ชื่อ บริษัทไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์เท็น ประเทศไทย จำกัด ที่เป็นบริษัทร่วมลงทุนสร้างอาคารหลังใหม่ของ สตง.เริ่มเป็นที่สนใจมากขึ้น ซึ่ง ตม.ไปตรวจสอบข้อมูลต่างๆ ณ ที่ทำการบริษัท โดยล่าสุด ตัวแทนเข้าชี้แจง พบว่าจ้างบริษัทรายย่อยถึง 17 แห่ง แต่ยังไม่ระบุว่าเกี่ยวข้องกับอาคารที่ถล่มลงมาหรือไม่
ชุดสืบสวนกองบังคับการตรวจคนเข้าเมือง 1 เข้าตรวจสอบอาคารพาณิชย์ 8 คูหา ย่านทุ่งครุ กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นที่ตั้งของบริษัทไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์เท็น เอ็นจิเนียริ่ง ประเทศไทย จำกัด ตามข้อมูลจากเว็บไซต์ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า เพื่อสอบถามข้อมูลของพนักงาน และตรวจสอบเอกสารต่างๆ ทั้งเอกสารการ ว่าจ้างพนักงาน รวมถึงรายชื่อบริษัทรายย่อย ที่รับดำเนินงานเบื้องต้น พบว่าอาคารปิดทำการ ไม่มีพนักงานหรือบุคคลใดมาแสดงตัว
ซึ่งชายอ้างตัวกับเจ้าหน้าที่ว่า เป็นตัวแทนเจ้าของอาคารที่ปล่อยให้เช่าสถานที่ประกอบกิจการ นำเจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบภายในอาคาร แต่ไม่สามารถเข้าไปในสำนักงานเพื่อตรวจสอบเอกสารหลักฐานต่างๆ ตามเป้าหมายได้
ทีมข่าวสังเกตการณ์อยู่ภายนอก พบว่า ตัวอาคารมีลักษณะคล้ายโกดังจัดเก็บสินค้า มีกล้องวงจรปิดติดตั้งไว้จำนวนมาก ด้านข้างอาคารมีป้ายห้ามบุคคลภายนอกเข้า ส่วนด้านนอกอาคาร ยังมีป้ายชื่อของบริษัทอื่นๆ ติดตั้งอยู่
ระหว่างนั้น มีรถรับส่งพัสดุเอกชนเข้ามาส่งของ เจ้าหน้าที่ ตรวจสอบกล่องพัสดุ พบว่า แทบทุกกล่องส่งถึงผู้รับเป็นที่เป็นชาวต่างชาติ โดยระบุเพียงที่อยู่ของอาคาร แต่ไม่ระบุว่าเป็นบริษัทใด

ขณะที่ตัวแทนเจ้าของอาคารอ้างว่าพนักงานทุกบริษัทในอาคารนี้ ย้ายออกไปได้ประมาณ 3 เดือนแล้ว เนื่องจากมีโครงการทำถนนภายในซอย ทำให้ไม่สะดวกต่อการทำงาน
ล่าสุด ข้อมูลจากชุดสืบสวน ตม.แจ้งว่า ตัวแทนบริษัททั้งหมดในอาคาร เข้าชี้แจงกับเจ้าหน้าที่ที่จุดเกิดเหตุอาคารถล่ม
สำหรับ บริษัท ไชน่า เรลเวย์ฯ พบว่า มีการว่าจ้างบริษัทรายย่อยถึง 17 แห่ง แต่ยังระบุไม่ได้ว่าเกี่ยวข้องกับโครงการสร้างอาคาร สตง.หลังใหม่หรือไม่
ข้อมูลจากเว็บไซต์กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ระบุว่า บริษัทไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์เท็น ประเทศไทย จำกัด เป็นบริษัทร่วมลงทุนกับบริษัทอิตาเลียนไทยดีเวล็อปเมนต์จำกัดมหาชน ในนามกิจการร่วมค้า ไอทีดี-ซีอาร์อีซี ทำโครงการก่อสร้างอาคารสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินแห่งใหม่ มูลค่า 2,136 ล้านบาท

บริษัท ไชน่า เรลเวย์ฯ จดทะเบียนจัดตั้งบริษัทปี 2561 ทุนจดทะเบียน 100 ล้านบาท ประกอบธุรกิจก่อสร้างอาคารที่ไม่ใช่ที่พักอาศัย มีรายชื่อกรรมการ 2 คน เป็นสัญชาติไทย 1 คน และสัญชาติจีนอีก 1 คน สัดส่วนผู้ลงทุนเป็นคนไทย 3 คน ถือหุ้นร้อยละ 51 ส่วนคนจีน 1 คน ถือหุ้นร้อยละ 49
เมื่อตรวจสอบงบการเงิน พบว่า ปี 2566 มีผลประกอบการขาดทุนกว่า 199 ล้านบาท เมื่อตรวจสอบข้อมูลโครงการก่อสร้างอาคารที่ทำการแห่งใหม่ ของ สตง.ผ่านเว็บไซต์ของสำนักงาน ปรากฏว่าเว็บล่ม ไม่สามารถเข้าถึงได้
เริ่มมีคำถามไปถึง สตง. ให้ชี้แจงข้อมูลบริษัทนี้ หลังจากเพจเฟซบุ๊ก รู้ทันจีน แปลบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ภาษาจีน ที่อ้างถึง โครงการก่อสร้างอาคาร สตง.ดำเนินงานโดย บริษัทจงเที่ยสือจวี่จี๋ตวน หรือ ซีอาร์อีซี เป็นหนึ่งในบริษัทในเครือของรัฐวิสาหกิจจีนขนาดใหญ่ ตั้งอยู่ใจกลางกรุงเทพมหานคร ทางทิศตะวันตกติดกับ สถานีรถไฟกรุงเทพ (หัวลำโพง) และทางทิศตะวันออกอยู่ติดกับ สวนสาธารณะแห่งชาติกรุงเทพ เป็นทำเลที่สะท้อนทั้งความสะดวกในการเดินทางและภาพลักษณ์ความมั่นคงของหน่วยงานรัฐ
ตัวโครงการประกอบด้วย 3 อาคารหลัก ได้แก่ อาคารสำนักงาน , อาคารประชุม และอาคาร จอดรถ รวมพื้นที่ก่อสร้างทั้งหมด 96,041 ตารางเมตร โดยเฉพาะอาคารสำนักงานหลักมีความสูงถึง 137 เมตร ซึ่งจัดอยู่ในหมวดหมู่อาคารสูงพิเศษตามมาตรฐานสากล และต้องอาศัยเทคโนโลยีการก่อสร้างขั้นสูงตลอดกระบวนการ
ในเว็บไซต์ภาษาจีน ปรากฏภาพเป็นกลุ่มคนถือป้ายภาษาจีนและไทยที่หน้าโครงการ ระบุข้อความ “พิธีฉลองสิ้นสุดงานโครงสร้าง”
ทั้งนี้ยังมีภาพการวางท่อสายไฟฟ้าและท่อประปาภายในตัวอาคารขณะก่อสร้าง มีเจ้าหน้าที่นั่งประชุมและตรวจสอบงาน
อ่านข่าว :
แจ้งความ 4 คนจีนลอบขนเอกสาร 32 แฟ้ม ออกจากตึก สตง.ถล่ม
"อนุทิน" คุยทูตจีนช่วยตึกถล่ม ตั้ง คกก.สอบหาสาเหตุขีดเส้น 7 วัน
"ทวิดา" เผยเร่งกู้ชีวิตที่เหลือ สแกนหาสัญญาณชีพ-ต้องระวังซากตึกทรุดตัว