วันนี้ (18 มิ.ย.2566) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จนถึงขณะนี้ยังไร้ข้อสรุปว่า 2 พรรคการเมืองใหญ่ "ก้าวไกล" และ "เพื่อไทย" ใครจะเป็นผู้คว้าตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร แต่นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร แกนนำพรรคก้าวไกล เชื่อว่า จะไม่เป็นผลทำให้เกิดปัญหาทางการเมืองกับ 2 พรรคการเมืองนี้ แต่สุดท้ายตำแหน่งนี้จะเป็นของ "ก้าวไกล หรือ เพื่อไทย" ต้องรอความชัดเจนจากคณะทำงานของ 2 ฝ่าย ซึ่งมั่นใจว่าทุกอย่างจะเป็นผลรูปธรรม เพราะยึดกติกาบนพื้นฐานประโยชน์ของประชาชนและตามครรลองประชาธิปไตย
นายวิโรจน์ ระบุอีกว่า หาก กกต.รับรองผลการเลือกตั้ง ส.ส.ในสัปดาห์นี้ จะทำให้โรดแมปการจัดตั้งรัฐบาลของพรรคการเมือง 8 พรรคเร็วขึ้น โดยเฉพาะการเร่งจัดการกับปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน ที่ขณะนี้ขยายเป็นวงกว้างแล้ว และตามรายงานข่าว นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เรียกประชุมคณะกรรมการประสานงานเปลี่ยนผ่านรัฐบาล พรรคการเมือง 8 พรรค เพื่อติดตามความคืบหน้าการขับเคลื่อนตามข้อตกลง MOU ในวันที่ 20 มิ.ย.นี้ ที่พรรคไทยสร้างไทย
ส่วนการประชุมพรรคการเมือง 8 พรรค ในการร่วมกันจัดตั้งรัฐบาล 312 เสียง นัดประชุมกันในวันที่ 22 มิ.ย.ที่พรรคก้าวไกล เพื่อประเมินทิศทางการเมือง ไทม์ไลน์การเลือกตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร รวมถึงแนวทางการโหวตนายกฯ ซึ่งก่อนหน้านี้มีกำหนดนัดประชุมในช่วงบ่ายวันที่ 20 มิ.ย. เพราะต้องรอให้ กกต.ประกาศรับรอง ส.ส. ซึ่งตามรายงานข่าว นายอิทธิพร บุญประคอง ประธาน กกต. เตรียมประกาศให้ครบร้อยละ 95 ของเขตเลือกตั้งทั้งหมดในวันที่ 21 มิ.ย.นี้
ขณะที่นายภูมิธรรม เวชยชัย รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ระบุว่า ตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร จะต้องเป็นไปตามหลักการของพรรคเพื่อไทย คือรอผลการรับรอง ส.ส.จาก กกต.อย่างเป็นทางการก่อนหารือ ซึ่งพรรคที่ได้ ส.ส.เป็นอันดับที่ 1 จะต้องได้ตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร ส่วนพรรคที่ได้อันดับที่ 2 ควรจะได้ตำแหน่งรองประธานสภาผู้แทนราษฎรทั้ง 2 คน เพราะมีคะแนนห่างกันไม่มาก
รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ชี้ว่า หาก กกต.รับรองผลอย่างเป็นทางการแล้ว จะมีการหารือระหว่างพรรคเพื่อไทยกับพรรคก้าวไกลบนพื้นฐานในหลักการดังกล่าว จากนั้นจะแจ้งไปยังพรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลและแถลงต่อสาธารณชนให้รับทราบต่อไป ซึ่งเชื่อว่าน่าจะจบลงได้ด้วยดี ทั้งนี้ไม่อยากให้มองว่าพรรคเพื่อไทยถอย แต่ต้องรักษาหลักเกณฑ์เอาไว้ ซึ่งหากพรรคเพื่อไทยยังเป็นอันดับ 2 ก็ต้องยอมรับในหลักการนี้
อ่านข่าวอื่นๆ