ปี 2565 ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเอเชียตะวันออก มีการตรวจยึดเมทแอมเฟตามีน 151 ตัน เคตามีนกว่า 27 ตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2564 ถึง 167 เปอร์เซ็นต์ ส่วนประเทศไทยในปี 2566 จำนวน ไอซ์ ยาบ้า และเคตามีน ที่จับกุมและตรวจยึดได้สูงกว่าปี 2565 ถึง 3 เท่าตัว
นายอภิกิต ฉ.โรจน์ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติดภาค5 ระบุว่า ปัญหายาเสพติดพื้นที่ชายแดนภาคเหนือ ยังคงรุนแรงต่อเนื่อง โดยเฉพาะช่องทางนำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้านสู่พื้นที่ตอนใน
การผลิตในพื้นที่สามเหลี่ยมทองคำมีปริมาณสูง เนื่องจากต้นทุนการผลิตต่ำ และความต้องการมาก ที่มีทั้งนำมาใช้ภายในประเทศและลักลอบลำเลียงไปยังประเทศที่สาม ขณะนี้มียาเสพติดจำนวนมาก ที่พักรอคำสั่งซื้อ บริเวณแนวชายแดนโดยเฉพาะยาบ้า
การบูรณาการเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร ปกครอง ปปส. ในการปราบปรามตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบัน (ปีงบประมาณ 2566)ในพื้นที่ภาคเหนือ ตรวจยึดยาบ้าได้มากกว่าร้อยล้านเม็ด และยึดทรัพย์ขบวนการค้ายาเสพติดมูลค่ามากกว่า 3 พันล้านบาท
นาย อภิกิต ฉ.โรจน์ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ภาค 5
พล.ต.สมจริง กอรี รองผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการปฏิบัติการแก้ไขปัญหายาเสพติดชายแดนภาคเหนือ
พล.ต.สมจริง กอรี รองผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการปฏิบัติการแก้ไขปัญหายาเสพติดชายแดนภาคเหนือ ระบุว่า สถานการณ์ยาเสพติดมีแนวโน้มสูงขึ้นกว่าที่ผ่านมา โดยเฉพาะยาบ้าและไอซ์ เนื่องจากรูปแบบการค้าที่ไม่เหมือนเดิม (5-10 ปีก่อน)
ก่อนหน้านี้ยาเสพติดเป็นเรื่องของความมั่นคงเฉพาะกลุ่ม คือเป็นเรื่องของความอยุ่รอดของชนกลุ่มน้อยตามแนวชายแดน แต่ปัจจุบันเป็นเรื่องของธุรกิจการค้าผิดกฎหมายยุคใหม่ ที่ใครใช้ระบบโชเชียลมีเดียได้ ก็ค้ายาได้ ซึ่งทำให้ยากในการดำเนินการสกัดกั้น
ส่วนปัญหาการสู้รบภายในประเทศเพื่อนบ้าน มีผลต่อการผลิตยาเสพติดอย่างมาก เนื่องจากมุ่งแต่การรบจนไม่มีกำลังทหารที่จะมาปราบปรามยาเสพติดได้ ทำให้ชนกลุ่มน้อยพื้นที่ชายแดนประเทศเพื่อนบ้าน มีอิสระในการผลิตและลำเลียงยาเสพติด จนมีปริมาณที่รอนำเข้าประเทศ
เมื่อก่อนจะมีการลักลอบนำเข้าจากแนวชายแดน 4 จังหวัดภาคเหนือเท่านั้น แต่ปัจจุบันมีการขยายพื้นที่นำเข้า เป็นตลอดแนวชายแดนทั้งประเทศ โดยเฉพาะทางภาคอีสาน จึงยากที่จะสกัดกั้น
นพ.อภินันท์ อร่ามรัตน์ ผู้อำนวยการศูนย์วิชาการสารเสพติดภาคเหนือ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ดังนั้นประเทศอาเซียน ต้องร่วมมือกันอย่างจริงจังในการป้องกันและปราบปรามสอดคล้องกับ นพ.อภินันท์ อร่ามรัตน์ ผู้อำนวยการศูนย์วิชาการสารเสพติดภาคเหนือ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ระบุว่า ยาเสพติดมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ สาเหตุจากปัญหาการสู้รบชายแดนประเทศเพื่อนบ้าน ส่งผลให้ชนกลุ่มน้อยต้องการใช้อาวุธจึงต้องผลิตยาเสพติดเพิ่มขึ้นเพื่อแลกกับอาวุธ
นอกจากนั้นสถานะสังคมเศรษฐกิจที่ถดถอย ทำให้คนหันมาใช้และค้ายาเสพติดมากขึ้น, มีช่องทางการขนส่งหลากหลาย, มีการโฆษณาชวนเชื่อทางออนไลน์กันอย่างต่อเนื่อง เข้าถึงได้ง่าย จึงเอื้อให้การมีซื้อขายได้ง่าย
ขณะที่การใช้สารเสพติดทั้งถูก และผิดกฎหมาย โดยเฉพาะ สุรา มีผู้ใช้มากกว่า 20 ล้านคน แต่เข้าสู่ระบบบำบัดเพียงไม่ถึงแสนคน หากสะสมไปเรื่อยๆ และมีการใช้ กัญชา และยาบ้า รวมเข้าไปด้วย ก็จะส่งผลต่อภาพรวมทางสังคมและเศรษฐกิจ ที่ผ่านมามีการใช้มาตรการทากฎหมายดำเนินการ แต่ได้ผลในระดับหนึ่งเท่านั้น ซึ่งการแก้ไขที่ได้ผลควร ให้คนในครอบครัวหันมาสนใจดูแลกันมากขึ้น
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
ภาคียาเสพติด ส่งของกลาง 32 ตันทำลาย รับ "วันต่อต้านยาเสพติดโลก"