เป็นความกดดันที่ต้องทำตามแผนให้มากที่สุด เป็นความกดดันที่เราต้องทำให้ได้ตามแผน แต่ไม่ได้กลัว
นายสัตวแพทย์ขจรพัฒน์ บุญประเสริฐ นายสัตวแพทย์ประจำศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย จ.ลำปาง 1 ใน 5 ทีมคนไทยที่อยู่กับ "พลายศักดิ์สุรินทร์" บนเที่ยวบิน IL-76 ยอมรับว่า กดดันในภารกิจครั้งนี้ เพราะถือเป็นภารกิจแรกในการขนย้ายช้างทางอากาศข้ามประเทศ
เที่ยวบิน IL-76 พา
แม้จะมีประสบการณ์เคลื่อนย้ายช้างด้วยรถยนต์มาหลายครั้ง แต่ด้วยพลายศักดิ์สุรินทร์เป็นช้างที่มีอายุถึง 30 ปี ประกอบกับการบาดเจ็บที่ขา และยังต้องยืนตลอดการเดินทางที่ใช้เวลาเกือบ 20 ชั่วโมง นับตั้งแต่การเตรียมตัวออกจากสวนสัตว์ Dehiwala จนมาถึงสนามบินในกรุงโคลัมโบ กระทั่งถึงศูนย์กักและเฝ้าระวังโรคช้าง สถาบันคชบาลแห่งชาติ จ.ลำปาง
อ่านข่าว : สู่อ้อมกอดแผ่นดินแม่ "พลายศักดิ์สุรินทร์" ถึงไทยแล้ว
นายสัตวแพทย์ขจรพัฒน์ เล่าว่า พลายศักดิ์สุรินทร์ ค่อนข้างนิ่ง มีเพียงช่วงที่เครื่องบินจะ Take-Off ซึ่งเครื่องมีเสียงดังมากและจนกว่าเครื่องบินจะถึงระดับเพดานบิน เขาร้องเสียงดัง วิธีการทำให้พลายนิ่งๆ คือดูอาการ ซึ่งโชคดีที่พลายไม่มีอารมณ์หงุดหงิด
นายสัตวแพทย์ขจรพัฒน์ บุญประเสริฐ
วินาทีที่พลายศักดิ์สุรินทร์ก้าวขาขวาถอยหลังออกจากกรงที่เดินทางไกลมาก ดีใจมาก ภารกิจที่ได้รับมอบหมายลุล่วงแล้ว ทั้งช้างและคนปลอดภัย จากนี้จะส่งต่อภารกิจให้กับทีมที่ดูแลรักษา
นายสัตวแพทย์ขจรพัฒน์ กล่าวว่า ตอนที่อยู่บนเครื่องบิน ถ้าพลายศักดิ์สุรินทร์ตื่นจะให้อาหารที่เตรียมไว้ เพื่อให้กินคลายเครียดและคอยเช็กอาการเรื่อยๆ ส่วนควาญจะอยู่กับช้างตลอด ให้เขารู้ตลอดว่ามีคนอยู่ด้วย เพราะบนเครื่องบินก็มีทั้งเสียง พลายศักดิ์สุรินทร์อยู่ในกรงอาจไม่เห็นอะไร การส่งเสียงพูดคุยก็ทำให้ช้างอุ่นใจ
ขบวนขนย้าย
ความประทับใจกับ "พลายศักดิ์สุรินทร์"
นายสัตวแพทย์ขจรพัฒน์ กล่าวว่า ประทับใจตรงที่เป็นช้างที่ทำงานด้วยไม่ยาก เราประเมินหลายอย่าง วางแผนการทำงานกับพลายศักดิ์สุรินทร์ ถือเป็นช้างที่ไม่ตื่นกลัว ทำให้การทำงานราบรื่นเป็นไปตามแผนที่วางไว้
ดีใจและเชื่อว่าพลายศักดิ์สุรินทร์น่าจะปรับตัวได้กับเมืองไทย อีกอย่างก่อนเดินทางได้รับปากกับคนศรีลังกาว่าจะดูแลช้างเชือกนี้และจะดูแลอย่างดีต่อไป
อ่านข่าว : ชาวศรีลังการ่วมทำบุญส่ง "พลายศักดิ์สุรินทร์" กลับไทย
"พลายศักดิ์สุรินทร์" เดินออกจากกรงที่สถาบันคชบาลฯ ลำปาง
ยอมรับกดดัน-ดีใจภารกิจลุล่วง
นอกจากนี้ นายสัตวแพทย์ขจรพัฒน์ ยอมรับว่าในภารกิจครั้งนี้เป็นความกดดันที่ต้องทำตามแผนให้มากที่สุด เป็นความกดดันที่เราต้องทำให้ได้ตามแผน แต่ไม่ได้กลัว
ระหว่างการเดินทางทำตามวิชาชีพที่ได้เรียนมาและมีประสบการณ์การย้ายช้างบ้าน ซึ่งตนเองเดินทางไปเป็นทีมเสริมในช่วงหลังและโชคดีที่ไปทันช่วงการซ้อมขนย้าย จึงรู้ว่าจุดเสี่ยงมีตรงไหนบ้าง แล้วนำมาวิเคราะห์หารืออุดช่องโหว่ เพื่อให้ออกมาเป็นแพลนที่ดีที่สุดและสามารถปฏิบัติได้จริง โดยต้องมีแผนสำรอง A B C เพราะการปฏิบัติงานครั้งนี้มีเวลาจำกัด
สัตวแพทย์และควาญช้างช่วยกันดูแล
สำหรับจุดเสี่ยง คือ การนำช้างขึ้นรถ การเปลี่ยนรถ ที่สนามบินมีการเปลี่ยนรถ 2 คัน การยกกรงช้างขึ้น ช้างอาจจะตื่นตกใจระหว่างโหลดเข้าเครื่องบิน และหากเกิดเหตุการณ์สุ่มเสี่ยงจะแก้ไขอย่างไร แต่ทุกอย่างผ่านไปด้วยดี
ทีมพยายามอุดจุดเสี่ยงทั้งหมด ทุกขั้นตอนต้องเป๊ะเพื่อลดความเสี่ยงกับช้าง ตอนนี้เห็นพลายศักดิ์สุรินทร์ออกจากกรงอย่างปลอดภัยและจะใช้ชีวิตในบั้นปลายได้ ดีใจที่สุด
"พลายศักดิ์สุรินทร์" ใช้ชีวิตในพื้นที่ศูนย์วิจัยและเฝ้าระวังโรคช้าง สถาบันคชบาลฯ ลำปาง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ไทม์ไลน์ 1 ปีภารกิจพา “พลายศักดิ์สุรินทร์” กลับบ้าน
ใครบ้างบนเที่ยวบิน IL-76 พา "พลายศักดิ์สุรินทร์" กลับบ้าน
สำรวจจุดกักโรค-บ้านใหม่ศูนย์ช้างลำปางรับ "พลายศักดิ์สุรินทร์" ถึงไทย 2 ก.ค.