วันนี้ (5 ก.ค.2566) นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ว่าที่ประธานสภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยว่า ได้เชิญเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร รองเลขาธิการ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องมาหารือ เพื่อเตรียมความพร้อม สำหรับพิธีรับสนองพระบรมราชโองการ โปรดเกล้าฯ แต่งตั้งประธานสภาฯ และรองประธานสภาฯ ซึ่งคาดว่าจะมีภายใน 1-2 วันนี้
ประชุมสภาผู้แทนราษฎรนัดแรก วันที่ 3 ก.ค.2566
และเตรียมการสำหรับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร นัดแรก ในวันที่ 12 ก.ค. โดยจะมีวาระที่ให้สมาชิก ซึ่งยังไม่ปฏิญาณตนก่อนเข้ารับตำแหน่ง ส.ส. รวมถึงกำหนดกรอบสมัยประชุม และวันในการประชุมแต่ละสัปดาห์
ส่วนการประชุมรัฐสภาเพื่อเลือกนายกรัฐมนตรีนั้น นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวว่า ได้หารือกับนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภาแล้ว และเห็นตรงกันว่าให้กำหนด วันประชุมคือวันที่ 13 ก.ค. ซึ่งจะมีวาระเลือกนายกรัฐมนตรี แต่หากเลือกครั้งแรกไม่ได้ 376 เสียง จะต้องนัดประชุมใหม่
อ่านข่าว : มติเอกฉันท์ "วันนอร์" นั่งประธานสภาผู้แทนราษฎร
อย่างไรก็ตามคงต้องดูสถานการณ์ในวันนั้นเพราะอาจจะผ่าน เพียงแค่การประชุมครั้งเดียวก็ได้ แต่หากไม่ผ่านก็ต้องมาวิเคราะห์ดูคะแนนที่ได้ ว่าขาดจำนวนเท่าใด จึงจะครบ 376 และฝ่ายผู้เกี่ยวข้องจะต้องไปหาแนวทาง ประสาน ก่อนจะมาประเมินอีกครั้งว่าจะกำหนดวันประชุมเมื่อใด
แต่โดยสรุปคือ รัฐสภาจะต้องประชุม เพื่อเลือกนายกรัฐมนตรีให้ได้ ถ้า นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ไม่ได้ก็ต้องหาจนได้ เพราะรัฐสภามีอำนาจหน้าที่ในการเลือกนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญ เพื่อไปบริหารประเทศ เพราะประเทศจะขาดนายกรัฐมนตรีไม่ได้
นายวันมูหะมัดนอร์ นัดโหวตนายกรัฐมนตรี วันที่ 13 มิ.ย.2566
นายวันมูหะมัดนอร์ ขอพูดอย่างเป็นกลางว่า สภาผู้แทนราษฎรมีหน้าที่ออกกฎหมาย พิจารณาร่างกฎหมายงบประมาณ ซึ่งได้รวมกันในการจัดตั้งรัฐบาล 312 เสียงแล้ว เมื่อวานนี้ ในการเลือกรองประธานสภาฯ ก็ได้แสดงให้เห็นว่า ได้เสียงมาอย่างพร้อมเพรียง
การเลือกนายกรัฐมนตรี ต้องได้เสียง 376 เสียง และขาดอยู่ 64 เสียง ถ้ายังเลือกไม่ได้ก็ต้องทำให้ได้ และในรัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดว่า จะต้องเลือกกี่ครั้ง เป็นคนเดิมหรือคนใหม่ ต้องดูตามความเหมาะสม
การเลือกนายกฯ ประธานจะตัดสินใจคนเดียวไม่ได้ ต้องปรึกษาทุกฝ่ายเพราะเรื่ององค์ประชุมเป็นเรื่องสำคัญ จึงต้องกำหนดวันที่ สมาชิกพร้อมร่วมประชุมเกินครึ่งให้ได้ ดังนั้นเชื่อมั่นว่าหากทำอะไรด้วยความเหมาะสมและให้เกิดประโยชน์กับประชาชน จะทำให้บรรลุเป้าหมาย
คนที่จะเป็นนายกรัฐมนตรี ต้องเป็นคนที่มีคุณสมบัติครบถ้วน และตามรายชื่อที่เสนอไว้ต่อกรรมการการเลือกตั้ง หากเลือกแล้วยังไม่ได้ รัฐธรรมนูญก็เปิดทางกำหนดให้ เสนอคนนอกได้แต่ต้องใช้เสียง 2 ใน 3 ของสมาชิกรัฐสภา
ในการรับรองแต่ในการลงมติ ก็ต้องใช้เสียง 376 เสียงเหมือนเดิม ซึ่งเราไม่สามารถคาดการณ์ล่วงหน้าได้ ย้ำว่าสิ่งสำคัญคือต้องมีนายกรัฐมนตรีที่บริหารประเทศต่อไปได้
อ่านข่าว : “พิธา” รับจะน้อมนำพระราชดำรัส “ในหลวง” ไปบริหารประเทศ
สำหรับคำมั่นสัญญา ของ 8 พรรคการเมืองร่วมจัดตั้งรัฐบาล ที่ระบุว่า จะต้องผลักดันนายพิธาไปให้ถึงที่สุด จะเป็นปัจจัยในการตัดสินใจ กำหนดกรอบเวลาในการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี ว่าจะต้องเสนอชื่อนายพิธาอีกกี่ครั้งจึงจะเปลี่ยน
พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ในการประชุมสภาฯ เมื่อ 3 ก.ค.2566
8 พรรคร่วมรัฐบาลได้ตกลงใจ สนับสนุนพรรคที่มีเสียงข้างมากในการเลือกตั้ง เมื่อวันที่ 14 พ.ค. แต่รัฐสภาทำหน้าที่เลือกนายกรัฐมนตรี และมี ส.ว.มาเกี่ยวข้อง ซึ่งลำพัง ส.ส. ไม่ได้มีปัญหาเพราะ 312 เสียงถือว่าเกินครึ่งไปเยอะแล้ว แต่การเลือกนายกรัฐมนตรีกำหนดด้วยตัวเลข 376 เสียง
ส่วนการเลื่อนลำดับ ส.ส.บัญชีรายชื่อหลัง ส.ส.อีก 2 คนจากพรรคก้าวไกลและพรรครวมไทยสร้างชาตินั้น นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวว่าจะต้องรอให้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ก่อนและจะเข้าสู่กระบวนการเลื่อนลำดับต่อไป
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
"วราวุธ" รอมติ ชทพ. โหวตนายกฯ ยินดี "วันนอร์" นั่งประธานสภา
ที่ประชุม ส.ส.เลือก "วันนอร์" นั่งประธานสภา "ปดิพัทธ์-พิเชษฐ์" รองประธานสภา