ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ผ่านมา กรุงเทพมหานคร นำเทคโนโลยีระบบ AI มาใช้ติดตั้งบนทางเท้า เพื่อจับรถจักรยานยนต์ ที่ขับขี่บนทางเท้า ระหว่างวันที่ 12- 20 มิ.ย.2566
โดยติดตั้งไว้จำนวน 5 จุดนำร่อง ได้แก่ จุดที่ 1 ปากซอยรัชดาภิเษก 36 (ซอยเสือใหญ่อุทิศ) จุด 2 โรงเรียนนิเวศน์วารินทร์ จุด 3 ปากซอยเพชรเกษม 28 จุด 4 ปั๊มน้ำมัน ปตท. เทพารักษ์ และ จุด 5 ปากซอยเพชรบุรี 9
ซึ่งวันนี้ (21 มิ.ย.2566) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมผู้บริหาร กทม. เปิดเผยภาพรวม พบจำนวนรถจักรยานยนต์ที่ทำผิดมีกว่า 4,000 คัน ในจำนวนนี้ เป็นรถของประชาชนทั่วไปมากที่สุด 1,884 คัน

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร
ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร
โดยจุดที่พบการทำผิดมากที่สุด ทางผู้บริหาร กทม. ระบุว่า อยู่ที่ ทางเท้าปากซอยรัชดาภิเษก 36 หรือ ซอยเสือใหญ่อุทิศจำนวน 2,921 คัน จากจำนวน 5 จุดที่ กทม. นำกล้อง AI ไปติดตั้ง
นอกจากนี้ ยังพบ กลุ่มวินมอเตอร์ไซค์ ทำผิด 592 คัน กลุ่ม ไรเดอร์ 309 คัน และกลุ่มอื่นๆ ซึ่ง กทม. จะขยายเพิ่มอีก 100 จุด ในการติดตั้ง AI ให้ครอบคลุมภายใน 1-2 เดือนนี้ ทั่วกรุงเทพ

เทคโนโลยีระบบ AI มาใช้ติดตั้งบนทางเท้า
เทคโนโลยีระบบ AI มาใช้ติดตั้งบนทางเท้า
สำหรับจ่ายค่าปรับ การขับขี่จากการตรวจจับของกล้อง AI หลังจากเทศกิจรวบรวมข้อมูลแล้ว จะทำหนังสือส่งไปให้กับเจ้าของรถตามทะเบียนบ้าน ที่เชื่อมข้อมูลไว้กับกรมขนส่งทางบกเพื่อแจ้งให้จ่ายค่าปรับ ภายใน 15 วัน ในอัตรา 2,000 บาท ถ้ายังไม่มา ก็จะส่งหนังสือแจ้งเตือน ครั้งที่ 2 ส่วนเงินที่ได้จากการตรวจจับกล้อง AI นำรายได้เข้า กทม.
ผู้ว่าฯ กทม. ย้ำไม่อยากให้ทำผิดกฎ แต่จะดูสภาพโครงสร้างถนนด้วยว่า มาจากความผิดพลาดการออกแบบ หรือ อุปสรรคใด ที่ทำให้คนขับบนทางเท้า แต่อุปสรรคกีดขวางของถนน ไม่ใช่ข้ออ้าง ที่จะมาทำผิดกฎหมาย หรือ ขี่บนทางเท้า
"เรื่องนี้เป็นปัญหาที่ประชาชนร้องเรียนมาเยอะ และเป็นปัญหาที่ต่อเนื่องมานานคือเรื่องจักรยานยนต์ขับบนทางเท้า ที่ผ่านมาเราใช้วิธีนำเจ้าหน้าที่เทศกิจไปยืนจับ ซึ่งถือว่าเปลืองกำลังคน และมีอีกหลายภารกิจอยู่แล้ว รวมถึงการใช้เจ้าหน้าที่ทำให้เกิดความกระทบขัดแย้งกับผู้ที่โดนจับและอาจมีปัญหาเรื่องความโปร่งใสในบางครั้ง ทาง กทม. จึงใช้เทคโนโลยีที่เป็นกล้อง AI มาจับทะเบียนรถ ติดตั้งบนทางเท้าและตีเส้นกรอบในจุดที่เรากำหนดไว้เมื่อมีรถผ่านมาบนทางเท้าก็จะจับภาพที่ป้ายทะเบียนรถบันทึกไว้และสามารถนำข้อมูลนี้มาดำเนินการปรับผู้ที่ทำผิดซึ่งเราเชื่อมโยงข้อมูลกับกรมการขนส่งทางบกจึงจะรู้ว่ารถมอเตอร์ไซค์คันนี้เป็นของใครอยู่ที่ไหนซึ่งอัตราปรับ 2,000 บาทต่อรายซึ่งสูงกว่า พ.ร.บ.จราจร" ผู้ว่าฯ กทม. กล่าว