มีการวิจัยเพื่อเพิ่มมูลค่าเเมลงเพื่อต่อยอดเป็นเชิงพาณิชย์มากขึ้น อาจารย์มหาวิทยาลัยนเรศวร จ.พิษณุโลก ทำงานวิจัยนวัตกรรมอาหารโปรตีนทางเลือกจากจิ้งหรีดและพืช เพื่อเตรียมการรับมือวิกฤตขาดแคลนอาหารที่เกิดจากสภาพความเปลี่ยนแปลงในอนาคต
งานวิจัยเพิ่มมูลค่าจิ้งหรีดสู่อาหารอนาคต
จิ้งหรีด แมลงทอด และอีกหลากหลายชนิด เป็นเมนูอาหารที่ยอดนิยม ถือเป็นเมนูโปรตีนทางเลือก ทำให้ปัจจุบันมีเกษตรกรให้ความสนใจเพาะเลี้ยงเพื่อจำหน่ายเพื่อเป็นอาหารทางเลือกที่ยังคงมีความต้องการจากตลาดอย่างต่อเนื่อง
ไอศกรีมจิ้งหรีดก็เป็นอีกหนึ่งเมนูอาหาร ที่มีส่วนผสมของจิ้งหรีดบด ซึ่งการสาธิตทำไอศกรีมจิ้งหรีดแสดงให้เห็นว่า เมนูอาหารคาวหวานต่างๆ สามารถเพิ่มสารอาหารโปรตีนจากจิ้งหรีดได้ และรสชาติอาหารก็แทบจะไม่เปลี่ยนไปเลย
ผลงานวิจัยนวัตกรรมการผลิตอาหารจากแมลง Insect-based functional ingredients สำหรับอุตสาหกรรมอาหาร และอาหารสัตว์แบบครบวงจร ด้วยระบบ Modern insect farming และ Zero-waste ของ รศ.ดร.ขนิษฐา รุตรัตนมงคล อาจารย์ภาควิชาอุตสาหกรรมเกษตร คณะเกษตรศาสตร์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวร และยังได้ร่วมกับนิสิตระดับปริญญาตรี ทำงานวิจัยโปรตีนทางเลือกจากพืช อาทิเช่น เนื้ออกไก่จากพืช หมูสับจากพืช ไส้กรอกจากพืช ไส้อั่วจากพืช เพิ่มทางเลือกให้เท่าทันวิกฤตความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
รศ.ดร.ขนิษฐา บอกอีกว่า การพัฒนาอาหารโปรตีนทางเลือกเหล่านี้ จะช่วยตอบโจทย์ความต้องการในอนาคตได้ และต้องการให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตอาหารโปรตีนทางเลือกของโลกได้ โดยการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีต่างๆ เข้ามาช่วยวิจัยและพัฒนา นำออกสู่ตลาดได้ง่ายขึ้น
ปัจจุบัน ราคาของโปรตีนทางเลือกจะสูงกว่าเนื้อสัตว์จริงประมาณร้อยละ 20-50 ในอนาคตเชื่อว่าราคาน่าจะเข้าใกล้เทียบเคียงกันได้ ถ้าหากมีความต้องการของตลาดสูงขึ้น
เที่ยวงานเกษตรนเรศวรเอ็กซ์โป 2023
สำหรับผู้สนใจและชื่นชอบ อาหารโปรตีนทางเลือก หรืออยากได้ความรู้งานวิจัยเรื่องต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเกษตร สามารถไปเพิ่มองค์ความรู้และชมนวัตกรรมใหม่ๆ ได้ที่งานเกษตรภาคเหนือตอนล่างครั้งที่ 18 เกษตรนเรศวรเอ็กซ์โป 2023 ระหว่างวันที่ 3-9 ก.ค.2566 ณ ศูนย์แสดงนิทรรศการและการจัดประชุมนานาชาติสมเด็จพระนเรศวรมหาราช มหาวิทยาลัยนเรศวร จ.พิษณุโลก เพื่อนำไปพัฒนาและต่อยอดด้านการเกษตร เพื่อลดต้นทุน เพิ่มพูนกำไร และใส่ใจสิ่งแวดล้อม ในอนาคต
ข้อมูลวิจัยของกองโภชนาการกรมอนามัย ระบุว่า คุณค่าทางโภชนาการของแมลงกินได้ในขนาดน้ำหนัก 100 กรัม จะมีปริมาณโปรตีนเทียบเท่าเนื้อหมู เนื้อไก่ ปลาทูนึ่ง และ ไข่ไก่ ในขนาดน้ำหนักเท่ากัน
ดังนั้น แมลงจึงสามารถนำมาใช้เป็นแหล่งอาหารได้ในพื้นที่ที่ขาดแคลนอาหารจำพวกโปรตีน ทั้งยังเป็นโปรตีนที่ปลอดภัย เพราะไม่ปนเปื้อนยาปฏิชีวนะและปลอดสารพิษต่างๆ และพื้นที่เลี้ยงน้อยกว่าการเลี้ยงปศุสัตว์ทั่วไป และยังปล่อยก๊าซมีเทนซึ่งเป็นสาเหตุทำให้เกิดภาวะโลกร้อนน้อยกว่าการเลี้ยงวัวถึง 80 เท่า
อ่านข่าวอื่นๆ :
พาณิชย์สั่งลุย! ตรวจเครื่องชั่งผลไม้ทั่วประเทศ ป้องกันโกงน้ำหนัก