รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ได้บัญญัติการจ่ายเงินประจำตำแหน่งและประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นของสมาชิกรัฐสภา ดังนี้
- เงินประจำตำแหน่งและประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นของประธานและรองประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานและรองประธานวุฒิสภา ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา ให้กำหนดโดยพระราชกฤษฎีซึ่งต้องกำหนดให้จ่ายได้ไม่ก่อนวันเข้ารับหน้าที่ (มาตรา 196)
- ก่อนเข้ารับหน้าที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาต้องปฏิญาณตนในที่ประชุมแห่งสภาที่ตนเป็นสมาชิก (มาตรา 123)
ต่อมาในปี 2555 ได้มีพระราชกฤษฎีกาเงินประจำตำแหน่งและประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นของ ปธ.สภาฯ และ รอง ปธ.สภาฯ ปธ.วุฒิสภา และ รอง ปธ.วุฒิสภา ผู้นำฝ่ายค้านในสภาฯ ส.ส. ส.ว. และกรรมาธิการ พ.ศ. 2555 กำหนดให้ปธ.สภาฯ และ รอง ปธ.สภาฯ ปธ.วุฒิสภา และ รอง ปธ.วุฒิสภา ผู้นำฝ่ายค้านในสภาฯ ส.ส. ส.ว. ได้รับเงินประจำตำแหน่งและเงินเพิ่มเป็นรายเดือนนับแต่วันเข้ารับหน้าที่ ดังนี้
อ่าน : เปิดรายรับ-ค่าใช้จ่าย ส.ว. 1 คนใช้เงินเท่าไร?
กางรายรับ ส.ส.
ประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้รับเงินประจำตำแหน่งเดือนละ 75,590 บาท และได้รับเงินเพิ่มอีกเดือนละ 50,000 บาท รวมเป็นเดือนละ 125,590 บาท
รองประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้รับเงินประจำตำแหน่งเดือนละ 73,250 บาท และได้รับเงินเพิ่มอีกเดือนละ 42,500 บาท รวมเป็นเดือนละ 115,740 บาท
ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ได้รับเงินประจำตำแหน่งเดือนละ 73,240 บาท และได้รับเงินเพิ่มอีกเดือนละ 42,500 บาท รวมเป็นเดือนละ 115,740 บาท
สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ได้รับเงินประจำตำแหน่งเดือนละ 71,230 บาท และได้รับเงินเพิ่มอีกเดือนละ 42,330 บาท รวมเป็นเดือนละ 113,560 บาท
เมื่อ ส.ส. ต้องรับตำแหน่งทางการเมือง
ตำแหน่งข้าราชการการเมืองที่สำคัญ
- นายกรัฐมนตรี รายรับรวมเดือนละ 125,590 บาท
- รองนายกรัฐมนตรี รายรับรวมเดือนละ 119,920 บาท
- รัฐมนตรีว่าการกระทรวง หรือ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ รายรับรวมเดือนละ 115,740 บาท
- รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวง รายรับรวมเดือนละ 113,560 บาท
หมายเหตุ : ส.ส. ซึ่งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีด้วย เมื่อได้รับเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่งในฐานะรัฐมนตรีแล้ว ไม่มีสิทธิได้รับเงินประจำตำแหน่งและเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่ง ส.ส. อีก
คณะทำงานทางการเมือง
คณะทำงานทางการเมืองจะประกอบด้วย ที่ปรึกษา นักวิชาการ และเลขานุการ เพื่อทำหน้าที่ตามความประสงค์ของปธ.สภาฯ, รอง ปธ.สภาฯ และผู้นำฝ่ายค้าน แล้วแต่กรณี โดยที่แต่ละตำแหน่งจะมีจำนวนบุคคลในคณะทำงานทางการเมืองแตกต่างกันออกไป ดังนี้
- ปธ.สภาฯ มีคณะทำงานทางการเมือง จำนวน 10 คน ประกอบด้วย
- ที่ปรึกษา 4 คน ได้ค่าตอบแทนเดือนละ 16,000 บาท
- นักวิชาการ 3 คน ได้ค่าตอบแทนเดือนละ 12,800 บาท
- เลขานุการ 3 คน ได้ค่าตอบแทนเดือนละ 9,600 บาท
- รอง ปธ.สภาฯ 1 คน มีคณะทำงานทางการเมือง จำนวน 7 คน ประกอบด้วย
- ที่ปรึกษา 3 คน ได้ค่าตอบแทนเดือนละ 16,000 บาท
- นักวิชาการ 2 คน ได้ค่าตอบแทนเดือนละ 12,800 บาท
- เลขานุการ 2 คน ได้ค่าตอบแทนเดือนละ 9,600 บาท
- ผู้นำฝ่ายค้าน มีคณะทำงานทางการเมือง จำนวน 10 คน ประกอบด้วย
- ที่ปรึกษา 4 คน ได้ค่าตอบแทนเดือนละ 16,000 บาท
- นักวิชาการ 4 คน ได้ค่าตอบแทนเดือนละ 12,800 บาท
- เลขานุการ 2 คน ได้ค่าตอบแทนเดือนละ 9,600 บาท
ค่าใช้จ่ายในการเดินทาง
ส.ส. ซึ่งมีถิ่นที่อยู่นอกจังหวัดอันเป็นที่ตั้งรัฐสภา จะได้รับค่าพาหนะในการเดินทางจากจังหวัดอันเป็นถิ่นที่อยู่ มายังจังหวัดอันเป็นที่ตั้งรัฐสภา เฉพาะการเดินทางครั้งแรกเพื่อมาเข้ารับหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ และเมื่อสมาชิกภาพของ ส.ส. สิ้นสุดลง ให้ ส.ส. ซึ่งมีถิ่นที่อยู่นอกจังหวัดอันเป็นที่ตั้งรัฐสภา ได้รับค่าพาหนะในการเดินทางจากจังหวัดอันเป็นที่ตั้งรัฐสภากลับไปยังจังหวัดอันเป็นถิ่นที่อยู่เดิม โดยให้ได้รับสิทธิในอัตราเดียวกับข้าราชการ ผู้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง ตำแหน่งหัวหน้าส่วนราชการ ระดับกระทรวง
จ่ายให้เมื่อเข้ารัฐสภาในวันแรกของการรับตำแหน่ง ส.ส.
และจ่ายให้อีกครั้ง เมื่อสิ้นสุดสภาพความเป็น ส.ส.
ซึ่งการเดินทางนั้นครอบคลุม รถไฟ รถยนต์ประจำทาง และเครื่องบิน โดยจะให้สำนักงานเลขาธิการสภาฯ จัดใบเบิกทางโดยสารตามจริงให้ และอนุญาตให้มีผู้ติดตามได้ 1 คน ในชั้นเดียวกัน
เงินสวัสดิการรักษาพยาบาลของ ส.ส.
พ.ร.ฎ.เงินประจำตำแหน่งและประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นของสมาชิกรัฐสภา พ.ศ.2550 กำหนดให้ ส.ส. ได้รับเงินสวัสดิการรักษาพยาบาลตามจำนวนที่จ่ายจริงและต้องไม่เกินอัตราที่กำหนด
ผู้ป่วยใน
- ค่าห้องและค่าอาหาร (ไม่เกิน 31 วัน/ครั้ง) 4,000 บาท/วัน
- ค่าห้อง ICU/CCU (สูงสุดไม่เกิน 7 วัน/ครั้ง) 10,000 บาท/วัน
- ค่ารักษาพยาบาลทั่วไป 100,000 บาท/ครั้ง
- ค่ารถพยาบาล 1,000 บาท/ครั้ง
- ค่าแพทย์ผ่าตัด 120,000 บาท/ครั้ง
- ค่าแพทย์เยี่ยมไข้ (ไม่เกิน 31 วัน/ครั้ง) 1,000 บาท/วัน
- ค่าปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะโรค 4,000 บาท/ครั้ง
- การรักษาทันตกรรม 5,000 บาท/ปี
- การคลอดบุตร
- คลอดธรรมชาติ 20,000 บาท
- คลอดโดยการผ่าตัด 40,000 บาท
ผู้ป่วยนอก
- ค่ารักษาพยาบาลทั่วไป 90,000 บาท/ปี
- อุบัติเหตุฉุกเฉิน 20,000 บาท/ครั้ง
การตรวจสุขภาพประจำปี 7,000 บาท/ปี
เบี้ยประชุมกรรมาธิการ และอนุกรรมาธิการ
- เบี้ยประชุมกรรมาธิการ ให้กรรมาธิการ ส.ส. ได้รับเบี้ยประชุมเป็นรายครั้งเฉพาะครั้งที่มาประชุม ในอัตราครั้งละ 1,500 บาท
กรรมาธิการดังกล่าวให้ได้รับเบี้ยประชุมเพียงครั้งเดียวใน 1 วัน เว้นแต่ในกรณีที่กรรมาธิการนั้น มีการประชุมในคณะกรรมาธิการคณะอื่นด้วยในวันเดียวกัน ให้ได้รับเบี้ยประชุมในวันนั้นไม่เกิน 2 ครั้ง - เบี้ยประชุมอนุกรรมาธิการ ให้อนุกรรมาธิการ ส.ส. ได้รับเบี้ยประชุมเป็นรายครั้งเฉพาะครั้งที่มาประชุม ในอัตราครั้งละ 800 บาท
อนุกรรมาธิการดังกล่าวให้ได้รับเบี้ยประชุมเพียงครั้งเดียวใน 1 วัน เว้นแต่ในกรณีที่อนุกรรมาธิการนั้น มีการประชุมในคณะอนุกรรมาธิการคณะอื่นด้วยในวันเดียวกัน ให้ได้รับเบี้ยประชุมในวันนั้นไม่เกิน 2 ครั้ง
ที่มา : สิทธิประโยชน์ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 2556