ไม่มีใครรู้ว่าศิลปการแสดง "โขน" นาฏศิลป์ศิลป์ชั้นสูง ที่ สุรัตน์ชัย อมฤทธิ์ หรือ "ครูโจ้" ครูโรงเรียนดอนเมืองจาตุรจินดา ใช้ความพยายามในการฝึกสอนนักเรียนผู้สนใจการแสดงแขนงนี้จะเป็นกลอุบายหนึ่ง ที่ดึงรั้งไม่ให้นักเรียนเข้าไปเฉียดใกล้ยาเสพติด
ครูโรงเรียนดอนเมืองจาตุรจินดา
โรงเรียนแห่งนี้ ฝึกนักเรียนให้หัดเล่นโขนมาตั้งแต่ปี 2551 -2566 โดยเปิดสอนตั้งแต่ระดับชั้นมัธยมต้นถึงชั้นมัธยมปลาย เริ่มตั้งแต่ทักษะพื้นฐาน จนนำไปสู่การแสดงโขนมืออาชีพ ซึ่งอาจใช้เวลาฝึกฝนนานถึง 6 ปี จึงจะแสดงได้ถูกต้องตามแบบแผน
ครูโจ้ เล่าว่า กิจกรรมส่งเสริมศิลปะวัฒนะธรรมไทยต้านภัยยาเสพติด โดยเฉพาะการฝึกโขน มีเสียงตอบรับที่ดีจากผู้ปกครองและนักเรียน เพราะทำให้อาชีพติดตัว ไม่มีเวลาไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดและยังทำให้มีรายได้จากการออกงานแสดง
โรงเรียนดอนเมืองจาตุรจินดา
ครูโจ้ บอกว่า ในอดีตเคยเป็นครูฝึกสอนที่โรงเรียนแห่งนี้ และหลังจากเรียนจบจึงสอบบรรจุเป็นข้าราชการครูและกลับมาสานต่อการสอนโขนให้นักเรียนอีกหลาย ๆ รุ่น ไม่ต่างจากนักเรียนที่เรียนโขนจบไป 6 รุ่นแล้ว บางคนก็กลับมาเป็นครูฝึกสอน หลังจากต้นพบตัวเองว่า ชอบการแสดงโขน
โซเชียลภัยคุกคามในกลุ่มนักเรียน
แม้โรงเรียนดอนเมืองจาตุรจินดา หนึ่งในโรงเรียนที่ได้รับรางวัลในการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด เนื่องในวันต่อต้านยาเสพติดโลก วันที่ 26 มิ.ย.2566 แต่ปัจจุบัน เยาวชนได้กลายเป็นกลุ่มเป้าหมายของกลุ่มผู้ค้ายาเสพติดไปแล้ว หากมีสภาพแวดล้อมหรือชุมชนล้อมที่เอื้อ
เดวิด ด้วงจินดา ครูโรงเรียนดอนเมืองจาตุรจินดา
นายเดวิด ด้วงจินดา ครูชำนาญการ ผู้ช่วยผู้อำนวยการกลุ่มบริหารงานบุคล โรงเรียนดอนเมืองจาตุรจินดา เล่าว่า พื้นที่ชุมชนรอบโรงเรียนมีปัญหายาเสพติดค่อนข้างรุนแรง จึงต้องเฝ้าระวังและดูแลเด็กที่เข้ามาเรียนเป็นพิเศษ โดยใช้มาตรการเข้มข้นป้องกันและให้นักเรียนร่วมเป็นหูเป็นตาสอดส่องไม่ให้มียาเสพติดเข้ามาในรั้วโรงเรียน
คนในชุมชน ตำรวจ ป.ป.ส. ช่วยได้มาก เขาจะเข้ามาให้ความรู้เกี่ยวกับภัยของยาเสพติดอยู่เป็นประจำ และจัดกิจกรรมรณรงค์ต้านยาเสพติด ปัจจุบันปัญหาเรื่องสารเสพติดภายในโรงเรียนลดน้อยลงไป แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงและพบมากในช่วงนี้ คือ บุหรี่ไฟฟ้า
บุหรี่ไฟฟ้าแพร่ระบาดหนัก
ก่อนหน้านี้แม้จะพบว่ามีนักเรียนแอบใช้สารเสพติดประเภท กัญชา กระท่อม บุหรี่ม้วน และการใช้ยาผิดประเภทอยู่บ้าง แต่ปัจจุบันกลับพบนักเรียนหญิงในโรงเรียน มีการใช้บุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น เด็กจะเริ่มสูบบุหรี่ไฟฟ้าตั้งแต่ระดับมัธยมต้น โดยให้เหตุผล "อยากรู้ อยากลอง" และบุหรี่ไฟฟ้าไม่อันตราย และไม่เสพติด
นายเดวิด กล่าวว่า นักเรียนอาจเห็นว่าบุหรี่ไฟฟ้าไม่อันตราย มีรสชาติ และกลิ่นดึงดูดใจ เข้าถึงง่ายเพราะมีการขายทางออนไลน์และในตลาดนัด จึงทำให้ "เด็กผู้หญิง" สูบบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น และอาจไปสู่การใช้สิ่งเสพติดอื่น ๆ ได้
รอยต่อที่สำคัญ คือ ช่วงที่เด็กแยกจากบ้านไปสู่โรงเรียน จากประถมศึกษาไปชั้นมัธยมศึกษา เด็กเริ่มเติมโต เป็นวัยที่อยากรู้อยากลอง อยากได้การยอมรับจากคนรอบตัว ต้องเผชิญกับการแข่งขันทางการเรียน เพื่อนกลุ่มใหม่ ถูกคาดหวังสูง ทำให้เกิดปัญหานี้ได้
หันหลังให้บุหรี่ไฟฟ้าหันมาฝึกโขน
บอยและโบ้ เป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ทั้งคู่ ได้เข้าร่วมฝึกโขน หลังจากได้รับคำแนะนำจากครูโจ ก่อนหน้านี้บอยและเพื่อน เคยสั่งซื้อบุหรี่ไฟฟ้าจากออนไลน์มาทดสองสูบ ตั้งแต่ชั้นมัธยมต้น แต่เมื่อสูบต่อเนื่องไปนาน ๆ เริ่มเห็นความเปลี่ยนแปลงของสุขภาพตนเองว่า ไม่แข็งแรงเหมือนเดิม
ผมตัดสินใจเลิกสูบบุหรี่ไฟฟ้า แล้วหากิจกรรมอื่นทำ เช่น เล่นฟุตบอล ต่อมาตัดสินใจเรียนฝึกโขน จากการชักชวนของอาจารย์ ตอนนี้รู้สึกชอบมาก ใช้เวลาว่างมาเรียนโขนแทน แทนไปยุ่งเกี่ยวกับบุหรี่
โรงเรียนดอนเมืองจาตุรจินดา
ขณะที่โบ้ บอกว่า อยากให้ทุกคนเห็นความสำคัญของสุขภาพ ไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวสิ่งเสพติด ทั้งเหล้า บุหรี่ เพราะเป็นสิ่งที่ทำให้ร่างกายถดถอยเร็วขึ้น รวมทั้งให้นึกถึงตัวเอง คนรอบข้าง ไม่ต้องลังเล หากต้องปฏิเสธคำชักชวนของเพื่อน
ดูแลเยาวรุ่น "วัยว้าวุ่น" งานหินของครู
การดูแลเยาวชนใน 2 ช่วงวัย คือระดับชั้นมัธยมต้น ซึ่งกำลังจะเข้าสู่วัยรุ่น และนักเรียนมัธยมปลายที่เข้าสู่วัยรุ่ยเต็มตัว ด้านอารมณ์ ความรู้สึก นับเป็นเรื่องยากของครอบครัวและโรงเรียน โดยเฉพาะพ่อ แม่ และครูที่ต้องเตรียมความพร้อมรับมือ
นายเดวิด กล่าวว่า วิธีการรับมือเยาวชนใน 2 ช่วงวัย แตกต่างกันมาก นักเรียน ม.ต้น เน้นเรื่องของ "อารมณ์" เพราะยังควบคุมตัวเองไม่ได้ จึงต้องดูแลเรื่องการปรับอารมณ์ บางครั้งเด็กทะเลาะกับพ่อแม่ อาจประชดโดยไม่มีเหตุผล ไปยุ่งเกี่ยวบุหรี่ ยาเสพติด
โรงเรียนดอนเมืองจาตุรจินดา
ขณะที่นักเรียน ม.ปลาย เริ่มจะมี "เหตุผล" แต่บางครั้งอาจเข้าข้างตัวเองจึงต้องให้ทางเลือกกับเขา หากคิดแบบนี้ผลลัพท์จะเป็นแบบไหน ให้เด็กได้คิดหาทางออก โดยเลือกไอดอลของเขามาให้คำปรึกษาแนะนำ เพราะบางครั้งอาจไม่ฟังครู
วัยรุ่น ใกล้ชิดเพื่อนและกำลังค้นหาตัวเอง ต้องเปิดโอกาสให้เขาได้คุยและปรึกษาได้อย่างเต็มที่ ครูก็ต้องปรับรูปแบบการสอน หรือให้คำแนะนำ จากการต่อว่าเมื่อพบเด็กพกบุหรี่ไฟฟ้า อาจตั้งคำถามกลับไปยังเด็กว่า สูบแล้วดีอย่างไร
ส่วนการให้คำแนะนำระหว่างนักเรียนหญิงและชายก็ต้องแตกต่าง "เด็กผู้หญิง" ต้องการให้ครูดูแลเอาใจใส่ พูดด้วยถ้อยคำที่ดี อธิบายเหตุผลให้รู้สึกอุ่นใจ และพร้อมเปิดใจให้ครูได้ฟัง
ส่วน "เด็กผู้ชาย" อาจต้องใช้การพูดคุยที่เป็นกันเอง เขาจะเปิดใจพูดคุย ลงลึกรายละเอียด และให้ครูช่วยแก้ปัญหา
ฝึก "โขน" ป้องกันยาเสพติดในกลุ่มสี่ยง
เกือบ 10 ปี ที่โรงเรียนพยายามใช้ "โขน" ดึงเด็กกลุ่มเสี่ยงทะเลาะวิวาท หรือกลุ่มใช้บุหรี่ เข้าร่วมกิจกรรมส่งเสริมศิลปะวัฒนะธรรมไทยต้านภัยยาเสพติด ซึ่งได้รับเสียงตอบรับเป็นอย่างดีจากผู้ปกครอง
นายเดวิด กล่าวว่า ความเสี่ยงเกิดขึ้นได้ทุกรอยต่อของการเปลี่ยนแปลง จากเด็กเล็กไปจนถึงวัยหนุ่มสาว ดังนั้นการวางแผนป้องกันที่เหมาะสมกับวัย ก็จะช่วยทำให้เกิดการป้องกันที่เข้มแข็งได้
และหากสังเกตพฤติกรรมของนักเรียนแล้วพบว่าความผิดปกติ เช่น เบื่อการเรียน อ่อนเพลีย ครูจะจับตาดูและคอยให้ความช่วยเหลือเป็นพิเศษ โดยวิธีแก้ของโรงเรียน คือ เปิดห้องอุ่นใจและตั้งกองลูกเสือต้านยาเสพติดเฝ้าระวังไม่ให้ยาเสพติดเข้ามาในโรงเรียน
เราจะใช้โครงการห้องอุ่นใจ เป็นสถานที่ทำงานร่วมกัน ส่วนการจัดตั้งกองลูกเสือต้านภัยยาเสพติดนั้น เพื่อให้ลูกเสือเข้ามามีส่วนร่วมเป็นหูเป็นตา สอดส่องพฤติกรรมและเฝ้าระวังพื้นที่ภายในชุมชน
คณะโขนโรงเรียนดอนเมืองจาตุรจินดา นำการแสดงโขนเรื่องรามเกียรติ์ ชุดนางลอย
นายเดวิด กล่าวว่า นักเรียนที่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด มักขาดคนปรึกษา ไว้ใจเพื่อน ไม่กล้าเข้าหาครู หากโรงเรียนความเสี่ยงเหล่านี้ มีแกนนำช่วยให้คำปรึกษา เมื่อเด็กได้คุยกับคนที่ไว้ใจก็จะลดปัญหาลง แต่หากเกินกำลังจะถูกส่งต่อมายังครู ซึ่งที่ผ่านมาถือว่าประสบความสำเร็จ
โรงเรียนไม่เคยตัดนักเรียนออกจากระบบ มีครูที่ทำเรื่องจิตสังคมบำบัด ช่วยเหลือนักเรียนกลุ่มเสี่ยง หากรุนแรงเกินแก้ จะส่งต่อไป สถานบันธัญญารักษ์ ช่วยปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เพื่อให้กลับมาเรียนได้ปกติ
แม้โขนจะดูห่างไกลจากความนิยมของเด็กรุ่นใหม่ แต่ได้ถูกใช้เป็นกลไกในการดึงเยาวชนให้พ้นจากสิ่งเสพติด
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
26 มิถุนายน วันต่อต้านยาเสพติดโลก