วันนี้ (5 ก.ค.2566) สำนักข่าวต่างประเทศ รายงานว่า ราฟาเอล กรอสซี หัวหน้าทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) ส่งมอบรายงานการทบทวนความปลอดภัยของแผนการปล่อยน้ำปนเปื้อนกัมมันตภาพรังสี จากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะ หลังใช้เวลาศึกษานาน 2 ปี ให้แก่ ฟูมิโอะ คิชิดะ นายกรัฐมนตรีของญี่ปุ่น
นายกฯ ญี่ปุ่น ยืนยันว่า ญี่ปุ่นจะไม่ยอมปล่อยน้ำปนเปื้อนที่จะส่งผลกระทบในแง่ร้ายต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ทั้งต่อญี่ปุ่นและต่อโลก
รายงานของ IAEA ระบุว่า แผนการปล่อยน้ำปนเปื้อนของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะ เป็นไปตามมาตรฐานสากลและจะส่งผลกระทบในทางรังสีต่อประชาชนและสิ่งแวดล้อมเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ซึ่งคาดว่าญี่ปุ่นจะเริ่มปล่อยน้ำปนเปื้อนลงสู่มหาสมุทรแปซิฟิกในช่วงฤดูร้อนที่จะถึงนี้
โรงไฟฟ้านิวเคลียร์แห่งนี้ผลิตน้ำปนเปื้อนวันละ 100 ลูกบาศก์เมตร เก็บไว้ในถังซึ่งมีความจุ 1,300,000 ลูกบาศก์เมตร ซึ่งสารกัมมันตรังสีส่วนใหญ่ถูกกรองออกไปแล้ว ยกเว้นทริเทียมและคาร์บอน 14 ซึ่งการแยกธาตุทั้ง 2 อย่างออกจากน้ำทำได้ยากมาก แต่ญี่ปุ่นยืนยันว่า เมื่อทยอยปล่อยน้ำปนเปื้อนลงสู่มหาสมุทรปะปนกับน้ำทะเลแล้ว ปริมาณของธาตุทั้ง 2 จะอยู่ในระดับที่ปลอดภัยตามมาตรฐาน ซึ่งการปล่อยน้ำปนเปื้อนทั้งหมดออกจากโรงไฟฟ้าจะใช้เวลานานหลายสิบปี
ขณะที่เอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศญี่ปุ่น แถลงเรียกร้องให้ญี่ปุ่นระงับแผนการดังกล่าวและเจรจากับประชาคมโลกอย่างระมัดระวัง โดยร่วมกันตรวจสอบทางวิทยาศาสตร์อย่างรอบคอบและใช้วิธีจัดการอย่างโปร่งใส ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากทุกฝ่าย
อ่านข่าวอื่นๆ
ย้อนประวัติ รู้จัก "มาร์กอส จูเนียร์"
Meta เปิดแอปฯน้องใหม่ "Threads" สู้ทวิตเตอร์ 6 ก.ค.นี้
ระทึก! ขับรถชน-ไล่แทงคนในเทลอาวีฟ "ฮามาส" อ้างอยู่เบื้องหลัง