วันนี้ (27 มิ.ย.2566) พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร. เปิดเผยถึง การดำเนินการปรับปรุงแก้ไขข้อมูลทะเบียนประวัติอาชญากร ว่า เป้าหมายเพื่อนำรายชื่อของประชาชนที่ถูกศาลยกฟ้อง หรือมีโทษปรับ หรือโทษเล็กน้อย ออกจากทะเบียนประวัติอาชญากร ซึ่งหลังปรับปรุงข้อมูลดังกล่าว ทำให้บุคคลที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนประวัติอาชญากรเหลือเพียง 3,708,359 ราย จากทั้งหมด 13,079,324 ราย ซึ่งจำนวนประชาชนที่ถูกลบรายชื่อออกจากทะเบียนประวัติอาชญากรไปแล้วกว่า 9 ล้านคน ส่วนที่เหลือคดียังไม่ถึงที่สุด
ปัจจุบันสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้แจ้งการคืนสิทธิ์ให้ประชาชนได้รับทราบไปแล้วกว่า 600,000 คน
หลังจากนี้ จะมีการจัดทำเว็บไซต์ เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าไปตรวจสอบทะเบียนประวัติอาชญากรของตัวเองได้ คาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการได้สิ้นเดือนนี้
พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล และ ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล
โดยระเบียบฉบับนี้มีการแก้ไขปรับปรุงการจัดเก็บประวัติบุคคลออกเป็น 3 ทะเบียน ได้แก่
- ทะเบียนประวัติผู้ต้องหา คือข้อมูลบุคคลที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดอาญา แต่ยังมิได้ถูกฟ้องต่อศาล หรือฟ้องต่อศาลแต่คดียังไม่ถึงที่สุด ห้ามเปิดเผย เว้นแต่ใช้เพื่องานสืบสวนสอบสวน งานสำนักพระราชวัง งานสมัครเข้ารับราชการ
- ทะเบียนประวัติผู้กระทำความผิดที่มิใช่อาชญากร คือ ข้อมูลบุคคลที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าได้ กระทำความผิด โดยศาลลงโทษ จำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือรอการลงโทษ หรือมีเพียงโทษปรับ หรือ กักขัง รวมถึงกระทำผิดโดยประมาท ห้ามเปิดเผยทั่วไปเว้นแต่ใช้เพื่อ งานสืบสวนสอบสวน งานขออนุญาตตามที่กฎหมายกำหนด
- ทะเบียนประวัติอาชญากร คือ ข้อมูลบุคคลที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าได้กระทำความผิด โดยศาล ลงโทษ จำคุกเกินกว่า 1 เดือนขึ้นไป โดยไม่รอการลงโทษ ยกเว้นการกระทำผิดโดยประมาท
รวมถึงกำหนดหลักเกณฑ์ในการลบหรือถอนประวัติอาชญากรของบุคคลที่ถูกบันทึกไว้ในประวัติอาชญากร ให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนอีกด้วย
ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล
ขณะที่ ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล ผู้อำนวยการศูนย์นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า การดำเนินการปรับปรุงแก้ไขข้อมูลทะเบียนประวัติอาชญากร ดำเนินการมาตั้งแต่ ปี 2564 ใช้เวลากว่า 18 เดือน จนล่าสุด สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้ประกาศใช้ ระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ว่าด้วยประมวล ระเบียบการตำรวจไม่เกี่ยวกับคดี ลักษณะที่ 32 การพิมพ์ลายนิ้วมือ พ.ศ. 2566 เมื่อวันที่ 27 เม.ย.2566 ปัจจุบัน ระเบียบฉบับนี้มีผลบังคับใช้แล้ว เมื่อวันที่ 27 พ.ย.2566
ทั้งนี้หน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนมีความต้องการบุคคลที่ปราศจากประวัติอาชญากรเข้าทำงานในองค์กร บริษัท จึงมีการกำหนดหลักเกณฑ์ในการตรวจสอบคุณสมบัติต่างๆ ซึ่งประชาชนต้องการแสดงผลการตรวจสอบประวัติอาชญากรรมประกอบในการสมัครงานด้วย
ประชาชนซึ่งเคยมีประวัติถูกฟ้องคดีอาญา แต่ศาลยกฟ้อง จะยังมีประวัติอาชญากรรมอยู่ในฐานข้อมูลของกองทะเบียนประวัติอาชญากร ทำให้อาจถูกตัดสิทธิ์ ไม่ได้รับการพิจารณาเข้าทำงาน ขาดโอกาสในการกลับมาใช้ชีวิตใหม่
พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล , ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล , ปิติกาญจน์ สิทธิเดช
อ่านข่าวอื่นๆ :