ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

วิเคราะห์ : ทีมกฎหมาย “ก้าวไกล” ขาตั้งสู้ รับมือขบวนการปลุกผีไอทีวี

การเมือง
14 มิ.ย. 66
16:13
641
Logo Thai PBS
วิเคราะห์ : ทีมกฎหมาย “ก้าวไกล” ขาตั้งสู้ รับมือขบวนการปลุกผีไอทีวี
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล พูดย้ำอีกครั้ง เรื่องมีขบวนการปลุกฟื้นไอทีวีให้กลับมาทำธุรกิจสื่อ เพื่อหวังสกัดกั้นตัวเขาไม่ให้ไปถึงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยบอกว่า รู้อยู่แล้ว เพราะมีคนส่งข้อมูลมาให้ และยังส่งมาเรื่อย ๆ เท่ากับนายพิธาและพรรคก้าวไกล มีทั้งกองเชียร์ธรรมชาติ หัวคะแนนธรรมชาติ และสปายธรรมชาติ

จึงเป็นหนึ่งในปัจจัยที่พรรคก้าวไกล ใช้เป็นกำแพงสำหรับยืนพิง รับมือสถานการณ์ต่าง ๆ ที่รุมเร้า เชื่อว่า ฐานมวลชนจะมีพลังที่สุด จึงได้เห็นการเดินสายลงพื้นที่ขอบคุณผู้คนที่เลือกพรรคก้าวไกลแต่ละครั้ง ยังมีมวลชนไปรอให้กำลังใจล้นหลาม

แม้แต่ในวันไปพบปะแลกเปลี่ยน กับตัวแทนผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ก็มีคนรุ่นใหม่ไปมอบดอกไม้ให้กำลังใจส่งเสียงกรี๊ดสนั่น ตะโกน “ส้มรักพ่อ” อื้ออึง ยังไม่นับการแสดงออกทางสื่อออนไลน์และโซเชียล

อีกปัจจัยหนึ่งที่ดูโดดเด่นมาก คือทีมกฎหมายของพรรค ที่เตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นหรือกำลังจะเกิดขึ้น ด้วยวิธีสร้างฉากทัศน์สมมุติขึ้น เพื่อจะได้รู้ว่า จะต้องรับมือเรื่องนั้น ๆอย่างไร

ตั้งแต่เรื่องโดนนักร้องเรียน ยื่นร้องหรือกล่าวหา กระทั่งฉากทัศน์ใหญ่ เรื่องปมถือหุ้นไอทีวี ที่เสมือนย้อนรอยที่เกิดขึ้นกับนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ กรณีถือหุ้นบริษัท วีลักมีเดีย ไปจนถึงเรื่องมาตรา 151 พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส. ประเด็นรู้อยู่แล้วว่า ขาดคุณสมบัติหรือมีคุณสมบัติต้องห้ามสมัคร ส.ส. ซึ่งเป็นคดีอาญาและมีบทลงโทษรุนแรง

และนายธนาธร ก็เคยโดนมาแล้ว แต่อัยการสูงสุดไม่สั่งฟ้องคดีอาญา แม้ศาลรัฐธรรมนูญ จะวินิจฉัยว่านายธนาธรขาดคุณสมบัติผู้สมัคร ส.ส.ตั้งแต่ต้น

คำพูดของทั้งนายพิธา และนายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล เรื่องขบวนการปลุกผีฟื้นคืนชีพไอทีวีให้ทำธุรกิจสื่อ จึงไม่เพียงเพิ่มน้ำหนักความน่าเชื่อถือเท่านั้น แต่ยังเป็นการฉายภาพให้เห็นกลยุทธ์ที่แยบยลซับซ้อน ของกลุ่มที่มีเป้าหมายหลัก ในทางการเมืองอย่างชัดเจนเท่านั้น

ยังนำไปสู่ข้อสงสัยต่าง ๆ ที่พุ่งไปยังที่ประชุมผู้ถือหุ้นไอทีวี เมื่อวันที่ 26 เม.ย.2566 หลังปรากฏคลิปภาพและเสียง ที่ไม่ตรงกับรายงานการประชุม เรื่องการทำธุรกิจสื่อหรือทีวีหรือไม่ของไอทีวี

ตั้งแต่ประธานที่ประชุม และกรรมการอีก 4 คน ที่มาจากบริษัท อินทัช โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของไอทีวี โดยที่กรรมการ 4 คน ที่เข้าร่วมประชุมและลงชื่อรับรอง หนึ่งในนั้นเป็นกรรมการผู้สอบทานและแก้ไข เหตุใดจึงมีการลงชื่อรับรองในบันทึก หากข้อเท็จจริงไม่ตรงกัน

สำนักข่าวบีบีซีไทย ระบุด้วยว่า 4 ใน 5 คนล้วนมีตำแหน่งบริหารใน บมจ. อินทัช โฮลดิ้งส์ฯ แต่ทั้ง 4 คน ไม่ได้ถือครองหุ้นไอทีวี มีเพียงคนที่ 5 ที่เป็นตัวแทนของผู้ถือหุ้นรายย่อย ถือหุ้นอยู่เพียง 0.0655%

ที่เป็นข้อน่าสงสัย คือ 4 คน เพิ่งเข้าไปเป็นกรรมการบริษัท ไอทีวี ในเดือนธ.ค.2564 ภายหลัง บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) ยักษ์ใหญ่ด้านพลังงานของไทย ได้เข้าถือหุ้นใหญ่อันดับหนึ่งของ บริษัท อินทัช โฮลดิ้งฯ เมื่อต้นเดือนส.ค.2564 จึงมีการเปลี่ยนตัวกรรมการไอทีวีเกิดขึ้น

จะด้วยเหตุข้อสงสัย หรือหวังให้เกิดความกระจ่างก็ตามที เมื่อวานนี้ (13 มิ.ย.2566) ทนายความชื่อดัง นายรัชพล ศิริสาคร เข้าแจ้งความกับตำรวจ สน.ทุ่งสองห้อง ให้ดำเนินคดีกับนายคิมห์ สิริทวีชัย ประธานในที่ประชุมผู้ถือหุ้นไอทีวี วันดังกล่าว กับนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ กรณีบันทึกการประชุมขัดแย้งกับคลิปวิดีโอ เข้าข่ายแจ้งความเท็จ ปลอมเอกสาร

เท่ากับว่า เรื่องนี้กำลังจะถูกขยายผล หาความเชื่อมโยง และที่มาที่ไปของปมขัดแย้ง ระหว่างคลิปภาพและเสียงในการประชุม กับบันทึกรายงานการประชุม ซึ่งจะนำไปถึงการหาพยานหลักฐานหรือข้อมูลวงใน เพื่อหักล้างสู้กันในชั้นศาล อันจะเป็นประโยชน์สำหรับประชาชนทั่วไป รวมถึงจะเป็นคำตอบสุดท้ายของคำถามสำคัญ ว่ามีความเชื่อมโยงและเกี่ยวข้องกับขบวนการปลุกผีไอทีวี อย่างที่ 2 แกรนนำพรรคก้าวไกลพูดถึงไว้หรือไม่

จึงเป็นเรื่องที่คอการเมืองพันธุ์แท้ทั้งหลาย รวมทั้งกองเชียร์และกองแช่งนายพิธา และพรรคก้าวไกล ใคร่อยากจะได้คำตอบ รวมถึงคนเรียนนิจิศาสตร์ หรือนักกฎหมาย ที่สามารถจะเรียนรู้และนำไปสู่ความเชี่ยวชาญด้านกฎหมายในหลายปมพร้อม ๆ กัน จากกรณีนายพิธาที่กำลังโดนสกัดในขณะนี้

วิเคราะห์ : ประจักษ์ มะวงศ์สา

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

16 ปี แห่งความหลัง ITV มีแต่ คดี-คดี-คดี

"8 พรรคร่วม รบ.- ปธ.สภาฯ- เสียง ส.ว.- วิวาทะปม MOU- นักร้อง- หุ้น ITV" เกิดอะไรใน 1 เดือนหลังเลือกตั้ง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง