แต่จะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญอีกครั้งของพรรคประชาธิปัตย์ สำหรับการกอบกู้ฟื้นฟูพรรคใหม่ หลังเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม 2566 ได้ ส.ส.เข้าสภาเพียง 25 คน สร้างประวัติศาสตร์ต่ำที่สุด นับตั้งแต่ก่อตั้งพรรคและส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. แม้กระทั่งการเลือกตั้งปี 2500 ที่ได้ชื่อว่าโกงกันมากที่สุด ยังได้ส.ส.ถึง 31 คน
ย้อนกลับไปเลือกตั้งปี 2562 ได้ ส.ส.53 คน มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์กันมากว่า เป็นเพราะนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคขณะนั้น ประกาศไม่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกฯ สุดท้ายงานเข้า จนต้องประกาศลาออกจากตำแหน่ง
ก่อนที่ต่อมาพรรคประชาธฺปัตย์ภายใต้หัวหน้าพรรคคนใหม่ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ จะเข้าร่วมรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ได้คุม 2 กระทรวงหลักแบบเบ็ดเสร็จ ทั้งกระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงเกษตรฯ ไม่นับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ที่ต้องดูแลชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คน แต่ผลเลือกตั้งปี 2566 กลับพ่ายแพ้ยับเยิน
นำไปสู่เสียงเรียกร้องให้นายอภิสิทธิ์ กลับมาเป็นหัวหน้าพรรคใหม่อีกรอบ โดยสมาชิกพรรคและเอฟซีนายอภิสิทธิ์ เห็นว่าในสถานการณ์แบบนี้ ไม่มีใครเหมาะสมเท่า “หนุ่มมาร์ก” อีกแล้ว รวมทั้งนายบัญญัติ บรรทัดฐาน และนายชวน หลีกภัย อดีตหัวหน้าพรรคทั้ง 2 คน
ก่อนหน้านี้ นายอภิสิทธิ์ ตอบคำถามสื่อระหว่างลงพื้นที่หาเสียงให้ผู้สมัคร ส.ส.กรุงเทพฯ ของพรรคว่า "จะกลับมาเมื่อไหร่ขึ้นอยู่กับสมาชิกพรรค หากเห็นว่าสมควรกลับมา และสังคมให้โอกาส ให้กลับไปทำงาน"
คนใกล้ชิดนายอภิสิทธิ์เชื่อว่า หากนายอภิสิทธิ์กลับมาเป็นหัวหน้าพรรคใหม่ คาดว่าน่าจะเลือกทำหน้าที่ฝ่ายค้านคอยตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลอย่างเข้มข้น มากกว่าอยากจะขอเข้าร่วมรัฐบาล
ซึ่งอาจเป็นแนวทางที่ตรงข้ามกับชุดรักษาการปัจจุบัน ที่เคยมีข่าวว่า 16 ส.ส.ภายใต้การนำของนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รักษาการเลขาธิการพรรค อยากเข้าร่วมหนุนรัฐบาลใหม่ที่มีพรรคก้าวไกลเป็นแกนนำ แต่ในเวลาต่อมา จะมีเสียงปฏิเสธจากแกนนำในพรรคเรื่องนี้
หนึ่งในจำนวนนั้น คือนายเดชอิศม์ ขาวทอง รักษาการรองหัวหน้าพรรค ดูแลพื้นที่ภาคใต้ แม้จะเพิ่งเป็น ส.ส.แค่ 2 สมัย แต่มีบารมีและแสดงศักยภาพนำพาพรรคประชาธิปัตย์ ปักธงในพื้นที่สำคัญในภาคใต้ได้
แม้จะคู่แข่งสำคัญ 4-5 พรรคใหญ่ต่างลงไปแย่งชิงที่นั่ง ส.ส.ในภาคใต้ ยกเว้นที่ จ.สุราษฎร์ธานี ถิ่นกำเนิดของนายบัญญัติ ครั้งนี้ พ่ายยกจังหวัด 7 เขต ทั้งที่เลือกตั้งปี 62 เอาชนะได้ยกจังหวัด
นายเดชอิศม์มีชื่อเป็นแคนดิเดตอีกคนในการชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคคนใหม่ โดยการสนับสนุนของกลุ่ม ส.ส.ภาคใต้ แม้เจ้าตัวจะถ่อมตน อ้างว่ามีคนเก่งกว่าตัวเขาอีกหลายคน แต่ยอมรับว่า หากพรรคต้องการเปลี่ยนแปลง คนที่จะเป็นผู้นำพรรคต้องเป็นคนรุ่นใหม่ มีความคิดใหม่ๆ เพราะการเมืองปัจจุบันเปลี่ยนไปมาก ต้องปรับกันแบบ 360 องศา
หากเป็นไปตามนี้ แคนดิเดตหลัก 2 คน นายอภิสิทธิ์กับนายเดชอิศม์ จะต้องไปลุ้นผลของโหวตเตอร์ หรือผู้มีสิทธิลงคะแนนคัดเลือก ที่ล่ามี 374 คน จากกรรมการบริหารชุดรักษาการ สมาชิกพรรคที่เป็นอดีตหัวหน้าพรรค
อดีตเลขาธิการพรรค ส.ส.ชุดปัจจุบัน 25 คน สมาชิกพรรคที่เป็น รมต.และอดีต รมต. อดีต ส.ส.ที่ยังเป็นสมาชิกพรรค และอื่น ๆ อาทิ ตัวแทนผู้บริหารท้องถิ่นและสมาชิกสภาท้องถิ่นที่ลงเลือกตั้งในนามพรรค ตัวแทนพรรคประจำจังหวัด และสาขาพรรค
แต่กระนั้น ก็เป็นไปได้ที่จะอาจประสานให้ลงตัวได้ โดยอาจให้นายเดชอิศม์ เป็นเลขาธิการพรรคแทน แต่คนเสนอชื่อเลขาธิการ จะเป็นหัวหน้าพรรค จึงอาจต้องลุ้นกันอีกที
เพราะตำแหน่งหัวหน้าพรรคและเลขาธิการพรรค ปชป.มักจะไม่เลือกคนจากภาคใดภาคหนึ่งให้เป็นพร้อมกัน เพื่อกระจายความสมดุลออกไปยังภาคอื่นๆ ด้วย ทำให้บางกระแสที่อ้างว่า นายเดชอิศม์จะเป็นหัวหน้าพรรค และพ่วงนายชัยชนะ เดชเดโช ส.ส.นครศรีธรรมราช เป็นเลขาธิการพรรค จึงมีความเป็นไปได้น้อยมาก
แต่ปัญหาสำคัญในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อนี้ของประชาธิปัตย์ จะอยู่ที่นโยบายและแนวทางของหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารชุดใหม่ จะนำพาพรรคเดินหน้าต่ออย่างไร ในบริบทปัจจุบัน ที่กระแสคนรุ่นใหม่และพรรคการเมืองใหม่กำลังมาแรง
แม้ว่าในพรรคจะมีนักการเมืองหน้าใหม่ และคนรุ่นใหม่หลายคน ที่เข้ามาเสริมทีม เช่น ดร.เอ้ สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ หรือ “มาดามเดียร์” วทันยา บุนนาค แต่ต้องฝ่าด่านกฎระเบียบข้อบังคับเดิมของพรรค ที่ยังไม่ได้ปรับแก้
นอกจากนี้ ยังได้ชื่อว่าเป็นพรรคที่มีความเป็นอนุรักษ์นิยมสูง ยังยึดระบบอาวุโสอย่างเข้มข้น คนมาใหม่แม้จะมีฝีมือแค่ไหนก็ต้องรอคิว จึงเป็นอุปสรรคต่อการเปลี่ยนแปลงพรรคไม่น้อย
ในอดีตเคยได้ชื่อว่า เป็นพรรคการเมืองที่มีจุดยืนต่อต้านเผด็จการ และต่อสู้กับการทำรัฐประหาร โดยคนในกองทัพมาตลอด ถือเป็นจุดแข็งของพรรค ก่อนที่เวลาต่อมาภาพจำดังกล่าวจะหายไป ถูกแทนที่ด้วยเป็นพรรคแกนนำตั้งรัฐบาลในค่ายทหารแบบส้มหล่นแทน
เช่นเดียวกับความทรงจำ ได้รับการยอมรับจากผู้คนว่า จะทำหน้าที่ได้ดีเมื่อเป็นฝ่ายค้าน ไม่ว่าจะเป็นสมัยนายบรรหาร ศิลปอาชา หรือแม้แต่สมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จากการอภิปรายไม่ไว้วางใจ นำไปสู่การตรวจสอบโครงการรับจำนำข้าว กระทั่งต้องหนีคดีไปอยู่ต่างประเทศ
แต่พอเป็นรัฐบาล คะแนนนิยมลดต่ำลงทุกที โจทย์นี้จึงสำคัญกว่าตัวบุคคล
วิเคราะห์ : ประจักษ์ มะวงศ์สา