ไทยพีบีเอสออนไลน์ พูดคุยกับนายสัตวแพทย์สิทธิเดช มหาสาวังกุล ที่ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านสัตวแพทย์ องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (อ.อ.ป.) ในฐานะหัวหน้าคณะทำงานเคลื่อนย้ายพลายศักดิ์สุรินทร์ บอกถึงแผนการเดินทางในระหว่างเที่ยวบินศรีลังกา-ประเทศไทย ภายใน 5 ชั่วโมง บนเที่ยวบิน "IL-76" จะประกอบด้วย นักบิน 2 และลูกเรือ 9 คน ส่วนผู้โดยสาร 5 คน ประกอบด้วย ควาญช้างคนไทย 3 คน ควาญช้างชาวศรีลังกา 1 คน และสัตวแพทย์ 2 คน
ครั้งที่ 2 ประสบการณ์ขนช้างโดย IL-76 ภารกิจเคลื่อนย้ายพลายศักดิ์สุรินทร์ข้ามประเทศด้วย IL-76 ถือเป็นครั้งแรกของไทย และเป็นครั้งที่ 2 ของประสบการณ์ในการขนช้างข้ามประเทศ โดยช้างตัวแรกขนจากปากีสถานไปกัมพูชา ใช้เครื่องบินรุ่นเดียวกันในการขนส่ง
ห้องโดยสารเครื่องบิน เที่ยวบิน IL-76
นายสัตวแพทย์สิทธิเดช กล่าวว่า IL-76 เป็นเครื่องบินที่มีสมรรถนะขนส่งทางทหาร หรือที่รู้จักกันในชื่อรหัสนาโต ว่า "แคนดิด" ที่ใช้ขนกองกำลังทหาร อาวุธยุทโธปกรณ์ขนาดใหญ่ รวมถึงรถถังประจัญบาน แต่ภายในมีระบบความปลอดภัยและประสิทธิภาพดี เช่น มีการปรับอุณหภูมิและความดัน รวมถึงความดังของเสียงในระหว่างการเดินทาง ประสิทธิภาพเทียบเท่ากับเครื่องบินพาณิชย์ที่ใช้ขนส่งผู้โดยสาร จึงไม่น่ากังวลเรื่องความปลอดภัยของคนและช้างบนเที่ยวบินนี้
อ่านข่าว : ซ้อมจริง! 3 ชม.ย้าย "พลายศักดิ์สุรินทร์" ถึงสนามบินโคลัมโบ
ป้อนอาหาร-คลายเครียด ใช้เสียงปลอบ
ส่วนการดูแล "พลายศักดิ์สุรินทร์" บนเครื่องบินตลอด 5 ชั่วโมง นายสัตวแพทย์สิทธิเดช กล่าวว่า เนื่องจากไม่มีการวางยาซึมกับช้าง และใช้การควบคุมดูแลโดยคน จึงจะใช้ควาญทั้ง 4 คนคอยประกบกับช้างอย่างใกล้ชิด ส่งเสียงพูดคุยกับช้างและเติมอาหาร เช่น กล้วย อ้อย ผลไม้ หญ้า ซึ่งมีการเตรียมโหลดขึ้นบนเครื่องทั้งหมด 200-250 กิโลกรัม โดยควาญช้างจะคอยป้อนอาหาร ผลไม้ชนิดต่างๆ ไปเรื่อยๆ เพื่อให้ช้างคลายความเครียดและเพลิดเพลินกับการเดินทาง
ช้างเป็นสัตว์ที่กินตลอดเวลา การค่อยๆ เติมอาหาร ผลไม้ให้กับพลายศักดิ์สุรินทร์ เพื่อให้เขาเกิดความเพลิดพลินบนเครื่องบินทั้ง 5 ชั่วโมง จะเป็นการลดความเครียดไปได้ระดับหนึ่ง
กรงใส่พลายศักดิ์สุรินทร์
ส่วนความปลอดภัยของกรงที่ใส่พลายศักดิ์สุรินทร์ มีการออกแบบที่ค่อนข้างแข็งแรง ทั้งความหนาของเหล็ก และการล็อกภายในกรงแบ่งออกเป็น 3 ระดับจนถึงตัวประตูกรง ซึ่งพลายศักดิ์สุรินทร์จะอยู่ในท่ายืน มีการล็อกตัวและตรึงโซ่ไว้ ระหว่างตัวช้างจะมีการทำฟองน้ำหุ้ม เพื่อกันกระแทกและกันความเสียหายของงาช้าง เรียกว่าทำทุกอย่างเพื่อให้พลายศักดิ์สุรินทร์มีความสบายมากที่สุดในการเดินทางครั้งนี้
นับถอยหลังอีกแค่ 2 วัน ภารกิจการย้ายช้างข้ามประเทศครั้งแรกในรอบ 20 ปี ซึ่งถือว่ามีความท้าทายและการรอให้ทุกอย่างราบรื่น โดยหัวหน้าทีมเคลื่อนย้ายช้าง ทิ้งท้ายว่า
ถึงวันนี้คงไม่ต้องกังวล พร้อมลุย เปรียบตัวเองเป็นนักมวยต้องพร้อมขึ้นชก ต้องฮึกเหิมและมั่นใจเกิน 100% ว่าทุกอย่างจะสำเร็จ
นายสัตวแพทย์สิทธิเดช มหาสาวังกุล หัวหน้าคณะทำงานเคลื่อนย้ายพลายศักดิ์สุรินทร์
ควาญช้าง 4 คนจาก อ.อ.ป. 3 - ศรีลังกา 1 คน
สำหรับทีมสัตวแพทย์ คือ นายสัตว์แพทย์สิทธิเดช ในฐานะหัวหน้าทีมเคลื่อนย้ายช้าง, นายสัตวแพทย์ขจรพัฒน์ บุญประเสริฐ นายสัตวแพทย์ประจำศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย ส่วนควาญ 4 คน ประกอบด้วย ควาญช้างจากสถาบันคชบาลแห่งชาติฯ อ.อ.ป. 3 คน และจากสวนสัตว์ Dehiwala 1 คน ช่วยปฏิบัติหน้าที่ในการร่วมเดินทางดูแลช้างบนเครื่องบินขนส่ง ดังนี้
- นายทรชัยสิทธิ์ ศิริ
- นายศุภชัย บุญเกิด
- นายไกรสร เครือจันทร์
- Mr.Don Upul Jayarathna Denelpitiyage หัวหน้าชุดควาญศรีลังกา
ทั้งนี้ ตามกำหนดการขั้นตอนการเคลื่อนย้าย "พลายศักดิ์สุรินทร์" จะเดินทางจากสวนสัตว์ Dehiwala มาที่สนามบินโคลัมโบ ในเวลา 21.00 น.ของวันที่ 1 ก.ค.นี้ พร้อมกับทีมสัตวแพทย์และควาญช้าง ออกเดินทางเวลา 07.30 น. ถึงสนามบินเชียงใหม่ เวลา 13.00 น. ซึ่งมีนายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทส.มารอรับ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ไทม์ไลน์ 1 ปีภารกิจพา “พลายศักดิ์สุรินทร์” กลับบ้าน
ชาวศรีลังการ่วมทำบุญส่ง "พลายศักดิ์สุรินทร์" กลับไทย
“พลายศักดิ์สุรินทร์” ภารกิจข้ามแดน “แห่พระเขี้ยวแก้ว”
ดรีมทีมดูแล “พลายศักดิ์สุรินทร์” บนเที่ยวบิน IL-76 ศรีลังกา-ไทย