แม้ขยับ แต่เหมือนไม่ขยับ ทั้งๆ ที่การเลือกตั้งผ่านพ้นไปแล้ว 1 เดือน ได้ว่าที่รัฐบาลใหม่จาก 8 พรรคร่วม 312 เสียง ภายใต้การนำของ "ก้าวไกล" ที่มี "พิธา ลิ้มเจริญรัตน์" จ่อนั่งเก้าอี้นายกฯ คนที่ 30 โดยมีการทำบันทึกข้อตกลง หรือ เอ็มโอยู ของพรรคร่วมรัฐบาล แต่หมอกควันการเมืองก็ยังอุตลุด
แม้ขยับ แต่ก็เหมือนไม่ขยับ หลังเลือกตั้งพ้นไปแค่ 2 สัปดาห์ ปมขัดแย้งชิงตำแหน่งประธานรัฐสภา ระหว่าง นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย และ "ก้าวไกล" ปะทุขึ้น ทำให้ "พิธา" ต้องออกมาโพสต์ข้อความลงในทวิตเตอร์ว่า แค่ความเห็นไม่ตรงกันของพรรคร่วมรัฐบาลที่เล็กมาก
และการพูดถึงตำแหน่งเก้าอี้ประธานรัฐสภา ก็เงียบหายไปราวกับไม่เคยมีเรื่องขัดแย้ง แม้จะมีการเสนอทางเลือกให้คนกลาง "วันมูหะมัด นอร์มะทา" หัวหน้าพรรคประชาชาติ ตีตราจองไว้ก่อนก็ตาม แต่ก็ยังไม่ได้ข้อสรุป
แม้ขยับ แต่ก็เหมือนไม่ขยับ สงครามน้ำลายที่สาดใส่กันจบลงเมื่อ นพ.ชลน่าน ประกาศชัดกับพิธา ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น เพื่อไทยและก้าวไกลจะอยู่ร่วมกันและเปลี่ยนดีลลับให้เป็นดีลรัก
แม้ขยับ แต่ก็เหมือนไม่ขยับ หลังจบดีลรักไม่นาน 8 พรรคร่วมรัฐบาลได้ตั้งคณะทำงานชุดเปลี่ยนผ่านถึง 12 คณะทำงาน เช่น คณะทำงานเกี่ยวกับค่าไฟฟ้า ค่าน้ำมันดีเซลและพลังงาน คณะทำงานเกี่ยวกับภัยแล้ง เอลนีโญ คณะทำงานเกี่ยวกับปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ฯลฯ
แม้ขยับ แต่ก็ยังเหมือนไม่ขยับ เพราะก่อนหน้านี้ "สมศักดิ์ เทพสุทิน" แกนนำพรรคเพื่อไทย ได้ถูกแต่งตั้งให้เป็นคณะทำงานทำหน้าที่ประสานกับวุฒิสมาชิก(สว.) เพื่อโหวตให้ "พิธา" นั่งนายกฯ เขาบอกว่า ความคืบหน้าในทางบวก แต่จะเดินได้เต็ม 100 คงต้องรอ
การขยับทางการเมืองของ 8 พรรคร่วม สอดคล้องกับการเคลื่อนไหวของ "พิธา" ที่พยายามเดินสายพบกลุ่มสภาอุตสาหกรรม องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ควบคู่กับการลงพื้นที่ขอบคุณประชาชนในจังหวัดต่างๆ เพื่อไม่ให้ตกจากกระแสการรับรู้ของแฟนคลับ และกลุ่มด้อมส้ม
การขยับ แต่ดูเหมือนไม่ขยับ เมื่อมติ กกต.ประกาศรับรองผลการเลือกตั้งจำนวน 330 ว่าที่ ส.ส.ที่ไม่มีเรื่องร้องเรียน หรือ 95% ของเขตเลือกตั้งทั้งหมด แต่ล่าสุดมีเอกสารหลุดว่า มีว่าที่ ส.ส.ที่มีเรื่องร้องเรียนอีก 71 เขต ต้องรอลุ้นว่าจะรอดหรือร่วง
ควันยังไม่จางหาย หมอกก็ลงหนัก เมื่อ "พิธา" ถูก "เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ" ผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ยื่นหนังสือต่อ กกต.ให้ตรวจสอบการถือครองหุ้นบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) จำนวน 42,000 หุ้น อาจเข้าข่ายมีคุณสมบัติต้องห้ามของสมัครเป็นผู้สมัคร ส.ส. และเป็นนายกรัฐมนตรีได้หรือไม่
ขณะที่ กกต.ก็เริ่มขยับตรวจสอบคำร้องดังกล่าว โดยมีการตั้งคณะกรรมการสืบสวนไต่สวน ซึ่งก่อนหน้านี้มีมติไม่รับ 3 คำร้องปมพิธาถือหุ้นไอทีวี มีคุณสมบัติต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ ด้วยคำร้องยื่นเกินระยะเวลาตามที่กฎหมายกำหนด
แต่มีมติรับเรื่องไว้พิจารณาตามมาตรา 151 เหตุ รู้อยู่แล้วว่าไม่มีสิทธิ์สมัครรับเลือกตั้ง แต่ยังฝืน
การขยับ แต่ก็เหมือนไม่ขยับ เมื่อปรากฏคลิปประชุมผู้ถือหุ้นไอทีวี ข้อมูลไม่ตรงกับเอกสารที่นายเรืองไกร นำมายื่นให้ กกต.ทำเอาทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต่างกระอักเลือดไปตามๆ กัน
เมื่อหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ของกลุ่มทุนพลังงานใหญ่ ภายใต้การนำของ "สารัชถ์ รัตนาวะดี" ผู้ถือหุ้นบริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) รวมทั้งหุ้นกลุ่มอื่นร่วงระนาว แดงทั้งกระดาน
การขยับ แต่ดูเหมือนไม่ขยับ เพราะนับจากประกาศผลการเลือกตั้ง 14 พ.ค. - 14 มิ.ย.ครบรอบหนึ่งเดือน หุ้นยังตก เศรษฐกิจถดถอย ไม่มีใครรู้ว่าใครจะเป็นผู้ปลดชนวนระเบิดเวลาให้ "พิธา" ท่ามกลางหมอกควันทางการเมืองที่กำลังคุกรุ่น