ความคืบหน้าในการเตรียมย้ายพลายศักดิ์สุรินทร์ จากศรีลังกากลับไทยว่า หลังจากควาญช้าง 2 คนจากองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (อ.อ.ป.) 2 คน คือ นายทรชัยสิทธิ์ ศิริ และนายศุภชัย บุญเกิด เดินทางถึงศรีลังกา ตั้งแต่วันที่ 10 มิ.ย.ที่ผ่านมาแล้วเข้าไปพบกับพลายศักดิ์สุรินทร์ ในสวนสัตว์ Dehiwala
วันนี้ (16 มิ.ย.2566) นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) โพสต์เฟซบุ๊ก TOP Varawut-ท็อป วราวุธ ศิลปอาชา อัปเดต "พลายศักดิ์สุรินทร์" เกี่ยวกับโปรแกรมการเตรียมความพร้อมพลายศักดิ์สุรินทร์ก่อนเดินทางกลับไทย 2 ก.ค.นี้
ตั้งแต่วันที่ 10-15 มิ.ย.นี้ ขณะนี้ควาญช้าง 2 คน ได้สร้างความคุ้นเคยกับพลายศักดิ์สุรินทร์ได้แล้ว และสามารถให้อาหารช้าง เข้าใกล้ช้างพาช้างไปเดิน และอาบน้ำได้แล้ว
สำหรับขั้นตอนที่กังวลนั้นคือ การพาน้องเดินเข้ากรง โดยในช่วงที่ผ่านมาการฝึกน้องอยู่ในกรงเป็นไปด้วยความราบรื่น ช้างไม่รู้สึกตื่นกรง หรือเห็นกรงเป็นสิ่งแปลกปลอมซึ่งเป็นสัญญาณที่ดี โดยหลังจากนี้ควาญช้างจะทำการฝึกฝนต่อ
เตรียมจำลองส่งเสียงดัง-ยืนในกรง
ขั้นตอนที่ 2 คือฝึกให้ช้างเดินผ่านกรง โดยเปิดประตูกรงทั้ง 2 ด้าน เพื่อฝึกให้ช้างมีความเคยชิน
ขั้นตอนที่ 3 ฝึกช้างเข้าไปอยู่ในกรง กินอาหารได้ และเมื่อมีความคุ้นชินก็ค่อย ๆ ทำการปิดกรงทั้ง 2 ด้าน ให้ช้างเกิดความเคยชิน สามารถอยู่ในกรงได้
ขั้นตอนที่ 4 เพิ่มการล่ามโซ่ที่ขาช้าง ให้ยึดติดกับกรง ในขณะที่ช้างยืนอยู่ในกรง
ขั้นตอนที่ 5 จะเป็นขั้นตอนปรับสภาพสิ่งแวดล้อมรอบกรง ให้ใกล้เคียงกับบรรยากาศขณะอยู่เครื่องบิน เช่น สร้างเสียงดังเพื่อทดสอบว่าช้างสามารถทนกับเสียงได้หรือไม่ หรือเพื่อเกิดความเคยชินกับสภาพดังกล่าว
ทั้งนี้แต่ละขั้นตอนไม่สามารถกำหนดกรอบระยะเวลาได้ ขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่ช้างจะสามารถผ่านแต่ละขั้นตอนอย่างไร
อ่านข่าวเพิ่ม อยากกลับบ้าน! “พลายศักดิ์สุรินทร์” ไม่ตื่นเต้น ซ้อมเข้า-ออกกรง
ส่งควาญผู้ช่วยเสริมอีก 2 คน
นายวราวุธ ระบุอีกว่า นอกจากนี้ ในวันที่ 18 มิ.ย.นี้ ควาญช้างผู้ช่วยอีก 2 คน จากสถาบันคชบาลแห่งชาติ องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (อ.อ.ป.) จะเดินทางมาถึงประเทศศรีลังกา เพื่อร่วมช่วยการฝึกเตรียมช้าง
โดยในวันที่ 29 มิ.ย.-1 ก.ค.นี้ จะฝึกซ้อมซ้ำๆ ให้ช้างอยู่กรงเป็นระยะ ๆ ในขั้นตอนสุดท้าย สร้างความเคยชินการอยู่ในกรงให้มากที่สุด
ทั้งนี้ ในวันที่ 2 ก.ค.ช่วงเวลาประมาณ 02.00น. จะเริ่มเคลื่อนย้ายช้างจากสวนสัตว์ไปยังสนามบินโคลัมโบ ใช้เวลาเดินทางประมาณ 2-3 ชั่วโมง เพื่อเตรียมโหลดช้างเข้าเครื่องบิน โดยตามกำหนดการเครื่องบินออกเดินทางประมาณ 07.30 น. ตามเวลาท้องถิ่น และมาลงที่สนามบินเชียงใหม่ ใช้เวลาเดินทาง 5 ชั่วโมง
2 สัปดาห์ฝึกพลายศักดิ์สุรินทร์ฟังคำสั่ง
แหล่งข่าวจาก ทส.ระบุว่า จากการประเมินจากภาพ และการฝึกพลายศักดิ์สุรินทร์ ซึ่งพบกับควาญจาก อ.อ.ป.เกือบ 1 สัปดาห์ พบว่าช้างให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี และนิสัยของพลายศักดิ์สุรินทร์ เป็นช้างที่นิสัยดี ไม่ก้าวร้าวเป็นทุนเดิม แม้ว่าจะคุ้นชินกับภาษาเดิมที่ใช้คือภาษาศรีลังกา มานานกว่า 20 ปี แต่ตอนนี้ควาญจาก อ.อ.ป. อาจจะติดสำเนียงภาษาเหนือ เหมือนต้องเริ่มต้นใหม่แต่กลับพบว่าเขาให้ความร่วมมือดีมาก
ในช่วงระยะเวลา 2 สัปดาห์นี้ จะเริ่มเข้าโปรแกรมการฝึกพลายศักดิ์สุรินทร์ ตามขั้นตอนตามลำดับที่กำหนดไว้ ดูแล้วช้างให้ความร่วมมือดี ไม่ดื้อ
ส่วนการเดินทางบนเครื่องบิน ช้างจะอยู่ในกรงนานถึงเกือบ 6 ชั่วโมง และมีข้อกังวลเรื่องขาของช้างที่บาดเจ็บ จากการประเมินไม่น่าจะมีปัญหา เพราะปกติเขายืนในคอกเลี้ยงที่สวนสัตว์อยู่แล้ว และช้างชินกับการพาขึ้นรถบรรทุก และการเดินแห่ เมื่อเข้ากรงอยู่บนเครื่อง จะตรึงขายึดไว้ จะมีอาหารและควาญคอยดูแลใกล้ชิด คอยส่งเสียงพูดคุยปลอดประโลม ไม่ให้ช้างเครียด
แหล่งข่าวระบุว่า หลังจากเดินทางมาถึงไทย จะเข้ากระบวนการกักโรคตามขั้นตอนอย่างน้อย 14-28 วัน โดยเฝ้าระวัง 6 โรคคือแอนแทรกซ์ โรคปากเท้าเปื่อย วัณโรคช้าง โรคพิษสุนัขบ้า โรคพาราทูเบอร์คูโลซีส (Paratuberculosis) และโรคแท้งติดต่อ หรือ Brucella
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
ย้อนรอยปฏิบัติการบินข้ามประเทศ "คาวาน ช้างผู้โดดเดี่ยวที่สุดในโลก
ไม่เพียง "พลายศักดิ์สุรินทร์" แต่ยังมี "ช้างไทย" อีก 10 เชือกอยู่ต่างแดน?