เมื่อวันที่ 25 มิ.ย.2566 แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐอเมริกา กล่าวว่า สิ่งที่เกิดขึ้นในรัสเซียแสดงให้เห็นว่ามีรอยร้าวในรัสเซีย ถือเป็นความล้มเหลวทางยุทธศาสตร์ครั้งใหญ่ของวลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีของรัสเซีย ทั้งในแง่ของเศรษฐกิจ การทหารและจุดยืนทางภูมิรัฐศาสตร์
ทั้งนี้ ยังมีคำถามอีกมากที่ยังไม่มีคำตอบ รวมถึงคำถามที่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับสมาชิกของกองกำลังวากเนอร์ พวกเขาจะยังคงอยู่ในยูเครนหรือไม่ ทั้งนี้ยังมีอีกหลายเรื่องที่ต้องให้ความสนใจ เพื่อให้แน่ใจว่าชาวยูเครนจะได้รับในสิ่งที่พวกเขาจำเป็นต้องมี เพื่อให้ประสบความสำเร็จมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
สำหรับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในรัสเซียช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา เริ่มต้นจาก "เยฟเกนี พริโกซิน" ผู้นำวากเนอร์ นำกองกำลังบุกยึดศูนย์บัญชาการกองทัพรัสเซียในเมืองรอสตอฟ ออนดอน ทางตอนใต้ของรัสเซีย ซึ่งเป็นศูนย์กลางสำคัญในการลำเลียงกำลังพลรัสเซียทำศึกยูเครน
เยฟเกนี พริโกซิน ผู้นำกลุ่มวากเนอร์
พร้อมประกาศจะกรีฑาทัพบุกเข้ากรุงมอสโก หากเซอร์เกย์ ชอยกู รัฐมนตรีกลาโหม และวาเลรี เกราซิมอฟ เสนาธิการใหญ่ที่บัญชาการรบในสมรภูมิยูเครน ไม่ยอมเดินทางมาพูดคุยกับตนเอง นอกจากนี้ยังเรียกร้องให้มีการต่อต้านและโค่นผู้นำกองทัพรัสเซีย โดยยืนยันว่าไม่ใช่การรัฐประหาร แต่เป็นการเคลื่อนขบวนเพื่อความยุติธรรม เนื่องจากกลุ่มวากเนอร์ถูกกองกำลังของรัสเซียโจมตี
ส่งผลให้รัสเซียยกระดับรักษาความปลอดภัยในกรุงมอสโกขนานใหญ่ ทั้งระดมกำลังปิดล้อมรอบพระราชวังเครมลิน ทำเนียบประธานาธิบดี อาคารสำนักงานรัฐบาลต่างๆ และพื้นที่ยุทธศาสตร์ใจกลางเมืองหลวง
ขณะที่ ปูติน ประกาศว่าการก่อกบฎของวากเนอร์ถือเป็นการแทงข้างหลัง และผู้นำวากเนอร์ทรยศต่อรัสเซีย เนื่องจากความทะเยอทะยานส่วนตัว โดยปูตินประกาศจะปกป้องรัสเซียจากกบฎ และจะไม่ยอมให้เกิดสงครามกลางเมืองขึ้นในประเทศ แต่ในที่สุดกลุ่มวากเนอร์ยอมถอยทัพกลับฐานที่มั่นในยูเครน หลังจาก อเลกซานเดอร์ ลูคาเชนโก ประธานาธิบดีเบลารุส เป็นตัวกลางหารือระหว่างพรีโกซิน และปูติน
วลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย
กลุ่มวากเนอร์ต้องถอยกำลังกลับที่ตั้ง ส่วนพรีโกซินจะเดินทางไปยังเบลารุส แลกกับการรับประกันความปลอดภัย โดยทางการรัสเซียจะไม่ดำเนินคดีพริโกซินและกลุ่มทหารรับจ้างในข้อหาก่อกบฏ ซึ่งเหตุการณ์นี้นับเป็นความขัดแย้งภายในครั้งรุนแรงที่สุดที่รัสเซียต้องเผชิญ นับตั้งแต่เปิดฉากรุกรานยูเครนเมื่อเดือน ก.พ.2022
อ่านข่าว : ไทม์ไลน์ กบฏ Wagner ดีลลับ สงบศึก "ปูติน-Prigozhin"
แม้ความเสี่ยงที่จะเกิดเหตุนองเลือดในรัสเซียผ่านพ้นไปแล้ว แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นหลายอย่างอาจทำให้ปูตินไม่สบายใจ และต้องกลับมาทบทวนยุทธศาสตร์ใหม่ หนึ่งในนั้นอาจเป็นภาพบรรยากาศขณะที่กลุ่มวากเนอร์ถอนกำลังออกจากเมืองรอสตอฟ ออนดอน ซึ่งมีชาวรัสเซียตะโกนให้กำลังใจและให้การต้อนรับอย่างอบอุ่น รวมถึงขอจับมือพรีโกซิน ผู้นำกลุ่มวากเนอร์ แสดงให้เห็นถึงความนิยมชมชอบในตัวเขา ทั้งๆ ที่รู้ว่าขณะนี้พริโกซินไม่ลงรอยกับผู้นำรัสเซีย
ไบรอัน เทย์เลอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านรัสเซียจากมหาวิทยาลัยในนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ระบุว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นสะท้อนให้เห็นถึงความอ่อนแอของปูติน เพราะหากมองในมุมของชาวรัสเซีย การที่ปูตินปล่อยให้ทหารรับจ้างกรีฑาทัพเข้าสู่เมืองหลวง โดยไม่ถูกสกัด และเมื่อสถานการณ์เปลี่ยน ทหารรับจ้างก็สามารถถอยทัพกลับออกไปได้ โดยไม่ถูกลงโทษใดๆ ทั้งที่ปูตินกล่าวว่าสิ่งที่กลุ่มวากเนอร์ทำคือการก่อกบฏ แต่ปูตินกลับปล่อยให้ผู้นำกลุ่มวากเนอร์ลอยนวล
ขณะที่นักวิเคราะห์บางส่วน มองว่า รัสเซียกำลังเผชิญกับสถานการณ์ที่ไม่มั่นคงอย่างยิ่งและจะยิ่งสร้างความเสียหายอย่างมากต่อรัฐบาลของปูติน รวมไปถึงการทำสงครามยูเครน ซึ่งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ดูเหมือนว่ายูเครนน่าจะเป็นฝ่ายที่ได้ประโยชน์มากที่สุด
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ต้องจับตาหลังจากนี้คือท่าทีของพริโกซินและปูตินว่าทั้งคู่จะดำเนินการอย่างไร ปูตินจะปล่อยให้พริโกซินลอยนวล หรืออาจจัดการแก้แค้นแบบเงียบๆ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
"ปูติน" เตือน "วากเนอร์" บุกกลาโหมเจอตอบโต้กลับรุนแรง
"วากเนอร์" ยุติบุกกรุงมอสโก ผู้นำเบลารุสเป็นคนกลางเจรจา
จากพ่อค้าฮ็อทดอกสู่กบฏรัสเซีย "เยฟเกนี พริโกซิน" ผู้นำวากเนอร์