ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

จากห้องแล็บสู่จานอาหาร สหรัฐฯ อนุมัติให้ขายเนื้อไก่จากการเพาะเลี้ยงเซลล์

Logo Thai PBS
จากห้องแล็บสู่จานอาหาร สหรัฐฯ อนุมัติให้ขายเนื้อไก่จากการเพาะเลี้ยงเซลล์
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
กระทรวงเกษตรของสหรัฐอเมริกาได้อนุมัติให้ขายเนื้อไก่ที่ผลิตจากเซลล์เพาะเลี้ยงในห้องแล็บสำหรับร้านอาหาร เพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้บริโภคทั่วไป ซึ่งเป็นนวัตกรรมทางอาหารที่ดีต่อสุขภาพและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

เนื้อไก่เพาะเลี้ยงจากห้องแล็บได้ถูกวางจำหน่ายครั้งแรกในสิงคโปร์ ตั้งแต่ช่วงปลายปี ค.ศ. 2020 ซึ่งได้รับความสนใจจากผู้บริโภคที่ต้องการทางเลือกที่หลากหลาย แม้ว่าจะยังไม่ได้มีการรับรองอย่างเป็นทางการก็ตาม ล่าสุดหน่วยงานด้านอาหารในสหรัฐอเมริกาได้อนุมัติให้มีการจำหน่ายเนื้อไก่จากเซลล์เพาะเลี้ยงสำหรับร้านอาหารเป็นครั้งแรก

กระทรวงเกษตรของสหรัฐอเมริกา (USDA) และองค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา (FDA) ประกาศรับรองเนื้อสัตว์จากการเพาะเลี้ยงเซลล์ว่ามีความปลอดภัยในการบริโภคโดยสมบูรณ์ ซึ่งได้รับอนุญาตตามเงื่อนไขของบทบัญญัติการตรวจสอบเนื้อสัตว์ (Federal Meat Inspection Act) ซึ่งหมายความว่าบริษัทผู้ผลิตเนื้อสัตว์จากห้องแล็บจะถูกควบคุมโดยระบบตรวจสอบความปลอดภัยของสินค้าและอาหารในประเทศสหรัฐอเมริกา (Food Safety and Inspection Services) ซึ่งขึ้นตรงกับกระทรวงเกษตร โดยปกติแล้วหน่วยงานนี้จะตรวจสอบมาตรฐานการผลิตภายในโรงฆ่าสัตว์ แต่ในกรณีนี้ผู้ตรวจสอบจะทำหน้าที่ตรวจสอบในห้องแล็บของบริษัทผู้ผลิตเนื้อ

เนื้อไก่สังเคราะห์ที่กำลังจะวางจำหน่ายถูกผลิตขึ้นภายใต้บริษัทเทคโนโลยีอาหาร โดยการใช้เซลล์จากไก่ที่มีชีวิตด้วยกระบวนการเก็บเซลล์ที่ปราศจากการฆ่าสัตว์ จากนั้นเซลล์จะถูกเพาะเลี้ยงในห้องแล็บจนสามารถแบ่งตัวและสร้างเนื้อเยื่อเพิ่มขึ้นได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะถูกเก็บไว้ที่อุณหภูมิที่เหมาะสมและให้สารอาหารเพื่อให้เจริญเติบโต ภายใน 4-6 สัปดาห์ เนื้อสัตว์จากห้องแล็บก็จะพร้อมสำหรับการบริโภค

การพัฒนาเทคโนโลยีเนื้อสัตว์เพาะเลี้ยงจากเซลล์ใช้พื้นที่ปศุสัตว์และใช้น้ำน้อยกว่ากระบวนการผลิตเนื้อสัตว์ตามธรรมชาติหลายเท่าตัว จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่รัฐบาลทั่วโลกจะให้ความสำคัญต่อเนื้อสัตว์ที่สามารถผลิตขึ้นในห้องแล็บ เพื่อเป็นทางเลือกที่ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค สนับสนุนเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อม และรับประกันความมั่นคงทางอาหารสำหรับคนรุ่นต่อไป

ที่มาข้อมูล: newatlas, apnews, freethink, delish
ที่มาภาพ: GOOD Meat
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech

ข่าวที่เกี่ยวข้อง