลกเปลี่ยนความร่วมมือกับหน่วยงานของศรีลังกา ในการถ่ายทอดความรู้ และเทคนิคการดูแลรักษาพยาบาลช้าง เพราะศรีลังกา เป็นประเทศที่มีช้างเลี้ยง และช้างป่าจำนวนมาก
สอดคล้องกับหนึ่งในผู้ที่เคยเดินทางไปติดตามช้างไทยในศรีลังกา ซึ่งเคยไปพบพลายประตูผา ที่วัดพระเขี้ยวแก้ว มองว่าพลายประตูผา ไม่ได้มีความเป็นอยู่ที่แย่ แต่ช้างมีสภาพอ้วน และเป็นช้างชรา แต่ได้ตรวจสุขภาพจากสัตว แพทย์ ที่มีรายงานผลตรวจทุกปี แต่ช่วงที่เดินทางตั้งแต่ ก.ย.2565 เป็นช่วงที่ช้างกำลังตกมัน จึงไม่ได้เข้าใกล้ตัวช้าง
ไทยส่งช้างไทยไปต่างแดน 20 เชือก
ข้อมูลจากกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช พบว่า ตั้งแต่ก่อนปี 2544-2559 มีช้างไทย 20 เชือกที่ถูกส่งไปอยู่ต่างแดนใน 5 ประเทศ คือ ศรีลังกา เดนมาร์ก ญี่ปุ่น สวีเดน ออสเตรเลีย โดยแบ่งออกเป็นดังนี้
- ก่อนปี 2544 กรมป่าไม้ส่งออกช้าง 1 เชือกไปประเทศศรีลังกา (พลายประตูผา)
- ปี 2544 กรมป่าไม้ส่งออกช้าง 2 เชือกไปประเทศศรีลังกา (พลายศักดิ์สุรินทร์ และ พลายศรีณรงค์)
- ปี 2544 กรมป่าไม้ส่งออกช้าง 3 เชือกไปประเทศเดนมาร์ก
- ปี 2545 กรมป่าไม้ ส่งออกช้าง 2 เชือกไปยังประเทศญี่ปุ่น
- ปี 2547 กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ส่งช้าง 2 เชือกไปประเทศสวีเดน
- ปี 2548 จังหวัดสุรินทร์ ส่งออกช้าง 2 เชือกไปประเทศญี่ปุ่น (พลายอาทิตย์ และ พังอุทัย)
- ปี 2559 องค์การสวนสัตว์ในพระบรมราชูปถัมภ์ ส่งออกช้าง 8 เชือกไปประเทศออสเตรเลีย (พลายกุ้ง, พังทองดี, พังน้ำอ้อย, พังดอกคูณ, พังพรทิพย์, พังผักบุ้ง, พังแตงโม ส่วนอีกเชือก ไม่ระบุชื่อ)
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
ไม่เพียง "พลายศักดิ์สุรินทร์" แต่ยังมี "ช้างไทย" อีก 10 เชือกอยู่ต่างแดน?